สธ.ยกทีมแถลงปมชุดตรวจ LEPU หากได้มาตรฐานพร้อมแจกทันที

“ณุศาศิริ” แจงราคาชิ้นละ 70 บาทรวมภาษี ค่าขนส่ง ค้าจ้าง เปิดผลทดสอบความไวเชิงวินิจฉัย 92% ผ่านเกณฑ์ อย. แต่ WHO กำหนดความไวเชิงวินิจฉัย 95% ด้าน “สภาองค์กรผู้บริโภค” ร้องนายกฯ ล้มประมูลจัดซื้อ ATK คุณภาพต่ำ 

หลังชมรมแพทย์ชนบท ท้วงติงคุณภาพของชุดตรวจ ATK ยี่ห้อ LEPU ที่ชนะการประกวดราคาชิ้นละ 70 บาท กระทั้งคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม สั่งชะลอการลงนามในสัญญาจัดซื้อไว้ก่อนเพื่อทำการตรวจสอบเพิ่มเติม

สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) องค์การเภสัชกรรม (อภ.)  และ ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล ร่วมกันแถลงข่าวการจัดซื้อชุดตรวจโควิด ATK 8.5 ล้านชุด

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาชุดตรวจ ATK แจกให้กับประชาชน แถลงข่าว (16 ส.ค.2564) ที่กระทรวงสาธารณสุข โดยนายแพทย์จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ย้ำว่าเป็นเจ้าของโครงการพิเศษจัดหาชุดตรวจ ATK จำนวน 8.5 ล้านชุดแจกประชาชนแต่ไม่มีอำนาจจัดซื้อเอง 

ขณะที่ นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ยืนยันชุดตรวจ ATK ที่ขึ้นทะเบียนทั้งหมด 91 ราย รวมถึงยี่ห้อ LEPU ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน อย. ผ่านการตรวจสอบจากห้องปฏิบัติการของมหาวิทยาลัย กำหนดความไวเชิงวินิจฉัยต้องมากกว่าหรือเท่ากับ 90% 

ด้านนางศิรินุช ชีวันพิศาลนุกูล รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่าหลังประธานบอร์ดองค์การเภสัชกรรมให้ตรวจสอบอีกครั้งหลังมีข้อสงสัยด้านคุณภาพ หากพบว่ามีมาตรฐานพร้อมเดินหน้ากระจายสู่สถานพยาบาลและร่วมตรวจสอบคุณภาพหลังการใช้ 

นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันในนามของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข มีความพร้อมในการกระจายชุดตรวจ ATK ทันที และจะร่วมมือ สปสช. ตรวจสอบคุณภาพหลังการใช้งานไปพร้อมกัน

บริษัทฯ แจงราคาชิ้นละ 70 บาทรวมภาษี ค่าขนส่ง ค้าจ้าง

วันเดียวกัน นางศิริญา เทพเจริญ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการตลาด บริษัท ณุศาศิริ จำกัด และ กรรมการบริหาร บริษัท เวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด  ตัวแทนจำหน่าย ATK ของ บริษัท ออสท์แลนด์แคปปิตอล จำกัด และเป็นผู้ชนะประมูล ชี้แจงข้อสงสัยเรื่องราคาหลังชมรมแพทย์ชมบทตั้งข้อสังเกตว่าในเว็บไซต์อาลีบาบาขาย 1 ล้านชิ้น ชิ้นละไม่เกิน 35 บาท ขณะที่ราคาที่ชนะประมูลในไทยชิ้นละ 70 บาท 

รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการตลาด บริษัท ณุศาศิริ จำกัด แถลงข่าวผ่านโปรแกรมซูม กับสื่อมวลชนเป็นครั้งที่ 2

ทางบริษัทฯ ขอยืนยันว่าต้นทุนการนำเข้าประมูลในราคา 70 บาทต่อชุด รวมVAT 7% มีการคำนวณรวมค่าขนส่ง ซึ่งต้องเช่าเหมาลำ มีค่าใช้จ่ายด้านการจัดเก็บชุดอุปกรณ์ภายในห้องที่มีอุณหภูมิเหมาะสมเพื่อคงคุณภาพของสินค้า และทางบริษัทฯต้องดำเนินการจัดส่งอีกกว่า 1,000 จุดทั่วประเทศ ค่าพนักงาน ฯลฯซึ่งล้วนเป็นต้นทุนที่บริษัทฯ มีความจำเป็นต้องบวกเพิ่ม

ส่วนประเด็นคุณภาพชุดตรวจต่ำกว่ามาตรฐาน นางสาวรังสินี หวังมั่น product specialist บริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด อ้างผลการทดสอบจากคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ได้มีผลการศึกษาและทดสอบ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 พบว่าความไวในการวินิจฉัยคือ 92% ความจำเพาะ  99.3%

และผลการทดสอบจาก คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า มีความไวในการวินิจฉัย 90% ความจำเพาะ 100% และความไม่จำเพาะ 0%

สภาองค์กรของผู้บริโภค วอนนายกฯ ยับยั้งการจัดซื้อ ATK ที่ไม่มีคุณภาพ

ขณะเดียวกัน เนื่องจากชุดทดสอบโควิด (Antigen Test Kit) ที่ได้รับการรับรองจาก อย. มีอยู่หลากหลายแบบ แล้วแบบไหนที่ผู้บริโภคควรเลือกซื้อมาใช้ สภาองค์กรของผู้บริโภค จัดเวทีเสวนาผ่านเฟสบุ๊คไลฟ์ “ควรซื้อ ATK แบบไหน ?”

เวทีเสวนาผ่านเฟสบุ๊คไลฟ์ “ควรซื้อ ATK แบบไหน ?” จัดโดยสภาองค์กรของผู้บริโภค

นายนิมิตร์ เทียนอุดม  กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ความไวในเชิงวินิจฉัย คือค่าความแม่นยำของชุดตรวจ มาตรฐาน อย. กำหนดความไวเชิงวินิจฉัยที่ 90% ขณะที่มาตราฐานองค์การอนามัยโลก กำหนดความไวเชิงวินิจฉัยที่ 95% ชุดตรวจ ATK ยี่ห้อ LEPU ที่ชนะการประกวดราคา ผลทดสอบความไวตามที่บริษัทกล่าวอ้างคือ 90-92% 

นั่นหมายความว่าที่ต่าง 8% คือโอกาสที่จะเจอผลตรวจปลอม 8% นี้จึงไม่ใช่แค่ตัวเลขแต่คือชีวิต ที่เมื่อพบผลบวกติดเชื้อต้องได้รับการรักษา โดยเฉพาะกลุ่มผู้อายุ 60 หากติดเชื้อ จะเริ่มที่อาการกลุ่มสีเหลือง ถ้ามีโรคประจำตัวคือระดับอาการเริ่มที่สีเหลืองเข้ม  ถ้าตรวจแล้วเจอผลปลอม แล้วไม่ได้เข้ารับการรักษาอาจเสียชีวิต

“ถ้าประชาชนทั่วไปหาซื้อชุดตรวจเอง ต้องหาที่มีความแม่นยำสูง เพราะเราต้องมั่นใจว่าเราเสียเงินแล้ว เราต้องได้ผลที่แม่นยำที่สุด ตัวเลขที่ความไวที่ต่างออกมา คือคุณภาพชีวิตของประชาชน ที่ควรจะได้รับการดูแลรักษาอย่างทันท่วงทีราคาที่ถูกกว่า เทียบไม่ได้กับชีวิต” 

ด้านสภาองค์กรของผู้บริโภค ออกแถลงการณ์ ข้อเสนอและการดำเนินการ ดังนี้

1) ขอให้นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส (ศบค.) ใช้ภาวะผู้นำในวิกฤตโควิด – 19 ทบทวนการจัดซื้อ ATK โดยเลือกซื้อชุดตรวจที่มีคุณภาพสูงสุด และขอให้นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจในการยับยั้งการจัดซื้อ ATK ที่กำลังดำเนินการโดย อภ.

2) ขอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ สปสช. สามารถจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ได้เอง เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนในการเข้าถึงยาและเวชภัณฑ์ที่มีคุณภาพดีราคาเหมาะสม เนื่องจากการดำเนินการของ สปสช. เป็นการดำเนินการที่มีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย ทั้งประชาชน ผู้ประกอบวิชาชีพ หน่วยงานกระทรวงสาธารณสุข ในการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ที่มีจำนวนมาก เพื่อต่อรองให้ได้ของที่มีคุณภาพและมีราคาที่เป็นธรรมกับประเทศ

3) สภาองค์กรของผู้บริโภค พร้อมสนับสนุนประชาชนที่ได้รับการตรวจ ATK และได้รับผลลบลวง ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS