‘วีแฟร์’ กดดันรัฐ “เพิ่มงบฯ สวัสดิการประชาชน” เตรียมฟ้องพรรคการเมืองผิดสัญญาหาเสียง

จี้ รัฐบาลตัดงบฯ กลาโหม เติมสวัสดิการประชาชน เตรียมเคลื่อนไหวก่อนร่าง พ.ร.บ.งบฯ ปี 65 เข้าวาระ 2 วางแผนฟ้องพรรคการเมืองไม่ขยับนโยบายตามสัญญา

วันนี้ (31 ก.ค. 2564) เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม หรือ We Fair จัดเวทีเสวนาออนไลน์ ชวนแนวร่วมภาคประชาสังคมกว่า 50 คน หารือในหัวข้อ “จากวัคซีนโควิดถึงวัคซีนทางสังคม : Priority รัฐสวัสดิการ ใน พ.ร.บ. งบประมาณ 2565 วาระ 2” นำโดย นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท, นิมิตร์ เทียนอุดม เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ, สุนี ไชยรส เครือข่ายเด็กเท่ากัน, ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ และ วรรณวิภา ไม้สน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2565 สนทนาถึงข้อเสนอการพิจารณาแปรญัตงบฯ ปี 2565 วาระ 2 ซึ่งจะมีขึ้นช่วงกลางเดือนสิงหาคมนี้

สุนี ไชยรส เครือข่ายเด็กเท่ากัน

สุนี ไชยรส ตัวแทนจากเครือข่ายเด็กเท่ากัน เปิดประเด็นเกี่ยวกับสถานโควิด-19 ซึ่งพบการติดเชื้อในครอบครัวที่มีเด็กเล็กอยู่ด้วยเพิ่มขึ้น กล่าวว่า นอกจากอุปสรรคการเข้าถึงการรักษา สภาวะเศรษฐกิจครอบครัวที่มีรายได้รายวันแต่ไม่สามารถทำงานได้ เป็นสถานการณ์ที่แย่ที่สุดสำหรับเด็กในเวลานี้ ทำให้ต้องย้อนไปที่สวัสดิการเงินอุดหนุนเด็ก 0-6 ปี ในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ต้องทำให้เกิดการจัดสรรแบบถ้วนหน้าให้ได้ตามคำสัญญาของรัฐบาล

เนื่องจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้พิจารณากำหนดงบฯ ให้เด็ก 0-6 ปี คนละ 600 บาท/เดือน ได้ประมาณ 2 ล้านคน ในวาระแรก 16,659.49 ล้านบาท ไม่สอดคล้องกับมติคณะกรรมการส่งเสริมเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (กดยช.) ที่มี จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมพิจารณาเห็นชอบให้รัฐบาลจัดเงินอุดหนุนเด็กเล็ก 0-6 ปี เดือนละ 600 บาท แบบถ้วนหน้า สำหรับเด็ก 4.2 ล้านคน เริ่มปีงบประมาณ 2565

ตัวแทนเครือข่ายเด็กเท่ากัน เสนอให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาแปรญัตร่าง พ.ร.บ.งบฯ ปี 2565 ในวาระ 2 ในส่วนงบประมาณรายจ่ายงบกลาง 5 แสนล้านบาท มาจัดสรรเป็นเงินอุดหนุนเด็ก 0-6 ปี แบบถ้วนหน้าที่ขาดอยู่ประมาณ 15,000 ล้านบาท ให้เด็กเล็กได้รับสวัสดิการเหมือนประชาชนทุกกลุ่ม หรือแปรญัตติจากงบฯ กระทรวงกลาโหม

“คิดดูสิคะงบฯ สาธารณสุขใจสถานการณ์แบบนี้ ได้รับการจัดสรรแสนกว่าล้าน แต่งบฯกลาโหมได้อันดับ 4 ถึง 2 แสน 3 พันล้านบาท กระทรวงแรงงานพ่อแม่ตกงานเยอะแยะ ได้งบฯ ลดลง รัฐบาลมักจะตอบว่าไม่มีเงิน ยุทธศาสตร์มันจึงผิดพลาด ทั้งที่มีเงินทำวัคซีนทางสังคมได้ ตอนนี้รัฐบาลต้องตัดสินใจได้แล้วจะให้รอแค่กมธ. งบประมาณ ตัดให้ได้นิดหน่อยไม่ได้ กดยช. นายกฯ เป็นคนตั้ง รองนายกฯ เป็นประธาน มีมติออกมาแล้วว่าปีงบฯ 65 ต้องให้เด็ก 4.2 ล้านคนได้รับการดูแลถ้วนหน้า ยุบเลยดีไหม กดยช. ตั้งขึ้นมาเสียเวลาประชุมเปล่า ๆ ถ้าสุดท้ายทำอะไรไม่ได้” 

ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ
วรรณวิภา ไม้สน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล

ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ และ วรรณวิภา ไม้สน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2565 กล่าวถึงความคืบหน้าการประชุมคณะกรรมาธิการฯ ระหว่างวันที่ 30 ก.ค. และวันนี้ว่า กรรมาธิการฯ ทั้งจากฝ่ายค้านและรัฐบาลเห็นด้วยว่างบประมาณ ปี 2565 ควรไปถึงประชาชนมากกว่านี้ ปัจจุบันงบฯ ส่วนใหญ่ถูกจัดสรรให้ส่วนราชการเป็นรายจ่ายประจำ เงินเดือนและสวัสดิการ ส่วนงบฯ ดูแลประชาชนถูกปรับลด

แต่เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 2560 ให้อำนาจคณะกรรมาธิการฯ ทำได้เพียงพิจารณาตัดงบฯ ในส่วนที่เห็นว่ายังไม่มีความจำเป็น ไม่สามารถตัดสินใจเพิ่มงบฯ ได้ จึงพบปัญหาว่ากระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ไม่ได้เสนอของบฯ เพื่อจัดสรรให้เด็ก 0-6 ปี เดือนละ 600 บาท แบบถ้วนหน้ามาตั้งแต่ต้น ทำให้ในชั้นกรรมาธิการฯ ไม่สามารถเพิ่มงบฯ ให้ได้ ความหวังสุดท้ายขึ้นอยู่กับฝ่ายบริหารที่จะให้ความสำคัญในการพิจารณาแปรญัตติในวาระ 2

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท

ด้าน นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท ได้ฉายภาพภารกิจแพทย์ชนบทบุกกรุง คัดกรองเชิงรุกชุมชนแออัดและแคมป์คนงานก่อสร้าง ทั่วกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่ดำเนินการมาแล้ว 2 ครั้ง และเตรียมปฏิบัติภารกิจครั้งที่ 3 ในวันที่ 4-10 ส.ค. นี้ พบตัวเลขที่น่ากังวลคือ พบการติดเชื้อในชุมชนตั้งแต่ร้อยละ10 ถึงร้อยละ 30 ส่งผลต่อการเข้าถึงการรักษาและคุณภาพชีวิตของประชาชนในขณะนี้ ประธานชมรมแพทย์ชนบท มีข้อเสนอให้รัฐบาลจัดสรรวัคซีนทางสังคมด้วยรัฐสวัสดิการที่มีผลต่อการควบคุมโควิด-19 ดังนี้

1) ต้องช่วยให้ประชาชนเข้าถึงชุดตรวจคัดกรอง Antigen Test Kit ได้อย่างสะดวก และไม่มีค่าใช้จ่าย ปัจจุบันแม้เข้าถึงได้ในร้านขายยา แต่ราคายังสูงถึงชุดละ 200-400 บาท

2) ต้องช่วยให้ผู้ติดเชื้อได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ และฟ้าทะลายโจร ตั้งแต่ขั้นตอนการรักษาตัวที่บ้าน หรือ Home Isolation เพราะการเข้าถึงยาได้เร็ว หมายถึงการตัดวงจรเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งปัจจุบันผู้ติดเชื้อที่เข้ารักษาไอซียู มีโอกาสเสียชีวิตถึงร้อยละ 70

3) ต้องช่วยให้ประชาชนได้รับวัคซีนทุกคนแบบไม่มีอุปสรรค และไม่มีค่าใช้จ่ายทุกยี่ห้อ

4) ต้องไม่ล็อกดาวน์แบบเหมารวมทั้งประเทศ แต่ให้ล็อกดาวน์ในพื้นที่ระบาดสูง และเยียวยาในอัตราที่เพียงพอกับการดำรงชีวิต

“ผมเข้าใจว่าการควบคุมโรคต้องมีการล็อกดาวน์ แต่การล็อกดาวน์ที่ดีต้องไม่ใช่ทั้งประเทศอย่างที่เป็นอยู่ เช่น ล็อกดาวน์คลองเตย ล็อกดาวน์ดินแดง ล็อกดาวน์ไซต์ก่อสร้างการเยียวยานี่แหละคือหัวใจ ถ้าล็อกดาวน์มีให้แค่ข้าวกิน 3 มื้อ ไม่พอ เพราะล็อกดาวน์แล้วค่าไฟค่าน้ำขึ้นตลอด ไฟแนนซ์ยังทำงาน ดอกเบี้ยยังเดินตลอดจะแก้ปัญญาไม่ได้ ดังนั้นการเยียวยาจึงต้องหมายถึงการทำให้ประชาชนมีรายได้พอสมควรในการดูแลชีวิตตามอัตภาพ ซึ่งผมคิดว่าเป็นสิ่งที่รัฐบาลหรือท้องถิ่นจะต้องจัดการการเยียวยาผู้คน และประสิทธิภาพในการควบคุมโรคจะดีขึ้นมาก”

นิมิตร์ เทียนอุดม เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ

สอดคล้องกับ นิมิตร์ เทียนอุดม เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ที่กล่าวว่า ลำพังเพียงระบบหลักประกันสุขภาพที่ดูแลประชาชนในเวลานี้ ไม่เพียงพอต่อการควบคุมโรค เนื่องจากผู้ติดเชื้อที่เพิ่มต่อเนื่องมีผลต่อการตัดสินใจเข้ารับการรักษา บางคนยังใช้ชีวิตตามปกติเพราะต้องเลือกทำงานหารายได้ จึงเห็นว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องจัดสรรวัคซีนทางสังคม ให้ประชาชนได้รับการเยียวยาที่เพียงพอไม่น้อยกว่าเส้นความยากจน ทั้งในระหว่างการรักษา และการใช้ชีวิตช่วงล็อกดาวน์

นอกจากนี้ มีข้อเสนอเพิ่มเติมว่ามาตรการเยียวยาในสถานการณ์ปัจจุบัน ควรมีส่วนที่ช่วยเหลือเป็นเงินสด ให้ผู้ได้รับผลกระทบใช้จ่ายตามความจำเป็นของแต่ละคน เช่น ค่าเช่าบ้าน ซึ่งมาตรการคนละครึ่ง หรือการเพิ่มเงินช่วยเหลือผู้สูงอายุ ยังไม่ตอบโจทย์นี้ และมีการให้ลงทะเบียนในรูปแบบเงินสงเคราะห์ที่ต้องลุ้นทุกครั้ง

“คนที่มีรายได้รายวัน การเจ็บป่วยคือการล้มละลาย ค่าอยู่ค่ากินระหว่างเจ็บป่วยยังมีอยู่ คำถามก็คือว่าเราจะเบิกรัฐสวัสดิการที่เป็นหลักประกันทางรายได้โดยที่ไม่รอให้เจ็บป่วยได้ไหม อันนี้เป็นรากฐานที่เราต้องมาผลักดันเรื่องบำนาญประชาชนที่สัมพันธ์กับทุกช่วงอายุ ทำให้ทุกคนมีหลักพิงช่วงเจ็บป่วย ระหว่างเจ็บป่วย และระหว่างหยุดงานมาดูแลคนในครอบครัว แต่รัฐบาลปัดตกร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องไปแล้ว 5 ฉบับ ถ้าประชาชนดูแลตัวเองไม่ได้จนพ้นภาวะวิกฤต มาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมโรคก็สำเร็จได้ยาก”

นิมิตร์ กล่าวต่อไปว่า มาตรการดูแลประชาชนในสถานการณ์โควิด-19 จำเป็นต้องครอบคลุมแรงงานข้ามชาติ และทุกคนในประเทศไทย เนื่องจากทุกคนใช้ชีวิตร่วมกันในสังคม การเข้าถึงมาตรการตรวจคัดกรอง รักษา ฉีดวัคซีน หากจัดสรรได้เฉพาะคนไทย จะไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคในภาพรวมให้พ้นจากภัยพิบัติรอบนี้ได้

ช่วงท้ายการเสวนา We Fair มีข้อสรุปที่เห็นตรงกัน คือ 1) การเตรียมการออกไปเคลื่อนไหวเรียกร้องที่หน้ารัฐสภา ให้ผู้แทนราษฏรเห็นความสำคัญของการพิจารณาเพิ่มสวัสดิการประชาชนใน  พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2565 2) เตรียมผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีข้อจำกัดในการทำหน้าที่ของคณะกรรมาธิการ 3) เตรียมยกระดับการถามหาความรับผิดชอบของพรรคการเมือง ที่เคยหาเสียงไว้เกี่ยวกับการเพิ่มสวัสดิการประชาชน ทั้งการเพิ่มเงินอุดหนุนเด็กเล็ก เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ คนพิการ ฯลฯ ที่ไม่ดำเนินการตามนโยบาย โดยจะศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อเดินหน้าฟ้องร้องต่อไป

Author

Alternative Text
AUTHOR

ศศิธร สุขบท

มนุษย์ช่างฝัน ชอบสร้างสรรค์ข่าวเชิงบวก มีพรรคพวกชื่อจินตนาการ แสนสุขกับงานขับเคลื่อนสังคม