‘สุภิญญา’ ชี้ รัฐแก้ “เฟกนิวส์” ผิดจุด ออกกฎหมายโยนสื่อเป็นแพะ

อดีต กสทช. มอง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับที่ 29 เขียนให้ใช้ดุลยพินิจอย่างกว้าง ระบุ ให้อำนาจ กสทช. ตัดอินเทอร์เน็ต ขัดหลักกฎหมาย ผิดหลักปฏิบัติ ‘รมว.ดีอีเอส’ ชี้ ดูที่เจตนา

“รัฐใช้คำว่าเฟกนิวส์หรือ ข่าวลวง ทำให้สื่อมวลชนตกเป็นแพะ ทั้งที่จริง ๆ ปัญหาข้อมูลข่าวสารสับสบ หลอกลวง มาได้หลายทาง ทั้งต้นทางภาครัฐและประชาชนส่งต่อกันเอง เฟกนิวส์จึงเป็นวาทกรรมที่ผู้มีอำนาจบางประเทศใช้ดิสเครดิตการทำงานของสื่อที่เห็นต่าง และใช้เป็นเหตุผลปิดกั้น ควบคุมสื่อ”

สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งโคแฟค (ประเทศไทย) และอดีตกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยกับสื่อมวลชนเมื่อ 30 ก.ค. 2564 หลังเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 29) ในการควบคุมการนำเสนอเนื้อหาของสื่อมวลชนและผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ส่งผลให้มีความเคลื่อนไหวขององค์กรวิชาชีพสื่อสารมวลชน สื่อมวลชน และประชาชนเป็นวงกว้าง

เธอมองว่า หากดูตามประกาศฯ ฉบับที่ 29 เขียนให้ใช้ดุลยพินิจอย่างกว้างขวาง โดยหมายถึงข้อมูลข่าวสารที่ทำให้เกิดการหวาดกลัว ถือเป็นเรื่องเกินเลยที่รัฐจะนำมาใช้แก้ปัญหา เฟกนิวส์ เพราะข้อมูลจริง อาจจะเข้าข่ายผิดกฎหมายเหล่านี้ได้เช่นกัน และเป็นกฎหมายที่มี โทษทางอาญา เธอมองว่านี่เป็นเรื่องที่ ขัดหลักการสิทธิมนุษยชนสากล ที่จะปิดกั้นการแสดงออก และการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน และไม่ควรเป็นวิธีที่จะนำมาใช้แก้ปัญหา เฟกนิวส์

เฟกนิวส์ (Fake News) เป็นคำที่มีปัญหาในตัวเอง เพราะเป็นวาทกรรมที่ผู้มีอำนาจมักใช้ดิสเครดิต (ลดทอนความน่าเชื่อถือ) การทำงานของสื่อ เพราะว่า News แปลว่า ข่าว แต่ ข้อมูลข่าวสารที่ส่งต่อกันในอินเทอร์เน็ตไม่ใช่แค่ข่าว มันเรียกว่า ข้อมูล เพราะฉะนั้น พอเจาะจงใช้คำว่า เฟกนิวส์ หรือข่าวลวง ทำให้สื่อมวลชนตกเป็นแพะ ทั้งที่ปัญหาข้อมูลข่าวสารสับสบ หลอกลวงมาได้หลากหลาย ทั้งต้นทางภาครัฐ ประชาชนส่งต่อกันเอง หรือ อาจจะมาจากสื่อมวลชนด้วยก็ได้ เพราะฉะนั้นควรเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทุกฝ่าย

“การใช้วาทกรรมเฟกนิวส์มาดิสเครดิต เกิดขึ้นในบางประเทศที่ผู้มีอำนาจ ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่สื่อพูด ก็เลยใช้ตรงนี้เป็นเหตุผลปิดกั้น ควบคุมสื่อ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด…”

ส่ง 3 ข้อ แก้ Fake News สร้างระบบข้อมูลเปิด – อย่ามองสื่อเป็นศัตรู

เธอบอกว่าที่ผ่านมาหลายประเทศแก้ปัญหาข่าวลือ ข่าวลวง หลายวิธีโดยไม่ใช่การออกกฎหมายบังคับ

  1. การทำระบบข้อมูลเปิด (Open data) ให้ประชาชนค้นได้ทันท่วงที ยกตัวอย่าง วัคซีน หากถามคนไทยว่า เวลานี้ต้องเช็กข้อมูลวัคซีนจากเว็บไซต์อะไร เชื่อว่าจะได้คำตอบไม่เหมือนกัน สะท้อนว่ารัฐไม่สามารถประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้ได้ว่า จะเช็กข้อมูลที่ต้องการและถูกต้องได้จากที่ไหน ซึ่งถ้าทำได้จะช่วยลดข่าวลือ ข่าวลวง และความสับสนลงได้
  2. ร่วมมือกับสื่อสารมวลชน แทนการผลักไปอยู่คนละข้าง เรื่องนี้รัฐต้องมีทัศนคติ ไม่มองสื่อและประชาชนที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเป็นศัตรู ควรมองว่า เขาคือคนที่ต้องรับผิดรับชอบ รับฟัง และแก้ปัญหาตามสิ่งที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ น่าจะเป็นท่าทีที่สร้างสรรค์มากกว่า การผลักภาระ หรือ ออกกฎกติกามากมาย มาควบคุมกำกับบังคับ ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ผล เพราะคนจะต่อต้าน และไม่เชื่อมั่นรัฐ
  3. แก้ปัญหาระยะยาวด้วยการสร้างความเข้าใจเรื่องข่าวลวง ข่าวจริงด้วยองค์ความรู้

ให้อำนาจ กสทช. ตรวจสอบ IP Address ขัดหลักกฎหมายผิดหลักปฏิบัติ

อีกประเด็น คือ การให้อำนาจ กสทช. ตรวจสอบ IP Address และ ระงับการใช้งานอินเทอร์เน็ต ยิ่งเป็นเรื่องที่ไม่สมควรทำอย่างยิ่งในยุคที่โควิด-19 กำลังระบาด เพราะเป็นยุคที่ทั่วโลกส่งเสริมให้ประชาชนใช้ออนไลน์ Work from Home หรือทำงานที่บ้าน

“การที่มีนโยบายห้ามโพสต์ข้อความที่สร้างความหวาดกลัว คลุมเครือ สับสน และให้อำนาจ กสทช. ระงับ IP Address จะทำให้ทั่วโลกวิจารณ์ไทยว่า เราแก้ปัญหาไม่ถูกทาง และเข้าข่ายการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน…”

เธอบอกว่า ประเด็นนี้ไม่มีความชัดเจนในทางปฏิบัติ ว่าจะสามารถทำได้ เพราะ การให้อำนาจผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต หรือ ค่ายมือถือตัดเน็ตได้ทันที ซึ่งละเมิดรัฐธรรมนูญ ละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานแน่นอน เพราะอินเทอร์เน็ต คือสาธารณูปโภคที่สำคัญในยุคนี้ไม่แพ้ น้ำประปา และไฟฟ้า โดยเฉพาะยุคโควิด-19 ที่ต้องทำงานที่บ้านหรือเรียนออนไลน์ การที่รัฐตัดอินเทอร์เน็ตยิ่งเป็นการซ้ำเติมประชาชน แต่สิ่งที่รัฐควรทำ คือ ส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงอินเตอร์บอร์ดแบน ที่ราคาถูก เพื่อเด็กจะได้เรียนออนไลน์ได้

สุภิญญา ย้ำว่า ประกาศนี้คลุมเครือมาก และไม่แน่ใจว่าในทางปฏิบัติจะเป็นไปได้หรือไม่ โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่ประชาชน โพสต์ข้อความผ่านสื่อสังคมออนไลน์ แอปพลิเคชัน เช่น ทวิตเตอร์, เฟซบุ๊ก หรือไลน์ ซึ่งคนที่บริหารจัดการไม่ได้อยู่ในไทย การจะระงับได้ต้องผ่านการยินยอมของเจ้าของแอปฯ หลักสากล คือ การมีหมายศาล เจ้าของแอปฯ ถึงจะยอมให้เข้าถึง IP และระงับได้

ดังนั้น การเขียนตัดตอนในประกาศแบบนี้ ขัดหลักกฎหมาย หลักสิทธิมนุษยชน และหลักการปฏิบัติ หากทำจริงจะเกิดความสับสนอลหม่าน การที่รัฐออกมาปรามเช่นนี้ ไม่ได้ผล เพราะที่ผ่านมาเวลาประชาชนวิจารณ์ แล้วรัฐออกกฎหมายมาควบคุมสิ่งที่ได้คือ ประชาชนไม่กลัว และตอบกลับ สิ่งนี้จะยิ่งลดความน่าเชื่อต่อรัฐบาล เพราะมาตรการที่ออกมาผิดทั้งในเชิงปฏิบัติและหลักการ

‘ชัยวุฒิ’ แจง ดูที่เจตนา ต้องใช้กฎหมายพิเศษ เพราะข่าวลวงผลกระทบรุนแรง

ด้าน ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยในรายการเจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์ ว่า ต้องการจะบังคับใช้กฎหมายนี้กับคนไม่ดี คนที่มีเจตนาไม่หวังดีต่อบ้านเมือง ไม่ได้คิดจะลิดรอนสิทธิประชาชน หรือ จำกัดการทำงานของสื่อ

เช่น กรณีประชาชนเห็นเหตุการณ์มีคนนอนป่วยอยู่ริมถนน และถ่ายภาพโพสต์ลงอินเทอร์เน็ต หากเจตนาบริสุทธิ์ ไม่ได้คิดจะดิสเครดิตใครก็ไม่มีปัญหา แต่บางเคสเป็นการแกล้งถ่าย และเอามาโพสต์ จึงต้องดูที่เจตนา

โดยเป้าหมายของการบังคับใช้กฎหมาย เน้นใช้กับสื่อออนไลน์ หรือการใช้อินเทอร์เน็ตที่มีการโพสต์ที่ไม่เหมาะสมหรือผิดกฎหมาย เพราะช่องทางปกติ ต้องใช้การพิสูจน์นาน ทั้งการรวบรวมพยานหลักฐานส่งไปที่ศาลและใช้คำสั่งศาล ซึ่งบางทีอุทธรณ์ใช้เวลา 7-10 วัน ข่าวที่ออกมาทางอินเทอร์เน็ตมีความรุนแรงและสร้างความเสียหาย จำเป็นต้องรีบปิดโดยเร็ว จึงออกมาตรการนี้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน บางครั้งก็ต้องปิดให้เร็ว เพื่อไม่ให้ข้อมูลได้รับการแชร์ออกไปมาก

“เพื่อให้เร็วขึ้น เพราะกระบวนการตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ใช้เวลานาน ไม่ทันกับการแก้ปัญหา เพราะอินเทอร์เน็ตพอออกข้อมูลไปชั่วโมงสองชั่วโมงก็แชร์กันหมดแล้ว ฉะนั้น จึงต้องไวในการปิดกั้น” 

รมว.ดีอีเอส ยังบอกอีกว่า ผู้ที่จะมาตัดสินตามข้อกำหนดของกฎหมายฉบับนี้ว่าใครผิดไม่ผิด ตามหลักการจะเป็นเจ้าหน้าที่ของดีอีเอส ที่ดูเรื่องข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต และทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ กสทช. มีอำนาจตามกฎหมาย

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน