‘เครือข่ายก่อการครู’ เปิดตัวโครงการ “ก่อการครูสู้เพื่อเด็ก” ผนึกพลังนักปฏิบัติการด้านการเรียนรู้ คัด 8 วิชาเด็ดชวน “ครู – ผู้สนใจ” เสริมสมรรถนะการสอนแก้ปัญหา Learning loss นำรายได้ช่วยเหลือนักเรียนเเละครูที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
วันนี้ (22 ส.ค. 2564) เครือข่ายก่อการครู โดยความร่วมมือของคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และภาคีเครือข่ายนักปฏิบัติการด้านการเรียนรู้ เปิดตัวโครงการ “ก่อการครูสู้เพื่อเด็ก : ส่งต่อการเรียนรู้เเละการดูเเลให้แก่กัน”
รศ.อนุชาติ พวงสำลี คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายว่า เครือข่ายก่อการครู เป็นการรวมตัวนักการศึกษาและนักปฏิบัติการด้านการเรียนรู้ ร่วมกันทำงานบนฐานความเชื่อว่า “ครู” คือ หัวใจสำคัญในการเปลี่ยนแปลงสังคมด้วยการศึกษา โดยตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ได้ทำงานกับครูทั้งในและนอกระบบจำนวนมาก ผ่านกระบวนการเรียนรู้ที่มีเป้าหมายสร้างการศึกษาที่มีความสุขและมีความหมาย
สถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ก่อการครูได้รับรู้เรื่องราวความทุกข์เเละหนักใจจากเหล่าเพื่อนครูในเครือข่ายเกี่ยวกับปัญหาการเรียนรู้รูปแบบต่าง ๆ ของนักเรียน ปัญหาความรู้ถดถอย หรือ Learning loss ปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษาทั้งแบบชั่วคราว และมีแนวโน้มหลุดจากระบบการศึกษาถาวร ซึ่งกำลังพยายามอย่างสุดความสามารถเพื่อรักษาเด็กเหล่านั้นไว้ ให้พวกเขาได้เรียนรู้เเละเติบโตอย่างที่ควรเป็น
จากเสียงสะท้อนของครู นำมาสู่การผนึกกำลังเเละร่วมมือกันของเหล่าวิทยากรและกระบวนกรมากความสามารถที่มีเป้าหมายร่วมกัน คือพานักเรียนกลับสู่ห้องเรียนอีกครั้ง ผ่านโครงการ “ก่อการครูสู้เพื่อเด็ก : ส่งต่อการเรียนรู้และการดูแลให้แก่กัน” เพื่อจัดระดมทุนเพื่อการศึกษา ผ่านการเปิดตลาดวิชาออนไลน์เสริมสมรรถนะการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับสภาพปัญหาด้านการศึกษาในขณะนี้แก่ครูและผู้สนใจ เพื่อนำรายได้ทั้งหมดโดยไม่หักค่าใช้จ่าย ระดมทุนช่วยเหลือนักเรียนเเละครูในเครือข่ายที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
“วันนี้การเล่าเรียนในระบบโรงเรียน หรือ Schooling ยังตอบโจทย์อยู่ไหมเป็นประเด็นที่อยากหาคำตอบร่วมกันในอนาคต แต่โครงการนี้เราจะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เร่งด่วนก่อน คือใช้วิชาความรู้ที่พวกเราพอมีนำมาเปิดสอนออนไลน์ 8 คอร์ส ให้ทุกคนที่สนใจเข้ามาเรียน เพื่อนำทุนไปช่วยเด็กที่กำลังประสบปัญหา”
อธิษฐาน์ คงทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผศ.สิทธิชัย วิชัยดิษฐ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ พฤหัส พหลกุลบุตร เลขาธิการมูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) เปิดรายละเอียดตลาดวิชาออนไลน์ในโครงการ “ก่อการครูสู้เพื่อเด็ก : ส่งต่อการเรียนรู้และการดูแลให้แก่กัน” ประกอบด้วย 8 วิชาการเรียนรู้ ที่เปิดฝึกปฏิบัติการกับวิทยากรและกระบวนกรมากความสามารถตลอดเดือน ก.ย.-ต.ค. นี้ ได้แก่
1.) วิชาดูแลใจในวิกฤต โดย ธนัญธร เปรมใจชื่น สถาบัน Seven Presents
วิชาที่จะทำให้เรามีคุณภาพในการฟื้นฟูเยียวยาจิตใจขั้นพื้นฐาน จากความเชื่อว่าก่อนที่เราจะมอบความรักความกรุณาให้ผู้อื่น เราต้องกลับมารักตัวเอง กลับมาหาสมดุลภายในให้มีแกนใจที่มั่นคง เปิดสอนวันที่ 18-19 ก.ย. 2564
2.) วิชาศิลปะภาวนา โดย ธนัญธร เปรมใจชื่น สถาบัน Seven Presents
การทำงานศิลปะที่จะพาการกระทำและหัวใจของเราให้กลับมาหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว ใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือตั้งหลักการทำงานกับตัวเอง ปลุกความงามและความหวังในหัวใจ ภาวนาเพื่อสร้างคุณภาพการสื่อสารทำความเข้าใจใหญ่ในจิตวิญญาณ เปิดสอนวันที่ 6-7 ต.ค. 2564
3.) วิชาตั้งแกนใหม่ให้ใจนิ่ง โดย นพ.พนม เกตุมาน อาจารย์ประจำภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และ พญ.วินัดดา ปิยะศิลป์ ราชณวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย
วิชาที่เหมาะกับครูและผู้ปกครอง เรียนรู้วิธีจัดการจิตใจของตนเองในการตั้งหลักปรับอารมณ์ ตั้งแกนใจให้สงบนิ่ง ตั้งหลักด้วยกิจกรรมปรับสมดุลชีวิต ปรับอารมณ์ความคิด ตั้งเป้าหมายและหาคุณค่าในตนเอง โดยใช้แนวทางจิตวิทยาเชิงบวกในการดูแลช่วยเหลือเด็ก เปิดสอนวันที่ 9-10 ต.ค. 2564
4.) วิชาทักษะการโค้ชขั้นพื้นฐาน โดยอธิษฐาน์ คงทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มณฑล สรไกรกิติกูล อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ไพลิน จิรชัยสกุล โค้ชวิชาชีพ ระดับ PCC,ICF และ ปวีณา แช่มช้อย อาจารย์ประจำคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วิชาที่จะได้เรียนรู้และฝึกฝนทักษะการโค้ชเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง เช่น การตั้งคำถามทรงพลังเพื่อดึงผู้เรียนมีส่วนร่วม และนำไปประยุกต์ใช้ได้จริงในการทำงานด้านการเสริมพลัง และพัฒนาศักยภาพให้แก่ตนเองและผู้อื่น เปิดสอนวันที่ 23-24 ต.ค. 2564
5.) วิชาห้องเรียนสร้างสรรค์ผ่านจอเชื่อมโลกจริง โดย ศุภวิชช์ สงวนคัมธรณ์ ผู้ก่อตั้งบริษัทแบล็คบ็อกซ์ทีมจำกัด, พฤหัส พหลกุลบุตร เลขาธิการมูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม), ผศ.สิทธิชัย วิชัยดิษฐ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วิชาที่จะได้แนวทางการออกแบบชั้นเรียนผ่านจอเชื่อมสู่โลกจริง เพื่อให้การเรียนรู้มีความหมายต่อผู้เรียน แม้จะเจอกันผ่านจอ-ทางไกล เปิดสอนวันที่ 25-26 ก.ย. 2564
6.) วิชาครูหัวใจใหม่ สื่อสารอย่างไรเข้าถึงใจศิษย์ โดย ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์ด้านเวชศาสตร์วัยรุ่น โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และเจ้าของเพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน, ภัทรภร เกิดจังหวัด มูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม)
วิชาที่นำไปสู่การเชื่อมโยงกับศิษย์ในฐานะครูผู้สอน และการสื่อสารเชิงบวกที่เชื่อมความสัมพันธ์ศิษย์-ครู สั่ง ชม ตำหนิอย่างไรให้เกิดการพัฒนาของสมองตามหลัก growth mindset เปิดสอนวันที่ 9 ต.ค. 2564
7.) วิชาครูนักเล่าเรื่อง โดย ผศ.สุกัญญา สมไพบูลย์ ผู้ช่วยคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ คอลิด มิดำ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กร คณะดนตรีและการแสดง มหาวิทยาลัยบูรพา
วิชาที่จะพัฒนาและดึงศักยภาพการเป็นนักเล่าเรื่องของทุกคน ผ่านทักษะและแบบฝึกหัดต่าง ๆ ในการพูด คุย เล่น ให้เป็นห้องเรียนมีชีวิตชีวา เปิดสอนวันที่ 16-17 ต.ค. 2564
8.) วิชาถอดรหัสมายาคติและวาทกรรมการศึกษา โดย ผศ.อดิศร จันทรสุข อาจารย์ประจำคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วิชาที่จะพาศึกษาความหมายของวาทกรรม และการนำแนวคิดวาทกรรมมาใช้ในการวิเคราะห์ประเด็นทางการศึกษาในสังคมไทย ทำความเข้าใจเกี่ยวกับอิทธิพลของวาทกรรมที่มีต่อวิธีคิด วิถีปฏิบัติ ไปจนถึงการกำหนดนโยบายของรัฐ และการจัดการในระบบการศึกษา ฝึกทดลองวิเคราะห์ถอดรหัสวาทกรรมในประเด็นทางการศึกษาต่าง ๆ เปิดสอนวันที่ 18-19 ก.ย. 2564
ทั้งนี้ ผู้สนใจ สามารถลงทะเบียนระดมทุน ตลาดวิชา “ก่อการครูสู้เพื่อเด็ก” ที่ https://bit.ly/3khx2e2 โดยมีค่าลงทะเบียนเรียน ดังนี้
1. NGO /อาสาสมัคร /ครูการศึกษาขั้นพื้นฐาน 999 บาท
2. คนทั่วไปราคาลดพิเศษเหลือ 1,999 บาท (จากราคาปกติ 3,500 บาท)
3. ผู้มีอุปการะคุณสามารถบริจาคเป็นค่าลงทะเบียนให้อาสาสมัครที่ขาดทุนทรัพย์
4. คนที่ลำบากมากจะขอทุนเรียนก็ส่งข้อความมาขอเฉพาะกิจ
รายได้ทั้งหมดโดยไม่หักค่าใช้จ่าย จะถูกนำไปช่วยเหลือนักเรียนเเละครูในเครือข่ายก่อการครู ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 สอบถามรายได้เอียดเพิ่มเติมได้ที่เพจเฟซบุ๊ก ก่อการครู