จับตา “ป่าแก่งกระจาน” มรดกโลก? #SAVEบางกลอย ย้ำปมละเมิดสิทธิชาติพันธุ์ วอน UNESCO เลื่อนคุย

ภาคี#SAVEบางกลอย ออกแถลงการณ์ ซัดรัฐบาล อ้างดูแลคุณภาพชีวิตชาติพันธุ์กะเหรี่ยงสวนทางข้อเท็จจริง ถูกละเมิดหนัก เผชิญปัญหาปากท้อง สุขภาพ วอนปฏิบัติต่อชาติพันธุ์ตามหลักสิทธิมนุษยชน เพื่อ “มรดกโลก” ที่สง่างาม ขณะที่ อดีตกรรมการปฏิรูป เสนอความเห็นถึงคณะกรรมการมรดกโลก หวังสร้างการเปลี่ยนแปลง บริหารจัดการคนกับป่าของไทย

วันนี้ (25 ก.ค.64) จากกรณีที่รัฐบาลไทยได้นำเสนอพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน เพื่อรับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยสามัญ ครั้งที่ 44  ระหว่างวันที่ 16 – 31 ก.ค. ที่ประเทศจีน โดยในวันที่ 26 ก.ค.นี้ จะพิจารณาเรื่องที่รัฐบาลไทยเสนอไป


เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ นักวิชาการอิสระ ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และอดีตกรรมการปฏิรูป (คปร.) โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุค ขอให้คณะกรรมการของยูเนสโก ช่วยพิจารณาสร้างการเปลี่ยนแปลงการบริหารจัดการป่าของไทยด่วน



โดยระบุว่า ได้ส่งบันทึกความเห็นเรื่องการพิจารณาป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกไปยังคณะกรรมการของยูเนสโกที่กำลังจะพิจารณาเรื่องนี้

ยืนยันความเห็นอยู่บนฐานประสบการณ์ที่เคยเข้าไปสำรวจชุมชนในผืนป่าแก่งกระจานก่อนประกาศอุทยาน และการร่วมพิจารณาปัญหาขัดแย้งในป่าแก่งกระจานขณะเป็นอนุกรรมการสิทธิมนุษยชน


จึงเอาใจช่วยและอยากเห็นความสำเร็จของทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนกะเหรี่ยงที่อยู่มาก่อนและอยากจัดการผืนป่าบนฐานวัฒนธรรมร่วมกับรัฐ  จึงอยากเห็นประเด็นความเป็นมรดกโลก เป็นจุดเริ่มเปลี่ยนแปลงความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชน ที่รัฐเป็นฝ่ายใช้อำนาจกฎหมายอพยพไล่รื้อชุมชนชาติพันธุ์ท้องถิ่นดั้งเดิมซึ่งละเมิดสิทธิมนุษยชน มาเป็นความร่วมมือ ใช้รูปแบบการจัดการร่วม และวิถีวัฒนธรรมชุมชนเป็นฐานในการดูแลจัดการผืนป่าแก่งกระจานให้สมบูรณ์ยั่งยืนสมกับเป็นมรดกของคนไทยและคนทั้งโลก

ขณะที่ ภาคี #SAVEบางกลอย ออกแถลงการณ์ เรียกร้องรัฐบาลไทย แก้ปัญหา “สิทธิมนุษยชน” ก่อนขึ้นทะเบียนมรดกโลกกลุ่มป่าแก่งกระจาน  


ในแถลงการณ์ ระบุว่า ก่อนหน้านี้รัฐบาลไทยพยายามนำเสนอข้อมูลผ่านช่องทางการสื่อสาร ย้ำว่าได้พัฒนาคุณภาพชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี อย่างดีแล้ว จนชาวบ้านสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีรายได้ รวมถึงมีท่าทีจาก วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อย่างต่อเนื่อง ที่ย้ำว่าการขอขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาตินั้น ไม่เกี่ยวข้องกับประเด็น “สิทธิมนุษยชน” ที่ชาวบ้านและภาคประชาชนกำลังเรียกร้องให้แก้ไขปัญหา


​ภาคี #SAVEบางกลอย ในฐานะภาคีเครือข่ายภาคประชาชน ที่ทำงานร่วมกับชาวบ้านบางกลอยบนเส้นทางการต่อสู้สู่การกลับถิ่นฐานบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดินตั้งแต่ช่วงต้นปีนั้น ได้ติดตามความคืบหน้าในกรณีการขอขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกมาอย่างต่อเนื่อง และได้รับการรายงานสถานการณ์การพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวบางกลอยอย่างสม่ำเสมอ ยืนยันว่า ข้อมูลที่รัฐบาลไทยได้นำเสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลกนั้นไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 


เนื่องจากพบว่าขณะนี้ชาวบ้านประสบปัญหาด้านสุขภาวะและปัญหาปากท้องอย่างหนัก ซึ่งปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้เกิดขึ้นจากการบังคับใช้กฎหมายและการประกาศพื้นที่ป่าทับซ้อนพื้นที่ชุมชนดั้งเดิม เจ้าหน้าที่รัฐอาศัยการบังคับใช้ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 อย่างเข้มข้นเพื่อกีดกันไม่ให้ชาวบ้านเข้าถึงการใช้ประโยชน์จากฐานทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ดั้งเดิมของบรรพบุรุษ ทำให้ชาวบ้าน 34 คนมีอาการป่วย ตั้งแต่มีอาการแขนขาอ่อนแรง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหัว ความดัน จนถึงไมเกรน กระทบต่อการทำงานหาเลี้ยงชีพ ซึ่งผลกระทบจากการกีดกันชาวบ้านไม่ให้เข้าถึงทรัพยากรของบรรพบุรุษนี้ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของชาวบ้าน 

“จากการสำรวจพบว่า มีหญิงที่ไม่สามารถให้นมบุตรหลังคลอดถึง 11 คน มีเด็กพิการแรกเกิดที่เข้ารับการรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล 1 คน ที่สามารถอนุมานได้ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ส่งผลต่อพัฒนาการของเด็ก ๆ ในชุมชนอย่างแน่นอน เป็นเรื่องที่น่าเศร้าเพราะชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์กลับไม่สามารถเข้าถึงความมั่นคงทางอาหารได้ และจะเป็นเรื่องที่น่าเศร้ายิ่งกว่าหากสิ่งนี้จะยังคงดำเนินต่อไปท่ามกลางกระบวนการพิจารณาขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก และจนถึงขณะนี้ปัญหาเหล่านี้ยังไม่ทุเลาลง มีแต่จะทวีความรุนแรงมากขึ้น และสะท้อนให้เห็นชัดเจนขึ้นอีกในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่ากลุ่มชาติพันธุ์ที่บ้านบางกลอยนั้น ถูกทางการไทยทิ้งไว้ข้างหลังเสมอ”


​ภาคี#SAVEบางกลอย ระบุด้วยว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับชาวกะเหรี่ยงบางกลอย คือภาพสะท้อนว่า รัฐส่งเสริมคุณภาพชีวิตชาวบางกลอยที่ต่ำมาก การพัฒนาพื้นที่กว่า 25 ปี หลังจากการอพยพชาวบ้านลงมาจากพื้นที่ดั้งเดิมบริเวณบางกลอยบน – ใจแผ่นดิน เมื่อปี 2539 เป็นความล้มเหลว รวมทั้งได้สั่งสมปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนมาอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องที่ก่อนหน้านี้ (23 ก.ค.64) ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้เรียกร้องให้คณะกรรมการมรดกโลกขององค์การยูเนสโก เลื่อนการพิจารณารายการ มรดกโลกแก่งกระจาน 


“ชาวกะเหรี่ยงพื้นเมืองในอุทยานแห่งชาติยังคงถูกบังคับขับไล่และบ้านเรือนของพวกเขาถูกเผาไหม้ ผู้นำคนสำคัญเสียชีวิตหลังจากถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติควบคุมตัวไว้ ในปี พ.ศ. 2564 การล่วงละเมิดของชาวกะเหรี่ยงได้ทวีความรุนแรงขึ้น และสมาชิกในชุมชนกว่า 80 คนถูกจับกุม 28 คน ในจำนวนดังกล่าวมีผู้หญิง 7 คน และเด็กอีก 1 คน ถูกตั้งข้อหา ‘บุกรุก’ ในที่ดินดั้งเดิมของพวกเขาในอุทยานแห่งชาติ”



นอกจากนั้นในช่วงเวลากว่า 10 ปี แห่งความพยายามผลักดันผืนป่าแก่งกระจานให้เป็นมรดกโลก ยังปรากฏภาพความรุนแรงและการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ต่อชาวปกาเกอะญอในกลุ่มป่าแก่งกระจานเสมอมา เช่น  ชุมชนชาวปกาเกอะญอในชุมชนบ้านห้วยกระซู่ บ้านห้วยสาลิกา บ้านท่าเสลา บ้านห้วยแห้ง บ้านลิ้นช้าง บ้านห้วยหินเพิง อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี, ชุมชนบ้านป่าละอู อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน บ้านป่าหมาก อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ พื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ซึ่งมีอย่างน้อย 40 ชุมชน ไม่ต่ำกว่า1,000 ครัวเรือน ที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ไม่ว่าจะเป็นการประกาศพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทับซ้อนพื้นที่ชุมชนโดยปราศจากการมีส่วนร่วม การตกหล่นจากกระบวนการสำรวจตามมาตรา 64 และ 65 แห่ง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 การยึดพื้นที่ทำกิน และการจับกุมดำเนินคดี

สำหรับในพื้นที่ชุมชนบ้านบางกลอยนั้น ตลอดระยะเวลา 25 ปีหลังการอพยพลงมาจากพื้นที่ดั้งเดิมบริเวณบางกลอยบน – ใจแผ่นดิน ชาวบ้านได้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนมาในรูปแบบต่าง ๆ มาโดยตลอด แต่เมื่อมีการออกมาเรียกร้องเพื่อยืนยันในสิทธิมนุษยชนของชุมชนชาติพันธุ์ พวกเขาในฐานะมนุษย์เช่นกันกลับต้องสูญเสีย 2 ชีวิต คือ บิลลี่-พอละจี รักจงเจริญ ถูกบังคับสูญหาย และทนายป๊อด ทัศน์กมล โอบอ้อม ถูกลอบสังหาร 



ตามแถลงการณ์ ยังยืนยันว่า ภาคี #SAVEบางกลอย ไม่ได้มีเจตนาคัดค้านการขึ้นทะเบียนมรดกกลุ่มป่าแก่งกระจาน เพียงแต่เรามีความกังวลว่า การพิจารณามรดกโลกกลุ่มป่าแก่งกระจานในครั้งนี้จะเป็นการปฏิเสธสิทธิการอยู่อาศัยบนผืนดินบรรพบุรุษของชาวกะเหรี่ยงบางกลอยและชุมชนอื่น ๆ 



เราต้องการมรดกโลกที่มีแนวทางในการอนุรักษ์ธรรมชาติ ที่ควบคู่ไปกับการดำรงไว้ซึ่งคุณค่าทางวัฒนธรรมและชีวิตของผู้คนในพื้นที่ เราต้องการให้ระบบการเกษตรแบบไร่หมุนเวียนอันเป็นมรดกและรากเหง้าที่ส่งต่อมาแต่บรรพบุรุษได้รับการยอมรับและคุ้มครอง ให้การเป็นมรดกโลกนั้นควบคู่ไปกับการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงต้องการความชัดเจนในแนวทางการปฏิบัติต่อชาติพันธุ์ในพื้นที่ป่าแก่งกระจานตามหลักการสิทธิมนุษยชน ทั้งหมดทั้งมวล ก็เพื่อให้การขึ้นทะเบียนมรดกโลกนี้ ถูกบันทึกและถูกจดจำต่อสายตานานาอารยประเทศอย่างสง่างาม ชอบธรรม และสมศักดิ์ศรี



ภาคี #SAVEบางกลอย เรียกร้องให้ คณะกรรมการมรดกโลก และ UNESCO เลื่อนการพิจารณาขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจานออกไปก่อน พร้อมขอให้รัฐบาลไทยคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ต่อกลุ่มชาติพันธุ์ด้วย

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ