ขึ้นทะเบียน “กลุ่มป่าแก่งกระจาน” มรดกโลกทางธรรมชาติ แห่งที่ 3 ของไทย

คณะกรรมการมรดกโลก สมัยสามัญ ครั้งที่ 44 ที่ประเทศจีน มีมติขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก นับเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งที่ 3 ของไทย สิ้นสุดการรอคอยหลังไทยพยายามผลักดันนานนับ 10 ปี

วันนี้ (26 ก.ค.64) เมื่อเวลาประมาณ 17.30 น.ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 44 ที่ประเทศจีน ซึ่งเป็นการประชุมทางไกล พิจารณาวาระของประเทศไทย เสนอกลุ่มป่าแก่งกระจานขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งที่ 3 ของไทย หลังจากเลื่อนการพิจารณามาแล้ว 2 ปี โดยที่ประชุมครั้งนี้มีมติ ขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกสำเร็จ


การประชุมครั้งนี้คณะผู้แทนไทยนำโดย สีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว อดีตเอกอัคราชทูตไทย ประจำกรุงปารีส และปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นหัวหน้าคณะ รวมทั้ง วราวุธ ศิลปอาชา รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติธรรมขาติและสิ่งแวดล้อม


โดยกลุ่มป่าแก่งกระจานถือเป็นแหล่งมรดกโลก แห่งที่ 6 ของประเทศไทย และเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ แห่งที่ 3 ของไทย ต่อจากการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ – ห้วยขาแข้ง ในปี 2534 และ กลุ่มป่าดงพญาเย็น – เขาใหญ่ ในปี  2548


สำหรับกลุ่มป่าแก่งกระจาน กินพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จ.ราชบุรี, เพชรบุรี และ ประจวบคีรีขันธ์ ครอบคลุมอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน, อุทยานแห่งชาติกุยบุรี, อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี รวมพื้นที่ 2,938,909.84 ไร่


พบสัตว์ป่า ไม่น้อยกว่า 700 ชนิด พืชพันธุ์นานาชนิด ทั้งพืชเฉพาะถิ่น ต่างถิ่น และเป็นศูนย์รวมความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย ถือเป็นสิ่งบ่งชี้ ความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศป่าแก่งกระจาน  


ด้วยความสำคัญของผืนป่าแห่งนี้ ทำให้ไทยในฐานะประเทศภาคีสมาชิกที่ได้ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ เห็นว่ากลุ่มป่าแก่งกระจานมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ เพื่อเสนอขึ้นบัญชีมรดกโลกทางธรรมชาติ


ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จึงเห็นความพยายามผลักดันเรื่องนี้ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยในวันที่ 4 ม.ค.2554 คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบ ให้เสนอพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน บรรจุในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น เพื่อเสนอต่อศูนย์มรดกโลกที่ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส  โดยไทยได้นำเสนอเอกสารการขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกตามลำดับ 


จนในปี 2556 ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 35 ก็มีมติเห็นชอบ ให้บรรจุพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน ในชื่อ Kaeng Krachan Forest Complex หรือ KKFC ในบัญชีรายชื่อเบื้องต้นตามที่ไทยได้เสนอ


จากนั้นการพิจารณาขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งที่ 3 ถูกเลื่อนการพิจารณามา 2 ครั้ง ครั้งแรกในปี 2560


ต่อมาในปี 2562 การประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 43  ณ กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน ที่ประชุมฯ เลื่อนการพิจารณาเป็นครั้งที่ 2 และให้ไทยกลับไปทำเอกสารเพิ่มเติมและส่งกลับมาพิจารณาใหม่โดยให้เวลา 3 ปี


โดยมีมติให้ไทยดำเนินการเกี่ยวกับชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน  3 เรื่อง คือ ข้อเรียกร้องของชุมชนกะเหรี่ยง, การแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชน และ การรับฟังความคิดเห็นต่อการเสนอพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก


ที่ผ่านมาการผลักดันกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ สวนทางกับปัญหาในพื้นที่ที่ยังคงเกิดขึ้น โดยเฉพาะชุมชนกะเหรี่ยง ในป่าแก่งกระจานที่ยังไม่มีความชัดเจนในแนวทางแก้ปัญหา ทั้งยังมีการเรียกร้องในประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน และการขอให้ฟื้นฟูวิถีชีวิต วัฒนธรรม ส่งผลให้องค์กรระดับชาติที่เกี่ยวข้อง แสดงความกังวลต่อปัญหาเหล่านี้ 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง : จับตา “ป่าแก่งกระจาน” มรดกโลก? #SAVEบางกลอย ย้ำปมละเมิดสิทธิชาติพันธุ์ วอน UNESCO เลื่อนคุย

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active