โควิดรุก “เกาะหลีเป๊ะ” สสจ.สตูล เร่งคุมโรค – ร้องช่วยปากท้อง “ชาวเล” ช่วงกักตัว

ผลตรวจคัดกรอง ยืนยันพบผู้ติดเชื้อแล้ว 111 คน ทยอยส่งตัวสู่ระบบรักษา เชื่อคุมสถานการณ์ได้ทันเปิดเกาะท่องเที่ยว 5 ก.ย.นี้ ด้านภาคประชาชน เรียกร้อง เงินช่วยเหลือ 3,000 บาท ต้องมาถึงมือชาวเล หลังเผชิญปัญหาปากท้องช่วงกักตัว นักวิชาการ หวั่นข้อกฎหมาย อุปสรรคแผนจัดการชุมชน ตามวิถีดั้งเดิม

โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล รายงานสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่ ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 ส.ค.ที่ผ่านมา จากการตรวจหาเชื้อประชากรกลุ่มเสี่ยงที่เกาะหลีเป๊ะ ด้วยชุดตรวจ Antigen test kit (ATK) อย่างต่อเนื่อง พบว่า ให้ผลเป็นลบ 333 คน


ส่วนผู้ที่ผลเป็นบวกคือติดเชื้อ มีทั้งสิ้น 111 คน มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 111 คน ผู้ติดเชื้อรักษาตัวด้วยระบบ HI หรือ Home isolation lipe 17 คน, รักษาตัวที่ศูนย์กักตัว รพ.สต.เกาะหลีเป๊ะ 2 แห่ง คือที่ ร.ร.บ้านเกาะหลีเป๊ะ 49 คน และประมง 16 คน ส่งต่อไปรักษาตัวที่ รพ.สตูล 1 คน

นพ.สมบัติ ผดุงวิทย์วัฒนา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสตูล เปิดเผยถึงความคืบหน้าการควบคุมการระบาดของเชื้อโควิด 19 ที่เกาะหลีเป๊ะ ว่าเกาะหลีเป๊ะมีจุดแข็ง หรือต้นทุนทางธรรมชาติที่ดี คือสภาพแวดล้อมปลอดโปร่ง มีแสงแดดสายลม อากาศถ่ายเท ไม่แออัด และมีความเข้มแข็งของชุมชน รวมทั้งผู้ประกอบการ จึงเป็นผลดีต่อสถานการณ์นี้

ด้านการควบคุมโรค มุ่งเน้นการจำกัดบริเวณอยู่ในเวลาอันรวดเร็ว ออกแบบให้มีการแบ่งโซนไม่ให้ข้ามไปมา เพื่อลดการแพร่เชื้อ(ให้ใช้แนวคิดเชิงรุกว่าต่างคนต่างมีเชื้ออยู่คนละนิด) และรอบนี้มีการหยุดการสัญจรเดินเรือสาธารณะและหยุดการท่องเที่ยวชั่วขณะ ให้มีการเฝ้าระวังเชิงรุกใครเป็นไข้หวัดรีบแจ้งทีมหมอครอบครัวทันที

ส่วนความปลอดภัยด้านสุขภาพ มีทีมหมอครอบครัวทั้งทีมที่อยู่บนเกาะทีมรพ.สต. อสม.และทีมหมอครอบครัวแบบออนไลน์จากฝั่งร่วมติดตามดูแลอย่างใกล้ชิดตรงถึงพี่น้องประชาชน มีการลำเลียงยาและเวชภัณฑ์ลงไปตั้งแต่แรก ที่สำคัญ เช่น ที่ตรวจออกซิเจน ตรวจอุณหภูมิ อุปกรณ์ต่างๆ ยาฟาวิพิราเวียร์ ฟ้าทะลายโจร  เป็นต้น ให้การรักษาและให้ยาอย่างรวดเร็ว มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบางผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว หญิงตั้งครรภ์ ตามข้อมูลทางการแพทย์ที่ชี้ว่าหากติดเชื้อแล้วจะมีอาการหนักได้ ในรายที่มีความจำเป็นต้องส่งต่อมายังรพ. มีทีมเรือEMS พร้อมตลอด24ชั่วโมง เป็นความเข้มแข็งของระบบนี้ที่มีมานานแล้ว

การวินิจฉัย  ทำได้เร็วตั้งแต่การใช้ประวัติให้เป็นเข้าข่ายน่าสงสัย คนที่เป็นกลุ่มสัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูงจากการสอบสวนโรค หรือคนที่เป็นPUI พิจารณาการตรวจATK ซึ่งตอนนี้ยังคงเดินหน้าในการตรวจเชิงรุกด้วย ATK   แต่ที่เน้นหนักให้ความสำคัญอย่างมาก คือการทำงานเชิงรุกของทีมหมอครอบครัว และอาสาสมัครในพื้นที่ ในการติดตามดูแลเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ในชุมชนและครอบครัวที่พบผู้ติดเชื้อ ให้รีบแจ้ง เข้ารักษาตัว ในโรงพยาบาลสนาม ที่โรงเรียนบ้านเกาะหลีเป๊ะทันที

ส่วนผู้สัมผัสเสี่ยงสูง จะใช้แนวทางในการจำกัดบริเวณ  ซึ่งมีความยืดหยุ่นให้ยังสามารถใช้ชีวิตตามวิถี คือออกหาปลาได้ ตามเส้นทางการออกทะเล และกลับเข้าบ้านโดยไม่ไปรวมกลุ่มกับผู้อื่น ทั้งนี้จะมีทีมหมอครอบครัว และความร่วมมือชุมชนช่วยกันเฝ้าระวัง ซึ่งจะลงไปติดตามอาการสม่ำเสมอต่อเนื่องทุกวัน  ซึ่งการที่พุ่งเป้าไปที่การดูแลป้องกันครอบครัวและชุมชนผู้ติดเชื้ออย่างรวดเร็ว  จะทำให้จำกัดวงควบคุมการระบาดได้รวดเร็วตรงจุด

“เราต้องคิดบนหลัก  ทุกคนมีความเสี่ยง มีเชื้อกันคนละนิด โดยเฉพาะคนที่อยู่ในครอบครัวของผู้ติดเชื้อ เราเน้นกลุ่มเป้าหมายนี้ ดูแลรักษาจ่ายยา เฝ้าระวังป้องกันจำกัดบริเวณ  ซึ่งสามารถควบคุมได้ตรงจุด  ส่วนการตรวจ ATK ต้องดูตามความเหมาะสม เพราะอีกด้านก็ส่งผลต่อความเข้าใจของประชาชนในการดูแลป้องกันตนเองที่ลดน้อยลง เพราะยิ่งตรวจ โดยเฉพาะในกลุ่มที่แสดงผลออกมาเป็นลบ อาจกลายเป็นการไปการันตีว่าเขาปลอดเชื้อ ทั้งๆที่ตอนตรวจอาจจะยังไม่เจอเชื้อ และมีเชื้อแสดงอาการในภายหลัง  ทำให้บุคคลนั้นคิดว่าตัวเองปลอดภัย ก็จะละเลยการป้องกันตัวเอง และยากต่อการขอความร่วมมือให้คนกลุ่มนี้กัก กรือจำกัดบริเวณ ดังนั้น สำคัญคือการสร้างความเข้าใจ ต้องคิดว่าไม่เจอไม่ใช่การันตี ”

นพ.สมบัติ ผดุงวิทย์วัฒนา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสตูล
(ภาพ : เพจ สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสตูล)

นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสตูล กล่าวถึงแนวทางการป้องกัน ได้ให้ความสำคัญกับการลดปัจจัยเสี่ยง โดยการเน้นให้ปฏิบัติตามคำแนะนำ มีสุขอนามัยที่ดี อีกเรื่องที่สำคัญคือการเพิ่มการปกป้อง โดยการเข้าถึงวัคซีน ซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจการท่องเที่ยว ตอนนี้สามารถเข้าถึงแล้ว ประมาณ1,700 คน จากประชากรบนเกาะในช่วงโลซีซั่นที่มี 2,000 คน เป็นผู้ประกอบการ 1,000 คน ชาวบ้านประมาณ 1,000 คน แบ่งเป็นฉีดซิโนแวค ครบ2เข็ม 700 คน  , แอสตราเซเนก้า 1 เข็มเข็ม กว่า80 คน  ซิโนแวค 1 เข็ม 899 คน 

และมีแผนฉีดวัคซีนเพิ่มเติมเดิมในวันที่ 17-18 และ25-26 สิงหาคมนี้ และจะพิจารณาตามสถานการณ์การติดเชื้อสาเหตุที่มีกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึง หรือตกหล่นก่อนหน้านี้ เพราะพวกเขายังกังวลและกลัว ซึ่งพยายามสร้างความเข้าใจเพื่อให้เกิดการเข้าถึงอย่างครอบคลุม จากบทเรียนรอบนี้ทำให้กลุ่มดังกล่าวตื่นตัวพร้อมรับวัคซีนเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้คาดว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์ให้ดีขึ้น สามารถเปิดเกาะรับนักท่องเที่ยวได้ตามกำหนดในวันที่ 5 ก.ย.นี้เพราะในส่วนชุมชนที่พบการระบาด สามารถจำกัดวง หรือมีโซนนิ่งในการจำกัดบริเวณอยู่แล้ว  ชุมชนและภาคีเครือข่ายหลายภาคส่วนกำลังช่วยกันดูแล เยียวยา และแบ่งปันกัน

“ สตูลเราออกแบบการจำกัดบริเวณอยู่ เช่น แคมป์คนงานให้อยู่ในที่พักและไซด์งานไม่ให้ออกนอกเส้นทางคนมาเก็บผลไม้ก็ให้อยู่ในเส้นทางและที่พัก ซึ่งหลีเป๊ะตอนนี้ออกแบบให้ออกทะเลได้ แล้วกลับเข้าที่ไม่ไปรวมกลุ่มกับกลุ่มอื่น การออกแบบการจำกัดบริเวณอยู่ทำให้เราเรียนรู้ในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันกับโควิด-19ได้ ” 

ในส่วนของผู้ประกอบการ หรือโซนการท่องเที่ยว ได้มีการดูแลสุขอนามัยต่างๆตามหลักการป้องกันควบคุมโรคได้ดีร้านอาหารส่วนใหญ่ก็เป็นแบบเปิดโล่งอากาศถ่ายเท ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามมาตรการ  ที่พักริมทะเลสายลม แสงแดด ธรรมชาติบริสุทธิ์ ปราศจากเชื้อ

นอกจากนี้หลีเป๊ะกำลังจะมีทีมมาวางระบบLipe Smart Island เป็นระบบ digital แบบอัจฉริยะจะทำให้พวกเราเกิดการเรียนรู้และการใช้ชีวิตในยุคโควิด-19 และยุคpost COVID แบบชาญฉลาดและตื่นรู้ หาจุดสมดุลที่ลงตัวในมิติต่างๆเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม อย่างสงบและเข้าใจกัน รวมพลังก้าวไปด้วยกัน

เรียกร้องรัฐเร่งแก้ปัญหาปากท้อง “ชาวเลเกาะหลีเป๊ะ” ช่วงกักตัว

The Active พูดคุยกับ หัตติเริง พระอะ ชาวเลอุรักลาโว้ย ชุมชนอู่เส็น เกาะหลีเป๊ะ ซึ่งเขาเป็นหนึ่งในผู้สัมผัสเสี่ยงสูง หลังภรรยา และพี่สาว พี่เขย ติดเชื้อโควิด-19 ต้องรักษาตัวที่โรงพยาบาลสนาม ส่วนเขาต้องกักตัว 14 วัน 

หัตติเริง บอกว่า นี่คือช่วงเวลาที่ลำบากที่สุด เพราะเป็นห่วงคนในครอบครัวที่ติดเชื้อ ส่วนลูกเล็กวัย 2 ขวบ ต้องเอาไปฝากยายเลี้ยง เมื่อตัวเองต้องกักตัวอยู่บ้านตามลำพัง แม้จะมีถุงยังชีพที่อาสาสมัคร เครือข่ายต่าง ๆ พยายามช่วยเหลือ มีทั้งข้าวสาร อาหารแห้ง  แต่ก็ไม่เพียงพอต่อการกักตัวถึง 14 วัน ทำให้ต้องซื้อกิน ในช่วงที่ขาดรายได้ และยังมีค่าใช้จ่ายในครอบครัวอีกหลายอย่าง

“ พอเรากลายเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงมันยากที่จะออกเรือไปหาปลา จะบอกว่าไม่ได้จำกัดหรือห้ามออกไปจับปลา แต่พอทุกคนรู้ว่าเราเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง ก็เกิดความกลัว ระแวงกัน เอาแค่เราจะไปดูเรือหน้าหาด ต้องผ่านบ้านคนอื่น หรือคนอื่นจะไปดูเรือ จะผ่านบ้านเรา ผ่านบ้านคนที่ติดเชื้อ เพราะชุมชนชาวเลเราเหลือที่นิดเดียว พื้นที่จำกัดตรงนี้ก็ลำบากแล้ว  ต้องกักตัว ไม่ได้ออกเรือขาดรายได้ ไหนจะค่าอาหาร ค่านมลูก สำคัญคือค่าไฟ ไฟบนเกาะนี่แพงมากนะ อยากให้รัฐมีมาตรการช่วยเหลือดูแลตรงนี้ ”

วิทวัส เทพสง ผู้ประสานงานเครือข่ายชาวเลอันดามัน

วิทวัส เทพสง ผู้ประสานงานเครือข่ายชาวเลอันดามัน บอกว่า ตอนนี้ภาคีเครือข่ายชาวเล ได้ระดมความช่วยเหลือจัดหาอุปกรณ์ป้องกันให้ชุมชนกลุ่มเสี่ยง และบุคลากรกลุ่มอาสาในพื้นที่ และการช่วยเหลือดูแลกลุ่มที่ต้องกักตัวซึ่งช่วยได้ระดับหนึ่งเท่านั้น การกักตัวเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อลดโอกาสเสี่ยงของการแพร่เชื้อ ซึ่งหากไม่มีแนวทางการช่วยเหลือที่เอื้อ ต่อการสร้างความร่วมมือในการกักตัวของชาวบ้าน  จำเป็นต้องออกไปหาปลามาขายในระหว่างเป็นผู้เสี่ยงสูง พบปะกับผู้คนโอกาสเสี่ยงแพร่เชื้อยังเกิดขึ้น  ดังนั้นสิ่งสำคัญจึงต้องให้ความช่วยเหลือเรื่องการเข้าถึงอาหารอย่างเพียงพอในระหว่างการกักตัว รวมถึงการช่วยเหลือแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในช่วงที่พวกเขากักตัวขาดรายได้ 

“ ต้องมีนโยบายลงมาให้ชัด ในการหนุนเสริมในพื้นที่ทั้งการควบคุมโรค และการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เร่งด่วน ตอนนี้เห็นว่ากระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ อนุมัติเงินช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ไร้ที่พึ่ง ที่จะจ่ายเงิน 3,000 บาท ความช่วยเหลือตรงนี้ต้องลงมาถึงชาวหลีเป๊ะที่ประสบปัญหาและเดือดร้อนอย่างมากในเวลานี้ด้วยเป็นการเร่งด่วน เพราะถ้าเขาสามารถอยู่ได้ เขาจะให้ความร่วมมือในการไม่ออกไปเสี่ยงทั้งการแพร่และรับเชื้อ ”

นฤมล อรุโณทัย  ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

ข้อจำกัดแผนจัดการคุมระบาดชุมชน ตามวิถีดั้งเดิม

นฤมล อรุโณทัย  ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า สถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 ฉายภาพปัญหาผลกระทบการพัฒนาที่มุ่งในเรื่องการท่องเที่ยวเป็นหลัก  ทำให้ความเป็นชุมชนไม่เหมือนเดิมถูกเบียดขับ ต้องอยู่ในพื้นที่จำกัด อยู่กระจายเป็นหย่อม ไม่มีความเกาะเกี่ยวเป็นชุมชน ใช้ชีวิตเอาตัวรอดแบบปัจเจกเมื่อมีภัยพิบัติ หรือโรคระบาดจึงเกิดปัญหาของการยึดโยงช่วยเหลือกันในลักษณะความเป็นชุมชน ที่จะช่วยเหลือดูแลรับมือสถานการณ์ร่วมกัน แต่ยังดีที่ชุมชนหลีเป๊ะ มีครู มีนักเรียน ขยายวงจิตอาสาได้ทั้งในชุมชนและเชื่อมโยงภายนอก เพราะมีต้นทุนทางสังคมที่เกิดจากการผลักดันเรื่องสิทธิที่ดินร่วมกัน

นอกจากนี้การที่ชุมชนดั้งเดิมถูกเบียดขับ มีพื้นที่อาศัยจำกัด บางพื้นที่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดี เกิดข้อพิพาทที่ดิน การจะทำห้องน้ำต่อเติมยังไม่ได้ ก็ต้องอาศัยใช้พื้นที่ส่วนกลางนี้ร่วมกัน จึงเป็นจุดเสี่ยง  

และตามวิถีชีวิตดั้งเดิมชาวเลที่ออกทำประมงไกลๆ ตามเกาะหรือชายฝั่ง หรือเมื่อเผชิญภัยพิบัติ ก็จะมีวิธีการเอาตัวรอด หรือการไปตั้งหลัก ที่พักอาศัยชั่วคราว หรือที่เรียกว่า “บาฆัด”  ซึ่งสถานการณ์โควิด หากพวกเขาสามารถดำเนินตามวิถีเดิมได้ ไปสร้างเพิงพักเพื่อกักตัวและใช้วิถีชีวิตออกหาอาหารจับปลา จะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ช่วยให้เขาหลุดจากวงระบาด แต่ด้วยข้อจำกัดแนวนโยบายที่ส่งผลกระทบต่อวิถี อย่างกรณีล่าสุดชาวเล สร้างบาฆัด ที่เกาะพีพี ก็ถูกเจ้าหน้าที่สั่งให้รื้อ ซึ่งเห็นชัดว่าแม้จะมีมติคณะรัฐมนตรีที่ให้การคุ้มครองวิถีชีวิตชาวเล แต่ในทางปฏิบัติไม่เกิดขึ้นจริง

การ์ดไม่ตก แผนคุมระบาดชัด ก่อนเปิดท่องเที่ยวเกาะหลีเป๊ะ

การระบาดที่เกิดขึ้นที่เกาะหลีเป๊ะ กลุ่มที่น่าเป็นห่วงมาก คือกลุ่มคนดั้งเดิมในพื้นที่ ชาวเลอุรักลาโว้ย ที่ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ ล้วนมีโรคประจำตัว หากมีการติดเชื้อ จะเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาการหนัก ดังนั้นเมื่อเราเห็นแล้วว่าการพัฒนาที่มุ่งไปด้านเดียว ที่ให้คนหวังและพึ่งพาการท่องเที่ยวด้านเดียวไม่ตอบโจทย์ ถึงเวลาที่เราต้องทบทวน ใช้โอกาสนี้ในการฟังเสียงชุมชนดั้งเดิมในพื้นที่ร่วมวางแผนออกแบบการป้องกัน การรับมือ การเผชิญเหตุที่เขากำลังเผชิญอยู่และอาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต รวมถึงการทบทวนการจัดการการท่องเที่ยวที่อาจไม่ตอบโจทย์ในปัจจุบัน

“ก่อนจะเปิดเกาะต้องให้มั่นใจว่าไม่พบการระบาดปลอดภัยทุกคนทุกกลุ่ม หากบอกว่าโซนการท่องเที่ยวมีการจัดการดูแลดีไม่ต้องกังวลเรื่องการระบาด การระบาดที่ในชุมชนก็ต้องควบคุมให้ได้ เพราะทุกส่วนมีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน จึงต้องให้แน่ใจว่าปลอดภัยทั้งหมดจริง ๆ ที่สำคัญคือการจัดทำแผนเตรียมพร้อมในทางปฏิบัติ ทั้งการป้องกัน รับมือ แผนเผชิญเหตุที่เป็นระบบชัดเจน โดยให้มีส่วนร่วมหรือการฟังเสียงชาวบ้านในพื้นที่ด้วย”


ผู้ประสานงานเครือข่ายชาวเลอันดามัน ระบุว่า การป้องกันควบคุมการระบาดเชื้อโควิด-19 ในชุมชนชาวเล มีตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนที่ชุมชนชาวเล ทับปลา จ.พังงา จากการมีแผนเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติและโรคระบาด ด้วยหลัก 3 ก้าวภูมิคุ้มกันภัยฯ และโควิด-19 ของชุมชนชาวเล คือ ก้าวรู้ทันภัยเข้าใจโรค สร้างความตระหนัก เข้าใจ ส่วนร่วมของชุมชน, ก้าวเพิ่มศักยภาพรวมตัว รวมหัวคิดจิตอาสารับมือบนฐานข้อมูลจริงในพื้นที่ และ ก้าวพร้อมบริหารจัดการภัยและโรคร่วมภาคี ซึ่งสถานการณ์หลีเป๊ะตอนนี้คือการใช้ก้าวที่ 3 คือเข้าสู่แผนเผชิญเหตุเลย แต่ต้องเดินหน้าควบคู่กับการเตรียมพร้อมแผนก้าวที่ 1 และที่ 2 เพื่อรับมือในอนาคต ซึ่งสำคัญ คือการให้ชุมชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการวางและกำหนดแผนร่วมกัน

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ