1 วินาที 600 สาย 1330 สายด่วนโควิด-19 เกินรับไหว

สปสช. เตรียมเพิ่มผู้รับสาย หลังโควิด-19 ระบาดหนัก มีคนโทรเข้าวันละกว่า 2.4 หมื่นสาย เลขาฯ ขอรัฐเร่งจัดระบบเชื่อมฐานข้อมูลทั้ง 1330 1668 1669 ให้เป็น Data ชุดเดียว

25 ก.ค. 2564 – นพ.จเด็จ ธรรมรัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ขณะนี้ปริมาณสายที่โทรเข้ามา 1330 มากขึ้นหลายเท่าตัว เพราะก่อนสถานการณ์โควิด-19 ระบาด จะมีคนโทรเข้ามา ประมาณ 3,000-4,000 สายต่อวัน โดยจะมีผู้รับสาย 60-70 คน แต่ในเวลานี้แนวโน้มโควิด-19 ระบาดเพิ่มขึ้น ปัจจุบันมีคนโทรเข้ามาราว 24,000 สายต่อวัน ซึ่งไม่ทันกับความต้องการของประชาชน โดยกว่าครึ่งเป็นเรื่องการหาเตียง การรักษาโควิด-19 ที่บ้าน (Home isolation) การกลับไปรักษาที่ภูมิลำเนา นอกจากนี้ยังมีการสอบถามข้อมูลอื่น ๆ โดยแต่ละสายจะใช้เวลาเฉลี่ย 9 นาที/คน แต่ขณะนี้ได้ปรับให้สั้น ประมาณ 5 นาที/คน คือ การซักถามประวัติผู้ป่วยเพื่อส่งต่อไปรักษาประมาณ 3 นาที อีก 2 นาที บันทึกประวัติ

แฟ้มภาพ: นพ.จเด็จ ธรรมรัชอารี เลขาธิการ สปสช.

นพ.จเด็จ บอกอีกว่า แต่หากผู้ป่วยหรือประชาชนสามารถเข้าไปกรอกข้อมูลในเว็บไซต์ สปสช. ไลน์แอปพลิเคชัน และอีกหลายช่องทางก่อน จะช่วยลดขั้นตอนการกรอกข้อมูลลงระบบบนฐานข้อมูล ซึ่งเป็นฐานข้อมูลเดียวกันกับสายด่วน ก็อาจเร็วกว่าเจ้าหน้าที่

ช่วงพีคสูงสุดของสถานการณ์โควิด-19 ระลอกนี้ ช่วงประมาณ 10.00-14.00 นาฬิกา จะพบว่า ใน 1 วินาที เคยมีคนโทรศัพท์เข้ามาพร้อมกัน 600 คู่สาย แต่เจ้าหน้าที่รับสายมีเพียง 300 คู่สายรองรับ เราไม่ทันแล้ว เพราะถ้าจะรับแบบสายไม่หลุด จะได้เพียงประมาณ 1,600 สาย เราจึงพยายามแก้ปัญหาตอนนี้ด้วยการจะเพิ่มให้เป็น 800 คู่สาย 800 คนรับสาย เพื่อรองรับประชาชนที่โทรเข้ามากว่า 24,000 สายต่อวัน เพื่อจะได้รับสายทันทีไม่มีสายหลุด หรือโทรติดยาก รอนาน

สำหรับเจ้าหน้าที่ที่จะรับสายเพิ่มจะไม่ได้แออัดในจุดเดียว แต่เป็นการทำงานจากที่บ้าน (Work from Home) และกระจายการทำงานให้ผู้ที่รับสายจากต่างจังหวัดทำงานไปพร้อมกันด้วย คาดว่าจะพยายามให้แล้วเสร็จภายใน 1-2 วัน เพื่อลดปัญหาและประชาชนจะเข้าถึงหมอให้เร็วที่สุด

เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ยังกล่าวอีกว่า ความจริงแล้วบทบาทของ สปสช. นอกจากทำหน้าที่จัดบริการสาธารณสุขให้แก่บุคคลที่ไม่มีสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลจากกฎหมายประกันสังคม หรือสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐอื่น ๆ ภายใต้การควบคุมดูแลของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่เรียกว่า “สิทธิหลักประกันสุขภาพ” แต่การให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาให้รวดเร็วด้วยการรับเรื่องร้องเรียน การรับสายในช่วงโควิด-19 ถือเป็นด่านหน้า ที่ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาล คลินิก ศูนย์บริการสาธารณสุข อื่น ๆ ที่แพทย์พยาบาลก็ต้องรับช่วงต่อไปให้รวดเร็วพร้อมกัน เพราะจะได้ลดจำนวนประชาชนที่โทรเข้ามา ไม่ให้โทรซ้ำซ้อนและนำไปสู่การรักษาโดยเร็ว ขณะที่โรงพยาบาลต้องรับช่วงต่ออย่างทันท่วงที เพื่อลดความแออัดคอขวดตั้งแต่ต้นน้ำ เพื่อผู้ป่วยจะได้รับการรักษาให้เร็วที่สุด

แม้ขณะนี้ระบบเบอร์สายด่วนที่ใช้ ไม่ว่า 1668, 1669 และ 1330 จะมีวัตถุประสงค์ช่วยประชาชนในเรื่องต่าง ๆ ในช่วงโควิด-19 แต่จะดีมากหากทุกฝ่ายร่วมกัน มีข้อมูล (data) บนพื้นฐานข้อมูลคนไทยชุดเดียวกัน ซึ่งขณะนี้บางส่วนของข้อมูลยังไม่เชื่อมโยงดีนัก หากรัฐบาลเร่งสนับสนุนอุดช่องโหว่ ฐานข้อมูล ก็จะยิ่งทำให้จัดการระบบรับมือกับประชาชนที่ขอความช่วยเหลือจากสถานการ์โควิด-19ให้ทันท่วงทีมากยิ่งขึ้น

สำหรับ สปสช. ปัจจุบันมีในเครือข่ายในโรงพยาบาลมากกว่า 1,000 แห่ง แบ่งเป็น โรงพยาบาลเอกชน 380 แห่ง โรงพยาบาลของรัฐกว่า 1,000 แห่ง นอกจากนี้ยังมี โรงพยาบาลในอำเภอกว่า 700 แห่ง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

นิตยา กีรติเสริมสิน

สนใจวงการบันเทิงตั้งแต่เด็ก รักการพูด แต่ชีวิตพลิกผันก้าวสู่นักสื่อสารมวลชน รักงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดิน น้ำ และความเป็นไปของโลก คิดบวก มองทางเลือกใหม่ ๆ อย่างสร้างสรรค์