บุกสภาฯ ยื่นหนังสือจี้นายกฯ “จัดสรรเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า” เริ่มปีงบฯ 65 ตามสัญญารัฐบาล

‘เครือข่ายเด็กเท่ากัน’ นัดพบ ส.ส. ยื่นข้อเรียกร้องถึง “นายกรัฐมนตรี – หัวหน้าพรรคการเมือง” ทวงงบฯ 15,000 ล้านบาท “อุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า” ปีงบฯ 65 ตามมติ ‘กดยช.’ ด้าน ‘เกียรติ สิทธีอมร’ ชี้ พรรคร่วมรัฐบาล-พรรคร่วมฝ่ายค้าน เห็นพ้อง เสนอนายกฯ เจียดงบกลาง จัดสวัสดิการกลุ่มเด็ก

วันนี้ (19 ส.ค. 2564) ที่รัฐสภา คณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กสู่ถ้วนหน้า ในนามเครือข่ายเด็กเท่ากัน 336 องค์กรทั่วประเทศ นำโดย สุนี ไชยรส เข้าพบตัวแทน ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาล และพรรคร่วมฝ่ายค้าน เพื่อยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคการเมือง (พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ เพื่อไทย ก้าวไกล ประชาชาติ และพลังท้องถิ่นไทย) ทวงถามการสนับสนุนสวัสดิการ “เงินอุดหนุนเด็กอายุ 0-6 ปี แบบถ้วนหน้า” ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 2565 วาระ 2 และวาระ 3

สุนี กล่าวว่า จากการที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน ดำเนินโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดตั้งแต่ปี 2558 และขยายความคุ้มครองเด็กเล็กมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันจัดสรรเงินอุดหนุนให้เด็กแรกเกิดถึงอายุ 6 ปี คนละ 600 บาทต่อเดือน ในกลุ่มที่มีรายได้ครัวเรือนไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี ซึ่งปีงบประมาณ 2564 ได้สนับสนุนเด็กเล็กประมาณ 2 ล้านคน

สุนี ไชยรส คณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กสู่ถ้วนหน้า

สุนี กล่าวต่อไปว่า ในทางปฏิบัติรัฐสวัสดิการเพื่อการเจริญเติบโตทุนมนุษย์ ไม่ควรมีกระบวนการพิสูจน์ความจน เพราะยังมีการตกหล่นในการเข้าถึงเงินอุดหนุนอย่างน้อยร้อยละ 30 มาโดยตลอด ขณะที่สถานการณ์โควิด-19 ครอบครัวที่มีเด็กอายุ 0-6 ปี ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจสัดส่วนที่สูงกว่าครอบครัวที่ไม่มีเด็กเล็ก เช่น รายได้ลดลงร้อยละ 81 แต่มีรายจ่ายเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 50 เป็นหนี้นอกระบบเพิ่มขึ้น เด็กเล็กเข้าไม่ถึงบริการด้านสวัสดิการสังคมและสาธารณสุข ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กปิดส่งผลต่อการเกิดภาวะทุพโภชนาการ มีเด็กเล็กได้รับเชื้อโควิด-19 และเสียชีวิตเพิ่มขึ้น ตอกย้ำว่าเงินอุดหนุนเดือนละ 600 บาท ควรเป็นสวัสดิการสำหรับเด็กเล็กทุกคนซึ่งมีประมาณ 4.2 ล้านคนในขณะนี้ เพื่อเป็นตาข่ายทางสังคมป้องกันและเยียวยาในช่วงวิกฤต ที่ส่งผลต่อพัฒนาการอย่างเลี่ยงไม่ได้

ที่ผ่านมา มีการตอบรับข้อเสนอดังกล่าว โดยที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (กดยช.) ที่มี จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งได้สรุปถึง 2 ครั้ง ว่าเห็นชอบในหลักการและแนวทางการจัดสวัสดิการเงินอุดหนุนแบบถ้วนหน้า แก่เด็กแรกเกิดถึงอายุ 6 ปี เดือนละ 600 บาทต่อคน เริ่มในปีงบประมาณ 2565 แต่รัฐบาลกลับเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 2565 ไว้เพียง 16,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.5 ของงบประมาณทั้งหมด 3.1 ล้านล้านบาท ทำให้เด็กเล็กยังได้รับเงินอุดหนุนประมาณ 2 ล้านคนเท่าเดิม ซึ่งไม่สอดคล้องกับมติ กดยช. ที่เห็นชอบการจัดสวัสดิการเงินอุดหนุนถ้วนหน้าแก่เด็กเล็ก 4.2 ล้านคนทั่วประเทศ

ปัจจุบันยังขาดงบประมาณอีกประมาณ 15,000 ล้านบาท ในการดำเนินการตามนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า สำหรับเด็กอีก 2.2 ล้านคนที่เหลือ คณะทำงานฯ จึงเรียกร้องให้ ส.ส. ในฐานะผู้แทนประชาชน เสนอนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐบาล ดำเนินการจัดสรรงบประมาณที่ยังขาด เพื่อให้สามารถเริ่มจ่ายเงินอุดหนุนได้ในปีงบประมาณ 2565 รวมทั้งเร่งรัดฉีดวัคซีนสำหรับเด็กและผู้ดูแล การเข้าถึงการรักษาโควิด-19 ตลอดจนมาตรการสนับสนุนอาหารส่งเสริมโภชนาการให้เด็กเล็กทุกคนเข้าถึงบริการได้เต็มที่

ด้าน เกียรติ สิทธีอมร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวหลังรับจดหมายเปิดผนึก ว่าสนับสนุนการเคลื่อนสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กอายุ 0-6 ปี เดือนละ 600 บาทแบบถ้วนหน้า เพราะผ่านมติคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติมาแล้ว อีกทั้ง จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ในฐานะประธานก็เป็น ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ จึงมีความเป็นไปได้ในการดำเนินการ ดังนั้น เมื่อร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 2565 ไม่ได้เสนองบประมาณที่เพียงพอสำหรับอุดหนุนแบบถ้วนหน้า วิธีการเพิ่มงบฯ ที่ยังสามารถทำได้ คือนายกรัฐมนตรีตัดสินใจใช้งบกลาง ซึ่งทำได้ทันทีหลังร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 2565 ผ่านวาระ 3

Author

Alternative Text
AUTHOR

ศศิธร สุขบท

มนุษย์ช่างฝัน ชอบสร้างสรรค์ข่าวเชิงบวก มีพรรคพวกชื่อจินตนาการ แสนสุขกับงานขับเคลื่อนสังคม