“ดินแดง” จุดยุทธศาสตร์ม็อบใหม่ มองการเคลื่อนไหวยุคโรคระบาด ?

‘รศ.ยุทธพร’ วิเคราะห์ “สมรภูมิดินแดง” สะท้อนความเดือดร้อนจากโควิด-19 จากโลกถึงไทย ตัวเร่งทำให้เห็นความล้มเหลวการบริหารของรัฐบาลหลายมิติชัดเจนขึ้น

19 ส.ค. 2564 – รศ.ยุทธพร อิสรชัย นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช เปิดเผยกับ The Active กรณีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในปี 2563 ต่อเนื่อง 2564 ที่ทำให้เห็นรูปแบบการชุมนุมที่หลากหลาย ทั้งประเด็นความเดือดร้อนจากสถานการณ์โควิด-19 และความเคลื่อนไหวของกลุ่มที่ไม่มีขั้วการเมืองในบางพื้นที่ เช่น ม็อบดินแดง ที่ไม่เพียงเหตุผลเพราะใกล้บ้านพักของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นพื้นที่สัญลักษณ์ทางการเมืองเท่านั้น แต่ยังเป็นดินแดนแห่งความเหลื่อมล้ำในกรุงเทพมหานครที่น่าสนใจ ทั้งในแง่ของภูมิรัฐศาสตร์และสังคมวิทยาชุมชน  

รศ.ยุทธพร ให้ความเห็นว่า ความเดือดร้อนจากการระบาดโควิด-19 เป็นแก่นสำคัญของการชุมนุมทางการเมืองรอบนี้ ซึ่งไม่เคยมีการชุมนุมครั้งไหนในประวัติศาสตร์ ที่สามารถเปิดเปลือยความล้มเหลวของรัฐบาล ทั้งมิติการเมือง เศรษฐกิจ และความเหลื่อมล้ำในสังคมได้มากเท่ากับครั้งนี้มาก่อน

โดยมองว่า การเคลื่อนไหวทางการเมืองรอบนี้แตกต่างไปจากเดิม ที่เราเคยเห็นอุดมการณ์ทางการเมืองชัดเจนตามสีเสื้อ เช่น กลุ่มพันธมิตรฯ , นปช., กปปส. ฯลฯ แต่ครั้งนี้ดูเหมือนแนวร่วมทางอุดมการณ์จะมีทิศทางเดียวกัน ตั้งแต่การสนับสนุนแนวทางประชาธิปไตย ความเสมอภาค แม้กระทั่งระยะสั้นอย่างการขับไล่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่หากดูลึกลงไปในรายละเอียดจะพบว่า กลุ่มเยาวชนปลดแอก, ทะลุฟ้า, Car-mob, กลุ่มไทยไม่ทน ฯลฯ กลับไม่ได้มีอุดมการณ์เป็นเนื้อเดียวกัน สิ่งนี้ทำให้การควบคุมหรือสั่งการม็อบทำได้ยาก แต่ที่น่าสนใจ คือ กลุ่มเกิดใหม่อย่าง “ม็อบดินแดง” หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตถึงการมาอย่างอิสระ ไร้สังกัด รวมไปถึงการใช้ความรุนแรง

นักรัฐศาสตร์มองความน่าสนใจของจุดยุทธศาสตร์ม็อบใหม่ 2 ประเด็น ทั้งในเชิงสัญลักษณ์ทางการเมือง และสัญลักษณ์ในเชิงสังคมวิทยา

ดินแดง” ดินแดนสะท้อนความเหลื่อมล้ำ

ประเด็นแรก สัญลักษณ์เชิงการเมือง เพราะดินแดง เป็นเส้นทางไปสู่บ้านพักของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ถนนวิภาวดีรังสิต ซึ่งที่ผ่านมาก็มีหลายประเด็นทางการเมืองที่สร้างความคาใจให้กับคนกลุ่มหนึ่งมาโดยตลอด เช่น การหยิบยกกรณีบ้านพักที่ไม่ต้องจ่ายค่าน้ำ-ค่าไฟ และไม่ผิดระเบียบหรือกฎเกณฑ์การเข้าพัก

ประเด็นที่ 2 สัญลักษณ์เชิงสังคมวิทยา และภูมิรัฐศาสตร์ เพราะไม่ใช่แค่กลุ่มผู้ชุมนุมที่เรียกตัวเองว่ากลุ่มผู้ชมนุมอิสระเท่านั้น แต่พื้นที่ตรงนี้ยังประกอบด้วย ชุมชนแฟลตดินแดงที่ปรากฏภาพว่าออกมาสนับสนุนการชุมนุม หรือ บางส่วนที่ออกมาให้กำลังใจ ขณะที่บางส่วนก็มีเสียงสะท้อนถึงความเดือดร้อน และไม่ต้องการเห็นความรุนแรง หรือการประท้วงเกิดขึ้นในพื้นที่อาศัยของพวกเขา แต่โดยรวมแล้ว สะท้อนให้เห็นถึงภาพในเชิงสังคมวิทยาว่า มีคนอีกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ

ภาพ: สำนักข่าว ไทยพีบีเอส

นับตั้งแต่อดีต “ดินแดง” คือ โครงการในเชิงการสร้างที่อยู่อาศัยของภาครัฐ เพื่อช่วยเหลือบุคคลมีรายได้น้อย ลักษณะทางสังคมวิทยา หรือ ลักษณะทางภูมิรัฐศาสตร์ของพื้นที่ เป็นพื้นที่ที่เกิดความเหลื่อมล้ำมาโดยตลอดอยู่แล้วในเขตกรุงเทพฯ เพราะฉะนั้นคนที่อยู่ในดินแดงก็ประสบปัญหาหลายอย่าง เช่น การเป็นภาวะคนชายขอบ คนจนเมือง สิ่งเหล่านี้ คือ ความเหลื่อมล้ำที่เขาต้องประสบ ยิ่งต้องมาเกิดปัญหาโควิด-19 ทำให้สิ่งเหล่านี้ถูกสะท้อนภาพให้เป็นรูปธรรมซึ่งจับต้องได้มากขึ้น เช่น การเข้าถึงระบบสาธารณสุข มีคนต้องบาดเจ็บล้มตายริมถนน ตายอยู่ในบ้าน เป็นภาพที่เราเห็นกันได้มาก จะเป็นอีกจุดที่ทำให้คนในพื้นที่สัมผัสได้ถึงรูปธรรมของปัญหา

มีความเป็นไปได้ที่ดินแดง จะมีการผนวกผสานกัน ทั้งกลุ่มการเมืองที่เข้าไปเคลื่อนไหวในเชิงสัญลักษณ์ตรงนั้น มีเป้าหมายเฉพาะและคนในพื้นที่ด้วย ก็อาจจะทำให้เราเห็นภาพของความรุนแรงที่เกิดต่อเนื่องในพื้นที่ดินแดง  หรือ บริเวณใกล้เคียงก็คือ สามเหลี่ยมดินแดง

แนะฉีดวัคซีนการเมือง-แก้รัฐธรรมนูญ ก่อนถึงขั้น “มวลชนาธิปไตย”

โควิด-19 รอบนี้ได้เปิดเปลือยภาพของรัฐในประเทศไทย ทั้งหมด ทั้งความล้มเหลวการเมือง เศรษฐกิจ และความเหลื่อมล้ำในสังคม ทำให้ผู้คนที่ไม่เคยตั้งคำถามกับสิ่งเหล่านี้ เกิดการตั้งคำถามมากขึ้น…

รศ.ยุทธพร วิเคราะห์ว่า ความเดือดร้อนในสถานการณ์โควิด-19 ของไทยและทั่วโลก เป็นตัวเร่งสำคัญ ที่ทำให้เห็นความล้มเหลวการบริหารของรัฐบาลหลายมิติชัดเจนขึ้น ทำให้การต่อสู้ทางการเมืองในยุคนี้มีความแตกต่างจากในอดีต

ภาพ: สำนักข่าว ไทยพีบีเอส

นับกันตั้งแต่ การเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ 14 ตุลาฯ 2516 หรือ 6 ตุลาฯ 2519 หรือ แม้กระทั่งพฤษภาคม 2535 หรือ ทศวรรษของความขัดแย้ง ตั้งแต่ปี 2548 มาจนถึงปัจจุบัน จะเห็นว่าการเคลื่อนไหวส่วนใหญ่ เป็นประเด็นทางการเมือง และ ประเด็นทางการเมืองเหล่านี้ เป็นการต่อสู้กัน เพียงแค่ในระดับของโครงสร้างทางการเมืองโดยทั่วไป เช่น การต่อสู้กันของขั้วอำนาจระหว่างอนุรักษ์นิยมกับประชาธิปไตย การต่อสู้กันระหว่างขั้วอำนาจในสภาฯ พรรครัฐบาล ฝ่ายค้าน การต่อสู้กันระหว่างกลุ่มที่สนับสนุน และไม่สนับสนุน นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง กระบวนการเหล่านี้ คือ โจทย์ที่เกิดขึ้นในการเคลื่อนไหวประวัติศาสตร์การเมืองไทยมาตลอด แต่ครั้งนี้มีปัจจัยที่หลากหลายมาตลอด คือ สถานการณ์โควิด-19 ก็เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาและเป็นวิกฤตที่เกิดขึ้นทั่วโลกที่ส่งผลต่อการเมืองไทย ซึ่งไม่เคยมีปรากฏการณ์แบบนี้เลยในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

หากพัฒนาไปถึงขั้นสุด โดยเรียกว่า “มวลชนาธิปไตย” หรือ ปรากฏการณ์ที่มวลชนต้องการเข้าสู่อำนาจเสียเอง และมวลชนไม่ฟังกฎเกณฑ์-กติกา ไม่ฟังแกนนำแล้ว ชั่วโมงนั้นก็อาจจะเข้าสู่ภาวะ “อนาธิปัตย์” คือ ภาวะที่ไม่มีกฎเกณฑ์ กติกา ภาวะที่ไม่มีใครควบคุมใครได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากลัว นำไปสู่จลาจลและความเสียหายที่จะเกิดขึ้น หรืออาจจะนำไปสู่ รัฐล้มเหลว ก็เป็นไปได้

แต่ภาวะ รัฐล้มเหลว ในประเทศไทยเกิดขึ้นได้ยาก เพราะรัฐที่เป็นทางการที่เราเห็นอาจจะล้มเหลว ในฐานะของรัฐบาล หรือที่เรียกว่า Failed Government แต่รัฐซึ่งซ่อนอยู่อีกส่วนหนึ่งที่เป็น Deep state ก็ยังคงอยู่เป็นรัฐของประเทศไทย ดังนั้นโอกาสที่รัฐล้มเหลว มีความเป็นไปได้เหมือนกัน แม้วันนี้จะยังไม่ถึงจุดนั้น แต่ถ้ามีวิกฤตทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ มีวิกฤตการระบาดของโควิด-19 ยังไม่ดีขึ้น และยังเป็นประเด็นที่ต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ ประชาชนเจ็บป่วยล้มตาย เศรษฐกิจ มีปัญหา คนอยู่ในภาวะอดอยากแร้นแค้น ก็เป็นไปได้ที่จะได้เห็นการเคลื่อนไหวมวลชนที่นำไปสู่ การเปลี่ยนโครงสร้างสังคมการเมืองครั้งใหญ่

ขณะที่ข้อเรียกร้องให้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีลาออก ยังคงเป็นเรื่องยากในสังคมไทยเวลานี้ เพราะหากจะทำได้ต้องประกอบครบ ทั้ง 3 ปัจจัย คือ

ปัจจัย 1 : รัฐต้องสูญเสียความชอบธรรมทางการเมือง และกฎหมาย : การละเมิดสิทธิ์ การใช้กฎหมาย ที่ไม่เหมาะสมกับเหตุ เช่น คำสั่งห้าม Fake news

ปัจจัย 2 : ไม่มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ในการแก้ปัญหา เช่น การบริหารจัดการการเมือง เศรษฐกิจ และโรคระบาด

ปัจจัย 3 : เสถียรภาพของรัฐบาล

ซึ่งจะเห็นว่า เวลานี้ยังไม่ครบทั้ง 3 เงื่อนไข หากเกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น การยุบสภาฯ ตามบทเฉพาะกาลของร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังเข้าสู่วาระ 3 ระบุไว้ว่าภายใน 120 วัน จะต้องจัดทำ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ให้แล้วเสร็จ ถ้าไม่แล้วเสร็จแต่เกิดการเลือกตั้งขึ้น กกต. มีอำนาจออกระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ดังนั้น อาจมีความเป็นไปได้เช่นกันว่าภายใน 3 เดือนนี้อาจจะเป็นโซนของความเปลี่ยนแปลงแม้จะไม่ครบทั้ง 3 เงื่อนไข หากพรรคแกนหลักของรัฐบาลคือ พลังประชารัฐ มีความได้เปรียบทางการเมือง

โดยนักรัฐศาสตร์ย้ำว่า การยุติความรุนแรงในม็อบ เหมือนหยุดโรคระบาด จำเป็นต้องได้รับวัคซีนก่อนเป็นอันดับแรก โดยเทียบกับวัคซีนทางการเมือง เหมือนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องทำเป็นอันดับแรก เพราะเป็นกฎกติกาหลักที่จะช่วยให้อยู่ร่วมกันได้อย่างเห็นพ้อง เพื่อลดอุณหภูมิความรุนแรงทางการเมือง ก่อนฝ่าวิกฤตอื่น ๆ ที่กำลังรอการแก้ไข

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน