“ไม่เอาเขตเศรษฐกิจพิเศษ” ภาคประชาสังคม หนุน “เศรษฐกิจท้องถิ่น” เป็นวัคซีนสามัญประจำภาคใต้

“เศรษฐกิจฐานราก เศรษฐกิจเกื้อกูล เศรษฐกิจเพื่อสังคม และเศรษฐกิจดิจิทัล” รวมแนวคิดการพัฒนาระบบเศรษฐกิจภาคใต้ จากมุมมองของภาคประชาสังคม

สภาผู้ชมผู้ฟังรายการ ภาคใต้ ไทยพีบีเอส ร่วมกับ มูลนิธิภาคใต้สีเขียว เครือข่ายเขียนอนาคตประเทศไทย และภาคีสมัชชาประชาชนภาคใต้ จัดเวทีเสวนา “ฤๅ ระบบเศรษฐกิจเกื้อกูล จะเป็นวัคซีนสามัญประจำภาคใต้?” เพื่อระดมความคิด หาแนวทางการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้อย่างยั่งยืน

เจกะพันธ์ พรหมมงคล ที่ปรึกษาสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการ ภาคใต้ ระบุว่า ที่ผ่านมารัฐมีโครงการขนาดใหญ่ที่วางแผนจะเดินหน้าในพื้นที่ภาคใต้ ผ่านแนวคิดเขตเศรษฐกิจพิเศษ 14 จังหวัดภาคใต้ แต่โครงการเหล่านี้จะช่วยแก้วิกฤตเศรษฐกิจยุคโควิด และจะเป็นประโยชน์อย่างยั่งยืนต่อคนในพื้นที่ ได้จริงหรือไม่?

พร้อมอธิบายว่า ปัจจุบันมีการผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.การขุดคลองไทยและเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ พ.ศ. … ในพื้นที่จังวัดกระบี่ ตรัง พัทลุง นครศรีธรรมราช สงขลา มีแผนส่งเสริมการท่องเที่ยวใน 6 จังหวัด อันดามัน มีโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ ในจังหวัดระนอง ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และดูเหมือนว่าเป้าหมายการพัฒนาภาคใต้ของภาครัฐ มุ่งเน้นตอบสนองการบริโภคของโลก ดังนี้

  1. การพัฒนาภาคใต้ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว
  2. อุตสาหกรรมแปรรูปยางพาราและปาล์มน้ำมัน
  3. พัฒนาการผลิตสินค้าเกษตร
  4. โครงสร้างพื้นฐาน คมนาคมขนส่ง เขื่อน อ่าน โรงไฟฟ้า โรงกลั่นน้ำมัน 
  5. เขตอุตสาหกรรมใหม่เชื่อมโยงการค้าโลก

เนื่องจากภูมิศาสตร์ของพื้นที่ภาคใต้เป็นที่หมายปองของนายทุนทั้งโลก เนื่องจากสะดวกในการขนส่งทางเรือ สามารถส่งสินค้ากระจายไปได้ทั่วโลก ทำเลยุทธศาสตร์ทางการค้า มีความพร้อมสูง ด้วยวัตถุดิบทั้งประมง น้ำจืด และแหล่งพลังงาน โดยปัจจัยที่ทำให้ภาครัฐพยายามออกนโยบายขยายจาก EEC หรือเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก มาเป็น SEC หรือเขตเศรษฐกิจภาคใต้แทนเนื่องจากภาคตะวันออกถูกพัฒนาเชิงอุตสาหกรรมมากว่า 50 ปี ส่งผลเสียต่อระบบนิเวศ ทรัพยากรธรรมชาติร่อยหรอ มีปัญหาขาดแคลนน้ำจืด

ซึ่งกระบวนการเปลี่ยนผ่านจากพื้นที่อาศัยสู่พื้นที่อุตสาหกรรมทางนโยบายเพื่อเปลี่ยนวิถีคนใต้ เห็นได้จากการสนับสนุนให้ทำการเกษตรเชิงเดี่ยว จากเคยพึ่งพาตัวเองได้ก็ต้องหันมาพึ่งพาระบบบริการแทน การจำกัดสิทธิชาวบ้านในการเข้าถึงทรัพยากร แต่ส่งเสริมคุ้มครองนักลงทุน เอื้อประโยชน์ต่อนายทุน

เมกะโปรเจกต์ของรัฐ ไม่ใช่วัคซีนที่จะมาช่วยแก้วิกฤตเศรษฐกิจได้เพราะเป็นโครงการที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมในการออกแบบหรือกำหนดทิศทางการพัฒนา คาดว่าผู้ได้ประโยชน์หรือกำไรส่วนใหญ่ไม่ใช่ชาวบ้านในพื้นที่แต่เป็นกลุ่มทุน หากชาวบ้านจะได้ประโยชน์ก็มีแค่รายได้ขั้นต่ำ พร้อมย้ำว่าเมกะโปรเจกต์จะทำลายฐานทรัพยากรในพื้นที่ ทำให้ประชาชนเดือดร้อนจากการเวนคืน หรือทนทุกข์กับปัญหาในพื้นที่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

หากดูจากระบบเศรษฐกิจภาคใต้จะพบว่า ส่วนใหญ่เน้นการทำเกษตรกรรมเป็นหลัก รองลงมาคืออุตสาหกรรมเล็กและขนาดกลาง ซึ่งเกิดขึ้นเพื่อต่อยอดผลผลิตการเกษตร และการค้าส่งค้าปลีก ในส่วนพื้นที่อ่าวไทยเน้นหนักด้านการทำเกษตรประมง ในพื้นที่อันดามันเน้นประมงและการท่องเที่ยว ส่วนสามจังหวัดเป็นการค้าชายแดน จึงเห็นได้ชัดเจนว่ารัฐไม่ได้ออกนโยบายที่คำนึงถึงระบบเศรษฐกิจเดิมที่มีอยู่ เพื่อสร้างประโยชน์ต่อยอดแต่อย่างใด

หากดูจากสถิติอาชีพรายได้มั่นคงของคนใต้ อันดับแรกคือเกษตรที่มีเจ้าของที่ดิน สองผู้ปฏิบัติงานวิชาชีพ (ทุนท้องถิ่นในพื้นที่) และนักวิชการ ส่วนสามอันดับรั้งท้าย คือ คนงานเกษตร เสมียน พนักงานผู้ให้บริการ และผู้ปฏิบัติงานผลิต ซึ่งนโยบายของรัฐจะมาสนับสนุนแค่อาชีพหลังเท่านั้น

นอกจากนี้ยังพบว่า สัดส่วนประเภทอาชีพ คือ พืชเกษตร เช่น ปาล์มน้ำมัน และยางพารา ร้อยละ 72.5 อยู่ในภาคประมงทะเล ร้อยละ 90 เรือประมงขนาดเล็ก ร้อยละ 70 ประมงเชิงพาณิชย์ ร้อยละ 30 และมีมูลค่าการท่องเที่ยวอีก 574,773.6 ล้านบาท แทนที่จะเกิดการพัฒนาต่อยอดแต่ที่ผ่านมากลับพบว่า การพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้ไม่ต่อเนื่อง และไร้ทิศทาง

นโยบายรัฐบาลไม่ต่อเนื่อง ไม่เคยมีการกำหนดทิศทางร่วมกัน ในแต่ละรัฐบาลเลย ผลผลิตทางการเมือง ไม่มีมาตรฐานรองรับคนในพื้นที่ จะส่งเสริมการท่องเที่ยวก็เน้นกลุ่มท่องเที่ยวหลัก ท่องเที่ยวชุมชนไม่ได้รับการส่งเสริม เน้นการส่งเสริมทุนขนาดใหญ่ แต่ไม่เอื้อกลุ่มทุนขนาดเล็ก ชาวบ้านจะทำอะไรทีก็ทำงานกันลำบาก

ประสิทธิชัย หนูนวล เลขาธิการมูลนิธิภาคใต้สีเขียว นำเสนอแนวคิดเศรษฐกิจเกื้อกูล Support Economy โดยเชื่อว่าจะเป็นอนาคตของเศรษฐกิจภาคใต้ กล่าวว่า ที่ผ่านมาตลอดระยะเวลา 50 ปีที่ ระบบเศรษฐกิจผิดเพี้ยนไปไม่เป็นอย่างที่ควรจะเป็น โดยพบว่ามีระบบการผู้ขาดอยู่ในทุกระบบ ยิ่งพัฒนายิ่งเกิดขึ้นรวยมากขึ้นในกลุ่มคนจำนวนน้อย คนหยิบมือเดียวครอบครองทรัพยากรขนาดใหญ่มากขึ้น ขณะที่คนจำนวนมากมีโอกาสในการครอบครองน้อยลง ประกอบกับปัญหาด้านทรัพยากรธรรมชาติที่ทรุดโทรมมากขึ้น เป็นสัญญาณว่าไม่สามารถใช้แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจในรูปแบบของรัฐเดินหน้าต่อไปได้

พร้อมอธิบายข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติว่า ภาคใต้มีสถานประกอบการ 310,935 แห่ง ร้อยละ 98 เป็นสถานประกอบการขนาดเล็ก มีฐานการผลิตอุตสาหกรรม รูปแบบส่วนบุคคล ต่างชาติร่วมลงทุนน้อยคนท้องถิ่นเป็นเจ้าของเอง ซึ่งการพัฒนาโดยไม่คำนึงต้นทุนที่มีอยู่เท่ากับทำลายระบบเศรษฐกิจดั้งเดิม

ถ้าเราจะเอาเมกะโปรเจกต์ไปใส่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งของภาคใต้ หมายถึงว่าระบบเศรษฐกิจของภาคใต้ที่มีอยู่เดิมจะถูกทำลาย เราต้องรื้อนิยามเศรษฐกิจใหม่ ถ้าวัดด้วยการเติบโตของตัวเลขจีดีพี ก็จะเลือกเมกะโปรเจกต์ แต่ถ้าเรายึดเศรษฐกิจที่กระจายความเจริญและเป็นธรรม แสดงว่าเศรษฐกิจจะเปลี่ยนไปเลยถ้านิยามเปลี่ยน

พร้อมขยายความถึงองค์ประกอบของเศรษฐกิจที่เป็นธรรม คือ 1.กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับภูมิศาสตร์และระบบนิเวศ 2.ผู้ออกแบบทางเศรษฐกิจ ต้องเป็นประชาชน 3.กระบวนการเชื่อมโยง เศรษฐกิจภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง 4.กำหนดตำแหน่งพื้นที่ให้เหมาะสม กำหนดการพัฒนาที่หลากหลาย สอดคล้องกับตำแหน่งของพื้นที่

ภาครัฐต้องสร้างการบริโภคภายในท้องถิ่น ในลักษณะการแปรรูปเพิ่มมูลค่า ให้มีการกำหนดตำแหน่งพื้นที่อุตสาหกรรม และส่วนเศรษฐกิจอื่นๆ ให้นิยามอำนาจการบริหารจัดการอยู่กับประชาชน เพื่อเกิดระบบเศรษฐกิจที่เคารพนิเวศ และชีวิตผู้คน

ปกรณ์ ปรีชาวุฒิเดช ผู้จัดการสาขาภาคใต้ตอนล่าง สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) มองว่า รัฐควรส่งเสริมให้เกิดภูมิเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับสังคมวัฒนธรรมไทย สร้างความเกื้อกูลและแบ่งปัน ให้เรียนรู้ความเปลี่ยนแปลง และเปลี่ยนมุมมองใหม่ ตั้งคำถามว่าทำอย่างไรที่จะเกิดการเติบโตอย่างยั่งยืน 

เนื่องจากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงโลกหลังโควิด-19 ทำให้เห็นความสามารถในการทำงานทางไกล การอาศัยอินเทอร์เน็ตดำเนินกิจการในหลายๆ กิจกรรม และมีการเว้นระยะห่างทางสังคม เกิดแนวคิดการปรับเมืองให้น่าอยู่ การสร้างเมืองอัจฉริยะ ซึ่งมุมมองของคนส่วนใหญ่มองโลกหลังโควิดเป็นอีกแบบหนึ่ง

การสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคมต่อข่าวลวงผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล การเฝ้าฟังเสียงทางสังคม และการใช้ข้อมูลเปิดภาครัฐ การบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตจะเป็นแบบอัตโนมัติโดยใช้อินเทอร์เน็ต จะเกิดขึ้น อุตสาหกรรมใช้แรงงานลดลง แรงงานในอุตสาหกรรมใหญ่จะออกมาข้างนอก ทุกคนมีความสนใจพัฒนาทักษะทางดิจิทัลมากขึ้น

ปกรณ์ ย้ำแนวคิดการบริหารจัดการทรัพยากรของเศรษฐกิจแบ่งปันว่าหมายถึง ระบบเศรษฐกิจที่กระจายความเป็นธรรมให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยต้องเริ่มจากการค้นหาศักยภาพทางเศรษฐกิจของพื้นที่ และพัฒนาต่อยอด การจำแนก และกำหนดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับพื้นที่ การใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาศักยภาพกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการเชื่อมโยงระหว่างกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ

การแมชชิ่ง เช่น เอาดิจิทัลไปจับกิจกรรมทางทะเล หลังจากจับสัตว์น้ำ ก็ถ่ายรูปทางอินเตอร์เน็ตมาโพสต์ และขายได้ก่อนที่ปลาจะมาถึงฝั่ง ชาวประมงก็จะรู้ว่าของที่มีจะขายใคร แต่ต้องอาศัยแพลตฟอร์ม ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการจัดการ และเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ให้ดีขึ้น

สินาด ตรีวรรณไชย อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ ได้นำเสนอแนวคิด เศรษฐกิจเพื่อสังคม: การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพื่อสังคมส่วนรวม ว่า เศรษฐกิจเพื่อสังคม ยึดหลักการแก้ปัญหาสังคม หากจะเกิดเศรษฐกิจเกื้อหนุนก็ต้องการตัวละครในกรอบคิดนี้เพื่อดำเนินการกิจกรรมเพื่อสังคม 

สินาด สะท้อนปัญหาสำคัญของภาคใต้ ว่าคือความเหลื่อมล้ำของโอกาส เช่น การศึกษา สาธารณสุข สวัสดิการ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ทะเลและชายฝั่ง ป่าไม้และแหล่งน้ำ และด้านนโยบายการพัฒนาพื้นที่ เช่น กระบวนการกำหนดนโยบาย การกระจายอำนาจ โดยหลักการในแง่ของกลไกการตลาด หากสภาพการณ์ในสังคมมีปัญหา รัฐต้องเข้ามาช่วย แต่ที่ผ่านมากลับพบว่ากระบวนการรัฐเข้าช่วยแก้ไขปัญหา นอกจากจะไม่สามารถช่วยได้ ยังทำให้สถานการณ์เลวร้ายขึ้น

เมื่อเรามองบทบาทภาครัฐ ว่าเข้ามาเพราะตลาดนั้นล้มเหลว เช่น ตลาดผูกขาด ตลาดไม่มีเสถียรภาพ ในเรื่องของราคาถ้ามันแกว่งมาก อาจส่งสัญญาณที่ผิดพลาดทางการเกษตร มีการปล่อยมลพิษ มีข้อขัดแย้งในการจัดการสมบัติสาธารณะ รัฐอาจต้องเข้ามาจัดการ แต่กลับพบว่า แทนที่จะเข้ามาช่วยจัดการ กลับมาซ้ำเติมปัญหาเดิมที่มีอยู่ เช่น เรื่องของทะเลและชายฝั่ง ที่มักจะมีการก่อสร้างโครงสร้างแข็งเพื่อป้องกันคลื่น ซึ่งนักวิชาการวิเคราะห์แล้วว่าไม่มีความคุ้มค่าในมุมมองทางสังคม จะสร้างปัญหาส่งผลให้เกิดการกัดเซาะ และเกิดผลเสียมากกว่าประโยชน์ แต่กระบวนการของรัฐเองไม่ได้การันตี และกลไกของรัฐก็เป็นสัตว์เศรษฐกิจที่มุ่งประโยชน์ส่วนตนเช่นเดียวกัน

สินาด กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวคิดเศรษฐกิจเพื่อสังคม (Social Economy) อาศัย 2 หลักการสำคัญคือ เป้าหมายที่ไม่ใช่กำไรแต่เป็นเป้าหมายที่สังคมต้องการ เพื่อประโยชน์ทางสังคม เช่น เป็นองค์กรที่มาดูแลความเสมอภาคทางการศึกษา เป็นวิสาหกิจชุมชนที่มาทำธุรกิจเพื่อรักษาแหล่งทรัพยากรของพื้นที่ และสร้างรายได้จากฐานทรัพยากรนั้น เป็นต้น ด้วยวิธีการแบบนั้นทำให้การจัดการองค์กรเพื่อสังคมแตกต่างจากธุรกิจทั่วไป 

องค์กรเศรษฐกิจเพื่อสังคม จะเริ่มจากเป้าหมายของสังคมก่อนว่าสังคมมีปัญหาอะไรก็จะเข้าไปแก้ ทำกิจกรรมเพื่อสังคมมากกว่าสะสมทุน เน้นความรับผิดรับชอบต่อสังคม เปิดรับการมีส่วนร่วมแบบประชาธิปไตย มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในสังคม เมื่อมีกำไรก็เอามาลงทุนที่ส่งประโยชน์ต่อสังคม เช่น การรักษาทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้