Open Data เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนช่วยแก้ปัญหาด้านสาธารณสุข

‘นักวิจัย TDRI’ ชี้ ข้อมูลสาธารณะควรเปิดเผยสู่สาธารณชน แสดงความโปร่งใสและหลักฐานการบริหารทรัพยากรของรัฐ ให้ประชาชนร่วมตรวจสอบ และบูรณาการแก้ปัญหาจากฐานข้อมูลชุดเดียวกัน

3 ส.ค. 2564 – ธิปไตร แสละวงศ์ นักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดเผยกับ The Active หลังมีแนวทางในการเปิดข้อมูลบุคลากรด่านหน้าที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ ผ่านช่องทางออนไลน์ของโรงพยาบาล ว่าเป็นโอกาสที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะพิจารณาการเปิดเผยข้อมูลส่วนอื่น ๆ ด้วย เพื่อให้ข้อมูลสาธารณะเป็นประโยชน์แก่สาธารณะ

การเปิดเผยข้อมูลวัคซีน เป็นประโยชน์ต่อการสื่อสาร สร้างความเข้าใจระว่างรัฐ-ประชาชน

ธิปไตร แสละวงศ์ มองว่า การเปิดเผยข้อมูลการฉีดวัคซีนมีประโยชน์มาก ไม่ใช่แค่ล็อตของไฟเซอร์ แต่ควรเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนทุกล็อต ทุกยี่ห้อ ที่ภาครัฐระบุว่านำเข้ามาให้ประชาชนได้ฉีด เพื่อสร้างความโปร่งใส คลายข้อแคลงใจจากคำถามที่ว่า “วัคซีนมาแล้วไปไหน” หรือ “วัคซีนมาเท่าไร ทำไมไม่พอฉีด”

ในทางเทคนิคน่าจะไม่มีปัญหาอะไร ก่อนหน้านี้เราเคยเห็นข้อมูลวัคซีนที่ละเอียดระดับหมายเลขข้างขวดและจำนวนคนที่ฉีด แต่คำถามคือเมื่อทำได้ดี มีคนเข้าไปดูเยอะ แล้วอยู่ ๆ ก็ถูกปิดไป ถ้าทำได้จะมีประโยชน์มาก แม้ว่าข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนจะไม่ได้ช่วยในการสู้โควิด แต่จะช่วยให้ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม ได้ตรวจสอบ ติดตามการทำงานของภาครัฐมากขึ้น

เขายังมองอีกว่า ในด้านหนึ่งก็เป็นประโยชน์ต่อภาครัฐในการสื่อสารต่อประชาชน ถึงผลงานความคืบหน้าในการเดินหน้าฉีดวัคซีน เพราะต้องเข้าใจว่าเราอยู่ในภาวะที่วิกฤต และฉุกเฉินมาก แม้จะมีกระบวนการทำงานเพิ่ม แต่การเปิดเผยข้อมูลย่อมเป็นประโยชน์มากกว่าต้นทุน

นอกจากนี้ยังมองว่า การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีน ควรเริ่มตั้งแต่แผนการจัดซื้อวัคซีน สัญญาการจัดซื้อ และความโปร่งใสในการกระจายวัคซีน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

มีหลายแหล่งข้อมูล ซึ่งมีภาคประชาสังคมเคยนั่งไล่ตรวจว่าแต่ละล็อต ในแต่ละครั้งที่รัฐบาลประกาศ มีวัคซีนมาจริงตามที่แจ้งไหม แล้วปรากฏว่าตัวเลขไม่ตรงกัน จึงเกิดความสงสัยในตัวเลขที่แท้จริงการจำนวนวัคซีนนำเข้า… เมื่อนำเข้าก็ต้องมี สัญญาจัดซื้อวัคซีน ถือเป็นข้อมูลสาธารณะที่เปิดเผยได้ ซึ่งเมื่อเดือนที่แล้ว ก็มีสัญญาการซื้อวัคซีนตัวหนึ่งออกมา แต่ก็มีการปกปิดข้อมูลหลายท่อนความ ทั้งที่จริง ๆ แล้วไม่ควรปิด เพราะต่างประเทศก็มีการเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดไม่ได้ปกปิกอะไร

นักวิจัยอาวุโสทีดีอาร์ไอ กล่าวต่อไปว่า ส่วนเรื่องของการกระจายวัคซีน ซึ่งมีเกณฑ์ออกมาให้ประชาชนและแพทย์ได้ทราบ ว่าตัวเองจะได้รับวัคซีนที่มีประสิทธิภาพเมื่อไร ความโปร่งใสในการกระจายวัคซีนจึงเป็นเรื่องสำคัญ​ เพราะมีคำถามเกิดขึ้นสำหรับบางพื้นที่ที่ได้รับการจัดสรรวัคซีนไปเยอะ แต่ไม่ได้มีความจำเป็นสูงสุด และไม่ได้เข้าเกณฑ์ใด ๆ ทำไมถึงได้ ซึ่งคำถามแบบนี้จะไม่เกิด ถ้ารัฐเปิดข้อมูลการกระจายวัคซีนในโปร่งใสมากขึ้น

“นี่เฉพาะข้อมูลวัคซีน ยังไม่รวมถึงข้อมูลผู้ติดเชื้อ ผู้เสียชีวิต ที่ควรจะเปิดเผยได้ ถ้าไม่ได้ไปเปิดเผยชื่อของเขา”

ข้อมูลสาธารณะ จะนำไปสู่การใช้ประโยชน์เพื่อสาธารณชน

ธิปไตร มองว่า รัฐควรเห็นประโยชน์จากการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ เนื่องจากจะช่วยเป็นฐานคิดให้ภาคประชาสังคมส่วนอื่น ๆ ได้คิดต่อยอด และมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาทางสังคม โดยเร่ิมจากความเข้าใจเดียวกัน มากกว่าจะกังวลว่าจะส่งผลต่อความมั่นคงของรัฐ จากการตั้งคำถามจากข้อมูลเหล่านั้น

ภาครัฐ ถ้าเปิดข้อมูลออกมาก็มีคนพร้อมเอาไปใช้ อย่างน้อยสื่อมวลชน ช่วงนี้ก็มีอาสาสมัคร วิศวกรซอฟท์แวร์ต่า งๆ มาช่วยกันทำแอปพลิเคชัน ปักหมุดผู้ป่วยที่ต้องการความช่วยเหลือ ถ้ารัฐเปิดข้อมูลเกี่ยวกับทรัพยากร เช่น จำนวนเตียง จำนวนชุดตรวจว่าจุดไหนบ้าง ที่ยังมีชุดตรวจเหลือ เตียงเหลือ เอาคนไปใส่ได้ จะช่วยให้การกระจายทรัพยากรมีประสิทธิภาพมากขึ้น ถ้ารัฐเปิดเผยข้อมูลตรงนี้ให้ประชาสังคมได้เอาไปใช้

เขาย้ำว่า ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลสาธารณะ ไม่มีอะไรที่เป็นความลับทางราชการ หรือกระทบกับความมั่นคง จึงมีกระแสเรียกร้องให้มีการเปิดเผยข้อมูลวัคซีนเพื่อเป็น open data (ข้อมูลเปิด) ในเว็บไซต์ change.org เพื่อขอให้รัฐบาลเปิดเผย “ข้อมูลบริหารจัดการและกระจายวัคซีนโควิด-19 ตามหลัก Open data” คิดว่าจะเป็นอีกช่องทางในการส่งเสียงเรียกร้องว่าให้รัฐเปิดเผยข้อมูลชุดนี้มากขึ้น 

พร้อมทิ้งท้ายด้วยว่า การเปิดเผยข้อมูลสาธารณะเพื่อสื่อสารจากภาครัฐถึงประชาชน เป็นบทบาทของ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล หรือ DGA ซึ่งมีแพลตฟอร์ม ช่องทางในการสื่อสารได้โดยตรง แต่ที่ผ่านมาเรายังทำได้ไม่ดี หากเทียบกับต่างประเทศจะพบว่าประชาชนไม่จำเป็นที่จะต้องออกมาเรียกร้องในเรื่องนี้ เพราะหน่วยงานของรัฐทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว

อย่างไรก็ตาม DGA เอง ไม่สามารถสร้างข้อมูลเองได้ จึงต้องอาศัยหน่วยงานเจ้าของข้อมูลส่งต่อข้อมูลเหล่านั้นให้กับ DGA เพื่อให้ทำหน้าที่ตามกฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการด้วย

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้