บุกกรุงรอบ 3 ตั้งเป้า 7 วัน ตรวจโควิด 2.5 แสนคน คาด พบติดเชื้อเพิ่มกว่า 3 หมื่นคน ต้องใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ 6 แสนเม็ด

ชมรมแพทย์ชนบท ระดม 38 ทีม จากทั่วประเทศ เปิดปฏิบัติการ CCRT กู้ภัยโควิด-19 กรุงเทพฯ และปริมณฑล หากพบติดเชื้อ ให้ยาฟาวิพิราเวียร์ทันที คาด จะช่วยลดอัตราการใช้เตียงในกรุงเทพฯ ได้กว่า 3 หมื่นเตียง

3 ส.ค. 2564 – นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และสมาชิกชมรมแพทย์ชนบท ประชุมเตรียมความพร้อมเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนเปิดปฏิบ้ติการป้องกันและแก้ไขปัญหาโควิด-19 เชิงรุก หรือ CCRT เตรียมปูพรมตรวจเชิงรุกกรุงเทพฯ และปริมณฑล ระหว่างวันที่ 4 – 10 ส.ค. นี้ ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กทม. ทีมโควิดชุมชน อาสาสมัคร ภาคเอกชน และชมรมแพทย์ชนบท 

โดยจะแบ่งเป็นทั้งหมด 30 ทีม กระจายลงพื้นที่ตรวจหาผู้ติดเชื้อในชุมชน ด้วยชุดตรวจ Antigen Test Kit หรือ ATK วันละ 30 จุด สามารถตรวจได้จุดละ 1,000 คน รวมเป็นวันละ 30,000 คน เมื่อรวมกับทีมของ รพ.มหาราชนครราชสีมา ที่จะตั้งจุดตรวจ และตรวจให้กับประชาชนทั่วไป วันละ 5,000 คน คาดว่าจะสามารถตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อได้มากกว่า 35,000 คนต่อวัน รวม 7 วัน ตรวจได้กว่า 250,000 คน

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท โพสต์เฟซบุ๊ก นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ก่อนหน้านี้ ระบุว่า การทำงานกู้ภัยโควิด-19 ในครั้งนี้จะครบวงจรมากขึ้น เริ่มด้วยการทำ swab หาเชื้อด้วย rapid test หากได้ผลลบให้กลับบ้านได้ หรือไปรับบริการวัคซีนจากทีมของ กทม. ที่จะมาร่วมออกหน่วยด้วย 

แต่หากผลเป็นบวกก็จะต้องส่งตรวจ RT-PCR ซ้ำ และตามผู้สัมผัสมาตรวจ พร้อมรับบริการยาฟ้าทะลายโจร หรือ ฟาวิพิราเวียร์ และนำเข้าระบบ Home Isolation ของ สปสช. ในวันเดียวกันเพื่อการดูแลรักษาที่ต่อเนื่อง

หากเทียบกับค่าเฉลี่ยจากจำนวนผู้ติดเชื้อ ที่ตรวจพบในรอบก่อนหน้านี้ประมาณ ร้อยละ 15 จึงประเมินว่าการตรวจรอบนี้ จะพบผู้ติดเชื้อประมาณ 32,500 คน ในจำนวนนี้ 12,000 คน จำเป็นต้องได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งในแต่ละทีม จะมีเภสัชกรร่วมลงพื้นที่ด้วย เพื่อพิจารณาจ่ายยา ฟาวิพิราเวียร์ ได้ทันที ซึ่งผู้ที่เข้าเกณฑ์จะต้องได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ คือ กลุ่มเสี่ยงสูงที่เป็นผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัว กลุ่มผู้ติดเชื้อสีเขียวที่มีอาการค่อนข้างมาก เช่น ไข้สูง ไอมาก มีแนวโน้มว่าจะเปลี่ยนไปเป็นสีเหลือง และกลุ่มผู้ป่วยสีเหลือง

เบื้องต้นกระทรวงสาธารณสุขมียาฟาวิพิราเวียร์ เตรียมไว้แล้ว 200,000 เม็ด แต่หากเป็นตามที่คาดการณ์ อาจจำเป็นต้องใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ทั้งหมด 600,000 เม็ด ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะต้องเร่งจัดหาเพิ่มเติม

หากเป็นไปตามแผนที่วางไว้ คาดว่าจะช่วยลดอัตราการใช้เตียงในกรุงเทพฯ ได้กว่า 3 หมื่นเตียง ในช่วง 2 – 3 สัปดาห์หลังจากนี้ ซึ่งจะช่วยลดภาระบุคลากรทางการแพทย์หน้างาน รวมถึงการส่งออกผู้ติดเชื้อไปยังต่างจังหวัด

ก่อนหน้านี้ชมรมแพทย์ชนบท เคยนำทีมลงพื้นที่ตรวจหาเชื้อมาแล้ว 2 ครั้ง ตรวจหาเชื้อได้กว่า 51,000 คน พบเชื้อกว่า 7,000 คนโดยในรอบที่ 3 นี้ มีทีมแพทย์ชนบทจากทั่วประเทศเข้าร่วม 38 ทีม แบ่งเป็นทีมจากภาคเหนือ 7 ทีม ภาคกลาง  9 ทีม และภาคตะวันออก 2 ทีม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 11 ทีม และภาคใต้ 9 ทีม