“ หวิดเสียชีวิตในที่สาธารณะ ” ชีวิตบนความเสี่ยงคนไร้บ้านในสถานการณ์โควิด

เครือข่ายคนไร้บ้านเรียกร้องวัคซีนที่ทั่วถึงมีคุณภาพ พร้อมเสนอจัดสถานที่ “ดูแลชั่วคราวเร่งด่วน ”

23 ก.ค. 2564 สาโรจน์ เจนจบ คนไร้บ้าน หรือผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ อายุ 62 ปี เป็นลมหมดสติย่านคลองหลอด แขวงสำราญราษฎร์ เขตพระนคร กทม. หลังเข้าแถวรับบริจาคอาหาร โดยเจ้าหน้าที่มูลนิธิอิสรชน และสื่อมวลชน สำนักข่าวเนชัน ที่กำลังสัมภาษณ์พูดคุยกับ สาโรจน์  รีบเข้าช่วยเหลือ พยายามกระตุ้นด้วยการเรียกชื่อ ใช้กระดาษแข็งพัดให้อากาศถ่ายเท พร้อมประสานการช่วยเหลือจากกลุ่มเส้นด้ายอาสมัครส่งต่อผู้ป่วยโควิด-19 

ผ่านไปราวๆ 15 นาที สาโรจน์ ฟื้น อาการดีขึ้น สามารถพูดคุยได้  และเมื่อกลุ่มเส้นด้ายมาถึงได้เข้าตรวจเชควัดออกซิเจนปลายนิ้ว สอบถามอาการเบื้องต้น สาโรจน์ ระบุว่ามีโรคประจำตัวคือความดัน และหอบหืด  และมีเอกสารใบรับรองแพทย์จากโรงพยาบาลเกษมราษฎร์บางแค ว่าเพิ่งพ้นระยะการเข้ารักษาการติดเชื้อโควิด 19 หลังตรวจคัดกรองเชิงรุก เมื่อวันที่ 9 ก.ค.ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม แม้พ้นระยะการเข้ารักษาใน hospitel ครบ 10 วัน แต่ยังไม่ครบระยะของข้อปฏิบัติ ที่ให้กักตัวต่อที่บ้านและเว้นระยะห่างจากผู้คน ซึ่งต้องกักตัวจนถึงวันที่ 26 ก.ค.นี้

มูลนิธิอิสรชน จึงประสานไปยังกองคุ้มครองสวัสดิภาพและเสริมสร้างคุณภาพชีวิต กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อประสานให้นำชุดตรวจเชื้อโควิด 19 แบบเร่งด่วน หรือ Antigen Test Kit มาตรวจซ้ำอีกครั้ง ซึ่งผลออกมาเป็นลบ

ถัดมาบริเวณใกล้ๆกัน พบคนไร้บ้านอีกคนนอนหายใจรวยริน ไม่รู้สึกตัว  กลุ่มเส้นด้ายรีบนำถังออกซิเจนเข้าช่วยเหลือ และประสานหาโรงพยาบาลเพื่อส่งรักษาตัว เบื้องต้นยังไม่ทราบว่าป่วยเป็นอะไร เนื่องจากผู้ป่วยไม่มีเอกสารหลักฐาน เช่นบัตรประชาชน  กลุ่มเส้นด้ายพยายามประสานไปยังโรงพยาบาลต่างๆ ใช้เวลานานเกือบชั่วโมง จึงส่งตัวไปที่โรงพยาบาลศิริราช 

อัจฉรา สรวารี เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน  มองว่ากรณีล่าสุดที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นข้อจำกัดของคนไร้บ้าน หรือผู้ใช้ชีวิตในที่สาธาณะ ในการเข้าถึงสิทธิโดยเฉพาะการรักษาพยาบาล เมื่อไม่มีบัตรประชาชน การเฝ้าระวังสุขภาพหรือเข้ารักษาเป็นเรื่องที่ยากมาก 

ส่วนกรณีของ สาโรจน์ สะท้อนปัญหาการจัดการดูแลป้องกันคนไร้บ้านในสถานการณ์โควิด เพราะการที่จะให้เขากักตัว ในขณะที่เขาไม่มีบ้านให้กักตัว ต้องรับอาหารบริจาคเลี้ยงชีวิต ยังต้องพบเจอผู้คน นี่จึงถือเป็นความเสี่ยงที่เขาจะติดเชื้อได้อีก ซึ่งตอนนี้ก็ยังไม่มั่นใจว่ากรณีนี้ ยังมีเชื้ออยู่หรือไม่ และเขาก็เป็นผู้สูงอายุ มีโรคประจำตัวอยู่ด้วยก็ยิ่งเสี่ยง 

“ ดังนั้นสิ่งสำคัญคือต้องจัด community isolation โดยใช้เป็นสวนสาธารณะใกล้ๆพื้นที่ที่เขาอยู่ โดยตั้งเต็นท์ มีทีมอาสาพร้อมให้การดูแลช่วยเหลือ ยิ่งในกรณีเร่งด่วนที่พบผู้ป่วยเสี่ยงแบบนี้ ก็จะช่วยรักษาชีวิตเขาได้ทัน”

เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน ยังย้ำว่า ทางออกสำคัญที่ต้องดำเนินการเร่งด่วน คือต้องจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพกระจายให้คนเปราะบางเหล่านี้ได้เข้าถึงอย่างครอบคลุม 

“ แม้บางคนจะได้ตรวจคัดกรองแล้ว แต่อย่างที่เห็นเขาไม่มีบ้าน ไม่มีสถานที่ให้กักตัว และยังมีโอกาสเสี่ยงใกล้ชิดผู้คนจำนวนมาก ดังนั้นวัคซีนจึงเป็นทางออกและเกราะป้องกันสำคัญในการรักษาชีวิตพวกเขา และการจัดสรรวัคซีนสำหรับคนกลุ่มนี้ต้องเร่งดำเนินการ โดยลดขั้นตอนต่างๆ จัดเป็นรถโมบาย หรือตั้งเต็นท์หน่วยบริการฉีดวัคซีนถึงพื้นที่ ”

เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน ระบุว่า ตอนนี้คนไร้บ้านเข้าถึงการฉีดวัคซีนยังไม่ถึง 10% หากรัฐประกาศจะต้องไม่มีคนตายบนท้องถนนอีก ต้องให้ความสำคัญในการดูแลคนทุกกลุ่ม

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ