‘โรงเรียนเอกชน’ กระอัก ส่อปิดกิจการ ผู้ปกครองค้างค่าเทอม ‘ครู’ ตกงานกระทันหัน กระทบ ‘เด็ก’ หาที่เรียนใหม่

‘ผู้บริหารโรงเรียน’ โอด กระทรวงศึกษาฯ ไม่เหลียวแล ด้าน ‘เลขาธิการ สช.’ ชี้ พยายามหมุนเงินอุดหนุนยื้อสถานการณ์ หลังโรงเรียนเอกชนสายสามัญ เลิกกิจการเซ่นพิษโควิด-19 ไปแล้วกว่า 50 แห่ง

การประกาศพื้นที่สีแดงเข้มเพื่อแก้ไขการระบาดโควิด-19 ส่งผลให้โรงเรียนต้องเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนเป็นออนไลน์ ออนแอร์ ออนดีมานด์ หรือ ออนแฮนด์ เท่านั้น

เมื่อนักเรียนไม่ได้ไปโรงเรียน ขณะที่ผู้ปกครองบางส่วนได้รับผลกระทบด้านรายได้ เป็นเหตุผลให้ไม่มีเงินจ่ายค่าบำรุงการศึกษา ทำให้โรงเรียนเอกชนสายสามัญหลายแห่งขาดทุนสะสม ถึงขั้นมีแนวโน้มต้องเลิกกิจการ

นวลละออ สาครนาวิน ผู้รับใบอนุญาตโรงเรียนนวลวรรณศึกษา ในเขตพระโขนง กรุงเทพฯ ซึ่งทำการสอนระดับปฐมวัยถึงประถมศึกษาปีที่ 6 บอกว่า ตั้งแต่เปิดโรงเรียนร่วม 30 ปี ไม่เคยมีปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน กระทั่งเกิดการระบาดโควิด-19 โดยเปรียบเทียบให้เห็นว่า ปีการศึกษา 2562 ก่อนระบาด ผู้ปกครองยังจ่ายค่าธรรมเนียมการเรียน และค่าธรรมเนียมอื่น ๆ 5,340,913 บาท จากยอดเต็ม 6,517,617 บาทคิดเป็นร้อยละ 81.95

ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ยอดเต็มอยู่ที่ 3,095,083.25 บาท เก็บได้จริงเพียง 352,900 บาท คิดเป็นร้อยละ 11.40 ยังมียอดค้างจ่าย 2,742,183.25 บาท ทบกับปีที่แล้วอีก 1,666,460 บาท ทำให้โรงเรียนขาดสภาพคล่องทางการเงินต่อเนื่อง

นวลละออ สาครนาวิน ผู้รับใบอนุญาตโรงเรียนนวลวรรณศึกษา

ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบ เนื่องจากโรงเรียนมีค่าใช้จ่ายประจำ คือ เงินเดือนครู ซึ่งแต่ละเดือนได้รับเงินอุดหนุนรายบุคคลนักเรียน 70% จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) กระทรวงศึกษาธิการ โดยเฉลี่ยเดือนละ 208,292.37 บาท แต่โรงเรียนมีภาระจ่ายเงินเดือนครูเฉลี่ยเดือนละ 295,976.33 บาท ยังไม่รวมเงินเดือนบุคลากร ค่าใช้จ่ายจิปาถะ เช่น ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าบำรุงรักษาสถานที่ รวมกันมากกว่าเดือนละ 100,000 บาท เมื่อผู้ปกครองไม่ได้ร่วมจ่ายค่าธรรมเนียมการศึกษาคิดเป็นสัดส่วน 30% ทำให้เงินอุดหนุนจากรัฐบาลไม่เพียงพอให้โรงเรียนพยุงการศึกษาต่อไปได้

“เราพยายามแก้ไขสถานการณ์ เพื่อให้โรงเรียนดำเนินกิจการต่อไปได้ ตั้งแต่หาแหล่งเงินกู้จากสถาบันการเงิน ขอผ่อนผันชำระหนี้เงินกู้จากกองทุนส่งเสริมโรงเรียนในระบบ ขอกู้ยืมเงินเพิ่ม จากกองทุนส่งเสริมโรงเรียนในระบบ ซึ่งยังไม่ได้รับการอนุมัติให้กู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินใด และการขอกู้ยืมเงินเพิ่มเติมจากกองทุนฯ โรงเรียนก็ไม่ผ่านคุณสมบัติที่จะกู้ยืมเงิน 3 ล้านบาท เนื่องจากมีเกณฑ์ว่าต้องมีเงินคงเหลือแต่ละเดือน 40% ของเงินอุดหนุนจาก สช. ตอนนี้ได้รับการผ่อนผันชำระหนี้กู้ยืมจากกองทุนฯ เพียงอย่างเดียว”

ผู้รับใบอนุญาตโรงเรียนนวลวรรณศึกษา บอกว่า อยากให้เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ หาแนวทางช่วยเหลือเยียวยาเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับโรงเรียนเอกชนสายป่านธุรกิจสั้น สามารถดำเนินกิจการให้การศึกษาต่อไปได้ ไม่เช่นนั้นสิ้นเดือนสิงหาคมนี้คงต้องปิดกิจการ ทำให้ครูและบุคลากรร่วม 30 คนตกงาน ขณะที่นักเรียน 216 คน ต้องหาโรงเรียนใหม่

“เราทำโรงเรียนไม่ได้สักแต่ว่าทำไป พยายามทำทุกอย่างให้เด็กได้ดี ให้โรงเรียนมีคุณภาพ ถึงแม้ว่าเด็กไม่ได้มาโรงเรียน ครูก็ต้องทำงานไม่มีใครทำงานน้อยลงเลย ถ้าเราไม่ปิดโรงเรียนครูเขาก็ยังต้องสอน แล้วเราจะเอาเงินตรงไหนจ่ายเขา เราหมดแล้วเดือนนี้ อยู่ได้แค่สิ้นเดือนนี้ คาดหวังให้ สช. ช่วย หรือท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ยังไม่เห็นว่าเขาจะลงมามองโรงเรียนเอกชนเล็ก ๆ อย่างเรา”

• ชมเรื่องราว “โรงเรียนนวลวรรณศึกษา” โรงเรียนเอกชน ทนพิษโควิด-19 ไม่ไหว

เลขาธิการ สช.’ เปิดตัวเลขโรงเรียนเอกชนทยอยปิดกิจการ หวั่นซ้ำแผลคุณภาพการศึกษาไทยแย่กว่าเดิม

“ประสิทธิภาพในการเรียนรู้” คือโจทย์ด้านการศึกษา ที่สังคมอยากให้เกิดการแก้ปัญหาตั้งแต่ก่อนมีโควิด-19 เมื่อโรงเรียนเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนที่บังคับด้วยสถานการณ์โรคระบาด การแก้ปัญหา“คุณภาพการเรียนรู้” ที่มีอยู่เดิมไม่ง่าย แถมมีปัญหาใหม่ขนาดใหญ่ขึ้น

อรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เปิดข้อมูลกับ The Active ถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับโรงเรียนเอกชนในระบบ ซึ่งมีทั้งหมด 3,986 แห่ง แบ่งเป็นโรงเรียนสามัญศึกษา 3,760 แห่ง และโรงเรียนนานาชาติ 226 แห่ง รวมนักเรียน 63,275 คน

หากแบ่งตามขนาดโรงเรียน เป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียน 1-120 คน 2,065 แห่ง โรงเรียนขนาดกลางนักเรียน 121-600 คน 820 แห่ง โรงเรียนขนาดใหญ่นักเรียน 601-1,500 คน 773 แห่ง และขนาดใหญ่พิเศษที่มีนักเรียน 1,501 คนขึ้นไป 328 แห่ง

เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน อธิบายว่า การมีอยู่ของโรงเรียนเอกชน นับเป็นทางเลือกการเข้าถึงรูปแบบการศึกษาตามความพอใจ เมื่อภาพรวมการศึกษาของโรงเรียนรัฐบาลไทย ไม่สามารถจัดการศึกษาให้สังคมพึงพอใจได้ทั้งหมด การอนุญาตให้มีโรงเรียนเอกชนจึงเป็นการเปิดโอกาสทางการศึกษาที่แข่งขันกันในเชิงธุรกิจด้วยเรื่องคุณภาพ อีกด้านหนึ่ง คือช่วยให้ผู้เรียนในบางพื้นที่ได้เข้าถึงการศึกษาแบบไม่ต้องเดินทางไกล

สำหรับแนวทางกำกับดูแลโรงเรียนเอกชนของ สช. มีโรงเรียนที่ได้รับเงินอุดหนุนรายบุคคลนักเรียน 100% , 85% , 70% และ ไม่รับเงินอุดหนุน คือ ประเภทโรงเรียนนานาชาติ และโรงเรียนสามัญศึกษาที่สามารถบริหารจัดการค่าใช้จ่ายด้วยเงินค่าธรรมเนียมการศึกษาจากผู้ปกครอง ข้อมูล ณ วันที่ 15 ก.ค. 2564 มีโรงเรียนที่ไม่รับเงินอุดหนุนจาก สช. 225 แห่ง

ส่วนประเภทรับเงินอุดหนุน 100% คือ โรงเรียนเอกชนการกุศล โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาหรือมูลนิธิ มีทั้งหมด 633 แห่ง ประเภทนี้ยังได้รับเงินอุดหนุนรายบุคคลนักเรียนตามปกติ ทำให้ยังมีงบประมาณจ่ายเงินเดือนครู และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ขณะที่โรงเรียนประเภทรับเงินอุดหนุน 70-85% มีอยู่ 2,925 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนขนาดเล็กได้รับผลกระทบอย่างมาก เนื่องจากต้องไปเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการศึกษาจากผู้ปกครองเพิ่มเติมในสัดส่วน 15-30%

ข้อมูลจาก อรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการ สช.

เลขาธิการ สช. กล่าวว่า เดือนนี้มีความสำคัญอย่างมากต่อการบริหารงบประมาณเพื่อจัดสรรเงินอุดหนุนไปยังโรงเรียน เนื่องจากปีการศึกษา 2563 มีโรงเรียนกว่า 30 แห่ง เปลี่ยนใจขอรับเงินอุดหนุนรายบุคคลนักเรียน จากที่ไม่เคยรับ ทำให้ปีการศึกษา 2564 สช. มีภาระเงินอุดหนุนที่ไม่ได้เตรียมไว้ ขณะนี้ฝ่ายบริหารกำลังรวบรวมเงินเหลือจ่าย และตัดงบฯ จากส่วนราชการอื่นในกระทรวงศึกษาธิการ มาจัดสรรเป็นเงินอุดหนุนเดือนกันยายนซึ่งขาดอยู่ประมาณ 300 ล้านบาท

“ถ้าหากไม่สามารถหาเงินเหลือจ่ายจากส่วนราชการอื่นมาสมทบได้ ก็ไม่สามารถจ่ายเงินอุดหนุนให้กับโรงเรียนใน เดือน ก.ย. นี้ ได้ทุกแห่งเหมือนกัน สช. ได้เสนอ รมว.ศธ. พิจารณายกร่างระเบียบเรื่องการอุดหนุน ว่าต่อไปนี้ถ้าโรงเรียนจะมาขอเปลี่ยนเป็นรับเงินอุดหนุน ต้องยื่นล่วงหน้า 2 ปี เพราะเกี่ยวข้องกับการจัดสรรงบฯ ภาพรวม จะให้โรงเรียนยื่นปุ๊บได้ปั๊บเหมือนเดิมไม่ได้ งบประมาณมันช็อต ระเบียบเดิมเปิดเทอม 16 พ.ค. ก็ได้เลย ทั้งที่คุณยื่นขอตอนเดือน ก.พ.”

 ปิดโรงเรียนเอกชน ปิดทางเลือกคุณภาพการศึกษา

อรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการ สช. (ภาพจาก facebook สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กระทรวงศึกษาธิการ)

ตั้งแต่ 1 ม.ค. – 10 ส.ค. 2564 เลขาธิการ สช. เผยว่า มีโรงเรียนเอกชนขอเลิกกิจการไปแล้ว 25 แห่ง ในจำนวนนี้เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก 18 แห่ง ขนาดกลาง 2 แห่ง ขนาดใหญ่ 1 แห่ง โรงเรียนนานาชาติขนาดเล็ก 1 แห่ง และโรงเรียนที่ไม่มีนักเรียน 3 แห่ง โดยในปีการศึกษา 2563 หลังการระบาดโควิด-19 มีโรงเรียนขอเลิกกิจการในจำนวนใกล้เคียงกัน และคาดการณ์ว่าหลังจบปีการศึกษา 2564 จะมีโรงเรียนเอกชนขอเลิกกิจการเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าเท่าตัว โดยจะชัดเจนขึ้นหลังจบภาคเรียนที่ 1 ช่วงตุลาคมนี้

ในฐานะคนกลางที่ต้องดูแลผู้เรียนและผู้ปกครอง ซึ่งได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจและการเรียนรู้ แต่อีกด้านก็ต้องดูแลโรงเรียนให้ดำเนินกิจการต่อไปได้ เพื่อทำให้ทางเลือกเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพยังอยู่รอด ไม่ส่งผลซ้ำต่อคุณภาพการศึกษาภาพรวม เลขาธิการ สช. พยายามผลักดันให้เกิดมาตรการดังนี้

• ยกเว้นภาษี 

เนื่องจากขณะนี้ โรงเรียนส่วนใหญ่อยู่สภาวะขาดสภาพคล่องทางการเงิน แต่ยังมีค่าใช้จ่ายประจำที่ไม่ได้ลดลงตามมาตรการเรียนทางไกล ควรได้รับความช่วยเหลือด้านภาษีที่ยังจ่ายตามปกติ

• ปลดล็อกหลักเกณฑ์ “สินเชื่อฟื้นฟู” 

ปัจจุบัน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมาตรการทางการเงิน เพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่มีศักยภาพ แต่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งทุน และภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนักที่ต้องใช้เวลานานในการฟื้นตัว โดยให้กู้ยืมเงินกับสถาบันการเงิน เพื่อนำไปประคับประคองและฟื้นฟูธุรกิจให้สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ แต่คุณสมบัติผู้มีสิทธิ์เข้าร่วมไม่ครอบคลุมโรงเรียนเอกชน

“ผมมีโอกาสไปพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เรามีความหวังว่าในภาวะวิกฤตเช่นนี้ อย่างน้อยการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่รัฐบาลมีสินเชื่อฟื้นฟูอยู่ ขอให้โรงเรียนเอกชนมีโอกาสเข้าร่วมด้วย แต่สุดท้ายโดยกลไกอะไรผมก็ไม่เข้าใจ กระทรวงการคลังไม่มีอำนาจควบคุมธนาคาร จนถึงตอนนี้โรงเรียนเอกชนไปติดต่อธนาคารสาขา จะได้คำตอบว่าสำนักงานใหญ่ยังไม่สั่งการ ทุกที่อิดออดที่จะปล่อยสินเชื่อ เพราะไม่มีใครอยากได้โรงเรียนเป็นหลักค้ำประกัน”

• จัดตั้งกองทุนหมุนเวียน

เลขาธิการ สช. กล่าวว่า ขณะนี้เป็นปัญหาเร่งด่วน หากธนาคารไม่สามารถปล่อยสินเชื่อ เสนอให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณสำหรับจัดตั้งเป็นกองทุนหมุนเวียนโดยให้ สช. กับโรงเรียนบริหารจัดการกันเองเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

“รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ท่านบอกว่ารู้ปัญหาและพยายามขับเคลื่อนเข้าสู่ ครม. แล้ว แต่ไม่สามารถทำปุ๊บปั๊บวันสองวันได้ อย่าลืมว่าลูกจ้างครูที่เขาไม่มีเงินเดือนแค่เดือนเดียว มันหมายถึงกระทบเป็นลูกระนาดไปกว้างเลย วันเดียวเขาก็รอไม่ได้ เพราะฉะนั้นวันนี้ข้อเท็จจริงต้องยอมรับว่าโรงเรียนจำนวนมากไม่สามารถจ่ายเงินเดือนครูได้ ที่ผ่านมาวงการศึกษาเอกชนเข้ามาช่วยปิดช่องว่างคุณภาพการศึกษาของประเทศนี้ ถ้าหากว่าการศึกษาเอกชนไม่เข้ามาช่วย วันนี้ภาพรวมด้านคุณภาพการศึกษาน่าจะตกต่ำกว่านี้ แต่เรายังไปรับถ้วยรางวัลในระดับนานาชาติ ตรงนี้ผมมองว่า อย่าพยายามผลักให้เอกชนเป็นของเอกชน การจัดการศึกษาเป็นบริการสาธารณะ ปกติเป็นหน้าที่ของรัฐ แต่วันนี้เพียงแต่ภาคเอกชนเข้ามาช่วย เมื่อวันที่เกิดวิกฤติมันต้องอุ้มกันด้วย”

• ปล่อยสินเชื่อเพื่อการศึกษา

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้โรงเรียนขาดสภาพคล่องทางการเงิน คือ ผู้ปกครองค้างค่าเทอม และเหตุผลสำคัญที่ทำให้ผู้ปกครองค้างจ่าย เพราะหลายคนเงินขาดมือกระทันหัน เรื่องนี้ เลขาธิการ สช. มองว่า หากสถาบันการเงินมีเครดิตเพื่อการศึกษาบุตรกรณีพิเศษให้ผู้ปกครอง จะมีส่วนช่วยให้โรงเรียนได้รับค่าใช้จ่ายและจัดการศึกษาต่อไปได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง

ทั้งนี้ มาตรการที่กล่าวมาทั้งหมด ยังไม่สามารถผลักดันให้มีผลปฏิบัติในทางนโยบาย แต่ เลขาธิการ สช. รับปากว่าจะพยายามผลักดันต่อไป โดยคาดหวังให้รัฐบาลกล้าตัดสินใจทุ่มงบประมาณ เพื่อแก้ปัญหาการศึกษาแบบไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังอย่างแท้จริง

“วันนี้คนในวงการศึกษาได้รับผลกระทบอย่างหนัก ผมมองว่ารัฐบาลควรกล้าตัดสินใจทุ่มงบประมาณ ตัวเลขวงเงินอาจจะดูเยอะ ก็เพราะคนได้รับผลกระทบเยอะ อย่างการทุ่มเงินเยียวยานักเรียน 2 หมื่นกว่าล้าน ถึงผู้ปกครองต่อหัวคนละ 2,000 บาท ถ้ามอง 2,000 บาท ในแง่ปัจเจกบุคคล อย่างเก่งประชาชนก็อาจจะลากได้ถึงหนึ่งเดือน หรือช่วยค่าอินเทอร์เน็ตเพิ่มอีกเดือนละ 79 บาท ไม่ได้หมายความว่าทุกคนใช้ไม่เกิน 79 บาทแล้วปรากฏว่าให้ได้แค่เด็กบางส่วน โรงเรียนเอกชนไม่ได้”

รัฐบาลแถลงจุดยืนลดภาระทางการศึกษา ไม่มีคำว่า “เยียวยาโรงเรียนเอกชน

ล่าสุดวันนี้ (16 ส.ค. 2564) ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แถลงข่าวเปิดรายละเอียดมาตรการช่วยเหลือนักเรียน ผู้ปกครอง และสถานศึกษา ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

ซึ่งการให้ความช่วยเหลือที่เกี่ยวข้องกับโรงเรียนเอกชน มีเพียงการประกาศจะจ่ายเงินเยียวยานักเรียนคนละ 2,000 บาท ให้แก่นักเรียนระดับชั้นอนุบาล-มัธยมศึกษา ที่ได้รับเงินอุดหนุนรายบุคคลนักเรียนจากกระทรวงฯ และคำชื่นชมโรงเรียนเอกชนที่ให้ความร่วมมือ คืนเงิน และลดค่าใช้จ่ายทางการศึกษาให้กับผู้ปกครอง รวมกว่า 2,275 ล้านบาท โดยไม่มีมาตรการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประคับประคองโรงเรียนเอกชนที่ได้รับผลกระทบ

• อ่านเพิ่ม – ‘ตรีนุช’ ประกาศ เงินเยียวยา 2,000 บาท ถึงมือนักเรียนภายใน 7 วัน หลัง ศธ. ได้รับงบฯ

• อ่านเพิ่ม – 3.3 หมื่นล้าน “เยียวยาด้านการศึกษา” ใครได้อะไรบ้าง ?

Author

Alternative Text
AUTHOR

ศศิธร สุขบท

มนุษย์ช่างฝัน ชอบสร้างสรรค์ข่าวเชิงบวก มีพรรคพวกชื่อจินตนาการ แสนสุขกับงานขับเคลื่อนสังคม