ชี้ ยังไม่เห็นบทบาทคุ้มครองสุขภาพประชาชน จาก เลขาธิการ อย. แถมยังออกมาแถลงรับรองสิ่งที่สังคมสงสัย ถามตรงๆ รับผิดชอบไหวไหม ? “นพ.เกรียงศักดิ์” ชี้ อภ. ล็อบบี้ขอลดสเปก
13 ส.ค. 2564 – จากกรณีที่เลขาธิการองค์การอาหารและยา (อย.)ออกมาตอกย้ำว่าชุดตรวจ ATK ยี่ห้อ LEPU ได้มาตรฐานสากล มีความปลอดภัย ได้มาตรฐาน ต่อการใช้สำหรับตรวจโควิด19ให้กับประชาชนแม้หน่วยงานในต่างประเทศ อย่างองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) เรียกคืนสินค้าดังกล่าว รวมถึงมีงานวิจัยระดับโลกยืนยันว่าสินค้าชุดทดสอบดังกล่าวมีผลทดสอบระดับความไวต่ำกว่าตัวเลขความไวที่รายงานโดยบริษัทผู้ผลิตเอง
ล่าสุด ความเคลื่อนไหวจาก “ชมรมแพทย์ชนบท” แสดงความเห็นเตือนเลขาธิการ อย. ระบุ ภารกิจตามกฎหมายกำหนดให้ อย. กระทรวงสาธารณสุข มีภารกิจเกี่ยวกับการปกป้องและคุ้มครองสุขภาพของประชาชนจากการบริโภคผลิตภัณฑ์ ซึ่งล้วนถือเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพ โดยผลิตภัณฑ์สุขภาพเหล่านั้นต้องมีคุณภาพและปลอดภัย มีการส่งเสริมพฤติกรรมการบริโภคที่ถูกต้องด้วยข้อมูลทางวิชาการที่มีหลักฐานเชื่อถือได้และมีความเหมาะสม เพื่อให้ประชาชนได้บริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ปลอดภัยและสมประโยชน์
การแสดงบทบาทในการคุ้มครองสุขภาพประชาชน ของเลขาธิการ อย. ยังไม่เกิดขึ้น แถมยังออกมาแถลงรับรองผลิตภัณฑ์ดังกล่าว หากผลิตภัณฑ์ชุดตรวจโควิด19 ของบริษัทนี้ ที่สังคมมีความเคลือบแคลงสงสัยในคุณภาพและประสิทธิภาพในการตรวจ ยังปล่อยให้มีจำหน่ายอยู่ทั่วไป หรือในอนาคตข้างหน้า องค์การเภสัชกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังเดินหน้าจัดซื้อมาให้ประชาชนใช้งาน แต่ประสิทธิภาพต่ำกว่าที่ได้แสดงไว้ในเอกสารแปลผลผิดพลาด
จากคนที่ติดเชื้อโควิด ก็แปลผล เป็นลบ เป็นจำนวนมาก ที่เรียกว่าผลลบลวงเขาคิดว่าตนเองปลอดภัย แต่เขาก็ยังแพร่ไปยังคนอื่นได้ ไม่ได้เข้าสู่กระบวนการรักษาที่รวดเร็ว อาการรุนแรง จนเสี่ยงต่อเชื้อลงปอดและเสียชีวิตในที่สุด
“ถามตรงๆเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาตลอดจนผู้เกี่ยวจะรับผิดชอบอย่างไร? จะรับผิดชอบไหวหรือไม่? ประชาชนมีสิทธิ์ตามกฎหมาย ที่จะดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ละเลยเพิกเฉยต่ออันตรายที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน
เตือนกันไว้ตรงนี้นะครับ”
“หมอเกรียงศักดิ์” ชี้ อภ. ล็อบบี้ขอลดสเปก
ขณะเดียวกัน “นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ในฐานะประธานคณะทำงานกำหนดอัตราค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สปสช. เปิดเผยในรายการ เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand ช่างช่อง MCOT HD 30 เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม ถึงกรณีที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดสรรงบประมาณ 1,014 ล้านบาท ให้องค์กรเภสัชกรรม (อภ.) ดำเนินการจัดหาแทนจำนวน 8.5 ล้านชุด
“นพ.เกรียงศักดิ์” เปิดเผยว่า การจัดซื้อครั้งนี้ลับลมคมใน เพราะในมติในวันที่15 ก.ค. ให้ประสานกับคณะกรรมการต่อรองราคา แต่ปรากฏว่า อภ.ไม่ประสานอะไรเลย เค้าไปดำเนินการก่อนเลย เค้าจะแบ่งซื้อ 1 ล้านเทสต์ในช่วงแรก โดยจะซื้อกับอีกบริษัในราคาที่แพงกว่าที่เสนอไป เพราะผ่านมติบอร์ดว่า 120 บาทต้องรวมค่าขนส่งถึงสถานที่และต้องไม่มีค่าแอดมินใดๆ อีกแล้ว เพราะว่างบเงินกู้ที่ต้องซื้อเร่งด่วน
สืบวงในมาได้ว่าจะจัดซื้อในราคา 200 บาท เป็นค่าชุดตรวจ 160 บาท รวม ค่าขนส่งอีก 40 บาท ทั้งที่ต่อรองเบื้องต้นแล้วว่าจะต้องไม่เกิน 120 บาทรวมค่าขนส่ง ดังนั้นเราเลยไม่ยอม
“นพ.เกรียงศักดิ์” ก็ยืนยันกลับไปว่าสามารถยื่นให้จัดซื้อเฉพาะเจาะจงได้ การต่อรองครั้งนี้ไม่ได้ต้องการเอาถูกที่สุด แต่ต้องการได้ของดีมี 3 มิติ
- ต้องมีคุณภาพว่าผ่าน อย.อย่างเดียวไม่พอ
- ต้องมีการตีพิมพ์ในคณะแพทยศาสตร์ศิริราช
- ต้องจัดซื้อของให้ทันเวลาในการนำมาใช้โดยเร็วที่สุด
ซึ่งคุยตั้งแต่ 9 ก.ค. แล้วคือ 1 เดือนคือวันที่ 10 ส.ค. เราทำทีโออาร์ไปให้เลยกำหนดกรอบการส่งของ มีรายงานการประชุมแนบไป
แต่ปรากฏว่าองค์การเภสัชกรรม ไม่ทำอย่างนั้น แล้วมาบอกว่าถ้าจะให้ทำอย่างนั้นจะต้องให้ คณะกรรมการฯ ทำหนังสือไป เราก็ทำหนังสือไปวันที่ 29 ก.ค. ให้โรงพยาบาลราชวิถี เพราะเราไม่มีหน้าที่โดยตรง
“เขาก็มาล็อบบี้ ขอกับเจ้าหน้าที่เราเป็นการภายในว่า เรื่องเร่งด่วนขอใช้วิธีจัดซื้อแบบของเขา (อภ.) ได้ไหม และขอให้เราตัดคำว่า WHO ออก ตัดคำว่าการตีพิมพ์ออกได้ไหม แล้วก็บอกว่าจะสามารถจัดซื้อได้ภายใน 7 วันส่งของ ซึ่งก็ตรงกับวันที่ 10 สิงหาคม เราก็เลยยอมตรงข้อนี้ไปให้ ไม่ใช่ว่าเราปรับเปลี่ยนไปปรับเปลี่ยนมา”