“ตรีนุช” เผย คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ 3 มาตรการ บรรเทาความเดือดร้อน “นักเรียน-ผู้ปกครอง-โรงเรียน” สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ รวม ปวช./ปวส. รับเงินเยียวยาคนละ 2,000 บาท พร้อมอัดฉีดค่าใช้จ่ายให้ 34,887 สถานศึกษา แก้ปัญหาความรู้ถดถอยจากโควิด-19
วันนี้ (27 ก.ค. 2564) ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติเห็นชอบโครงการให้ความช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ใน 3 มาตรการ วงเงินรวมเกือบ 22,000 ล้านบาท ดังนี้
มาตรการที่ 1 ลดภาระค่าใช้จ่ายในการเรียนรู้
ให้ความช่วยเหลือนักเรียน นักศึกษา ที่กำลังศึกษาอยู่ในสถานศึกษาสังกัด ศธ. ทั้งภาครัฐ เอกชน และสถานศึกษานอกสังกัด ศธ.ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ชั้นอนุบาล-ม.6 และระดับอาชีวศึกษา ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ในอัตรา 2,000 บาทต่อคน โดยจ่ายผ่านสถานศึกษาและให้สถานศึกษาจ่ายตรงให้แก่นักเรียน นักศึกษา หรือผู้ปกครองแล้วแต่กรณี ในรูปแบบของเงินสด หรือนำเข้าบัญชีธนาคาร จำนวนประมาณ 11 ล้านคน วงเงินรวมประมาณ 21,600 ล้านบาท
มาตรการที่ 2 ขอความร่วมมือโรงเรียนเอกชน ให้ลด หรือตรึงค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บจากผู้ปกครอง
ขอความร่วมมือกลุ่มโรงเรียนเอกชนที่ไม่รับการอุดหนุนจากรัฐ และกลุ่มโรงเรียนนานาชาติ ลดหรือตรึงค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บจากผู้ปกครอง ให้เท่ากับปีการศึกษา 2563 เพื่อไม่ให้เป็นการเพิ่มภาระแก่ประชาชนเกินสมควรและจัดตั้งศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหาค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองในโรงเรียนเอกชนกลุ่มโรงเรียนเอกชนที่ไม่รับการอุดหนุนจากรัฐและกลุ่มโรงเรียนนานาชาติ เพื่อใช้มาตรการตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 32 และ 34 ของพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 เป็นรายกรณี
มาตรการที่ 3 สนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติม แก้ปัญหาความรู้ถดถอย
การลดช่องว่างการเรียนรู้ (Learning Gaps) และลดผลกระทบด้านความรู้ที่ขาดหายไป (Learning Loss) ให้สถานศึกษาสามารถถัวจ่ายเงินที่ได้รับจัดสรรตามนโยบายเรียนฟรี 15 ปี ใน 5 รายการ ได้แก่ ค่าเล่าเรียนหนังสือเรียน อุปกรณ์การเรียน เครื่องแบบนักเรียน และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน เพื่อใช้ในการจัดการเรียนรู้ในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในปีการศึกษา 2564 ได้ พร้อมกันนี้จะสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดการเรียนรู้และแก้ปัญหาความปลอดภัยจากสถานการณ์โควิด-19 และจัดทำสื่อ อุปกรณ์การเรียนรู้ ให้กับโรงเรียนในสังกัด ศธ. จำนวน 34,887 แห่ง รวมวงเงินงบประมาณ 400 ล้านบาท
“การกำหนดกลุ่มเป้าหมายในการให้ความช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อน ยึดหลักการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ครอบคลุมทุกกลุ่มผู้เรียน ทั้งในสถานศึกษาทั่วไป ด้อยโอกาส ยากจน และกลุ่มเด็กพิการ และจากมติ ครม. ในครั้งนี้ จะทำให้ผู้เรียนทุกกลุ่มได้รับความช่วยเหลือและสนับสนุนค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเรียนและการดำรงชีวิต ทำให้มีความพร้อมในการเรียนในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ขณะเดียวกันสถานศึกษาก็ได้รับการสนับสนุน เพื่อให้สามารถจัดการเรียนรู้ ลดช่องว่างการเรียนรู้ และผลกระทบด้านความรู้ของนักเรียนนักศึกษาที่ขาดหายไป และในส่วนของผู้ปกครองที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ก็ได้รับการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของบุตรหลานเพิ่มเติมมากขึ้น”