“ก้าวไกล” ค้าน พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดฯ โควิด-19 ชี้ เอื้อประโยชน์รัฐบาลมากกว่า

‘วิโรจน์ ลักขณาอดิศร’ เรียกร้องใช้กระบวนการยุติธรรมสอบสวนความผิดกรณีภาครัฐบริหารจัดการแก้ปัญหาโควิด-19 ผิดพลาด ‘อนุทิน’ แจง กฎหมายจำกัดความรับผิดฯ ปกป้องคนทำงานโดยสุจริต

10 ส.ค. 2564 – ที่ทำการพรรคก้าวไกล วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล แถลงข่าวกรณีรัฐบาลเตรียมออก พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 โดยมองว่า กฎหมายดังกล่าวควรปกป้องบุคลากรทางการเเพทย์และสาธารณสุขที่ปฏิบัติตามคำสั่ง ศบค. หรือรัฐบาล แต่ไม่ควรปกป้องผู้บริหารในระดับนโยบายที่แก้ปัญหาโควิด-19 ผิดพลาด

เขาระบุว่า ผู้มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารจัดการวัคซีนที่สังคมตั้งข้อสงสัย เช่น บุคคลหรือคณะบุคคลที่ให้ความเห็นไม่ให้ประเทศไทยเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ (COVAX) บุคคลนั้นไม่ควรต้องได้รับการปกป้องจากฎหมายพิเศษแบบนี้ และหรือการให้ความเห็นว่าบุคลากรทางการเเพทย์ไม่ควรได้รับการกระตุ้นภูมิเป็นเข็มที่ 3 ด้วยวัคซีนไฟเซอร์ ซึ่งบั่นทอนต่อความรู้สึกประชาชนและบุคลากรทางการเเพทย์

วิโรจน์ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า กฎหมายดังกล่าว “เป็นการใช้ข้ออ้างเหมาเข่ง นิรโทษกรรมให้รัฐบาลทั้งสิ้น” ขณะที่ปัจจุบันพบว่า มีผู้ป่วยกว่า 800,000 คน และมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 6,000 คน ซึ่งเป็นผลมาจากการตัดสินใจในเชิงนโยบายของผู้บริหาร จึงควรได้รับการพิจารณาตัดสินความจากกระบวนการยุติธรรม หากพบเงื่อนไขที่บ่งชี้ว่าเป็นความปิดก็จะต้องรับผิดนั้น

อย่ากลัวหากการบริหารจัดการต่าง ๆ ดำเนินการอย่างสอดคล้องกับหลักวิชาการทางการเเพทย์ และมีการนำงานวิจัยหรือผลการศึกษามาประกอบการตัดสินใจ เเต่หากคณะกรรมการหรือคณะที่ทำงาน ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์แพทย์หรือใครก็ตาม ไม่ดำเนินการอย่างสอดคล้องกับหลักวิชา ไม่เอารายงานการศึกษาวิจัยทางการเเพทย์นานาชาติมาประกอบกับการตัดสินใจอย่างถูกต้องตามทำนองคลองธรรม เเต่เป็นการตัดสินใจด้วยความต้องการส่วนตัว ก็คงต้องสอบสวนข้อเท็จจริง ซึ่งศาลจะเป็นผู้ตัดสินเอง หากผิดสมควรต้องได้รับผิดตามกระบวนการยุติธรรมทั้งทางแพ่งอาญา เเละหากเป็นความผิดทางสังคมก็ต้องยอมรับให้สังคมประณาม

สำหรับความพยายามออกพระราชกำหนดฉบับนี้ วิโรจน์ มีความเห็นว่า อาจเอื้อประโยชน์ต่อนายกรัฐมนตรี และผู้ที่เกี่ยวข้อง มากกว่าประโยชน์สาธารณะ จึงต้องการให้นายกรัฐมนตรี และผู้ที่เกี่ยวข้อง ชี้แจงจุดมุ่งหมายของการออกกฎหมาย เพื่อแสดงความโปร่งใสในเรื่องนี้

จะต้องมีคำตอบที่ชัดเจนให้ประชาชนว่า นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี คณะกรรมการ อนุกรรมการ หรือคณะทำงานที่มีส่วนในการตัดสินใจทางนโยบายจะได้รับประโยชน์จาก พ.ร.ก.นี้ด้วยหรือไม่ หากจะเขียนเพื่อให้บุคลากรด่านหน้าสบายใจ ก็ควรออกเป็น พ.ร.บ.และต้องเขียนขอบเขตให้ชัดเจนว่าบุคลากรด่านหน้าเท่านั้นไม่เกี่ยวกับผู้ออกนโยบายที่จะได้รับการจำกัดความรับผิดนี้

ทั้งนี้ ยังเสนอข้อเรียกร้องจากภาคประชาชนว่าต้องการให้ภาครัฐเร่งออกกฎหมายและระเบียบเพื่อชดเชยเยียวยาประชาชนที่ได้รับความสูญเสียจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นมากกว่า

ด้าน ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 เกิดขึ้นในสถานการณ์ที่มีประชาชนหลายกลุ่มกำลังดำเนินการฟ้องร้องเพื่อเอาผิดต่อรัฐในขณะนี้

เป็นเรื่องที่พรรคก้าวไกลรับไม่ได้และจะคัดค้านอย่างถึงที่สุด

สอดคล้องกับ สุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลเตรียมออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับฝ่ายบริหารและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 ให้พ้นจากความผิดจากการบริหารสถานการณ์ครั้งนี้

ยืนยันจะไม่เห็นชอบกฎหมายฉบับดังกล่าวหากเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรและจะสู้ทุกวิถีทางในรัฐสภา ซึ่งหากกฎหมายผ่าน จะถือว่าเป็นการสร้างมาตรฐานที่ผิดพลาดอย่างมาก และจะกลายเป็นรัฐที่ไร้ระบบนิติรัฐและนิติธรรมอย่างสิ้นเชิง หากรัฐบาลกระทำผิดแล้วนิรโทษกรรมให้กับตัวเอง แบบไม่มีเหตุผล

“อนุทิน” ชี้แจงกฎหมายจำกัดความรับผิดฯ ปกป้องคนทำงานโดยสุจริต

ด้าน อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ต้องเข้าใจก่อนว่า กฎหมายฉบับนี้ ไม่ใช่กฎหมายนิรโทษกรรม เพราะยังไม่มีบุคลากรทางการแพทย์ทำผิด แต่นี่คือกฎหมายที่เกิดขึ้นเพื่อปกป้องคนทำงาน ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ด้วยสุจริตเพื่อให้แพทย์ พยาบาล บุคลากรทั้งหลายมีความสบายใจ มีความมั่นใจ ในการทำงาน

ส่วนเนื้อหากฎหมายจะครอบคลุมบุคคลใดบ้าง มีข้อยกเว้นอย่างไร ขอให้พิจารณาในวันที่ยกร่างเสร็จแล้ว กฎหมายฉบับนี้ เป็นการผลักดันโดยปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งส่วนตัวรับทราบและให้การสนับสนุนเพราะเห็นถึงความจำเป็น

เขากล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้กฎหมายดังกล่าวยังยกร่างไม่แล้วเสร็จ เอกสารอยู่ที่อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ซึ่งยังอีกหลายขั้นตอน ระหว่างนี้จะรับฟังเสียงจากทุกฝ่ายทั้งฝ่ายแพทย์ ฝ่ายผู้ปฏิบัติงาน ฝ่ายประชาชน ซึ่งต้องปรับแก้ตามความเหมาะสม แต่ยังคงไว้ซึ่งเป้าหมายในการสร้างความมั่นใจแก่คนทำงานทุกคน ที่สุดแล้วกฎหมายฉบับนี้จะคุ้มครองคนทำงานที่มีเจตนาบริสุทธิ์เท่านั้น กรุณาอย่ามองว่าเป็นเรื่องการเมืองไปเสียหมด

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้