ไอซียูไม่พอ เสียชีวิตเพิ่ม ไทยเดินสู่จุดที่แพทย์ต้องเลือกช่วยผู้ป่วยที่มีโอกาสรอดชีวิตมากกว่า

กู้ภัยเผยเก็บศพผู้ป่วยโควิด-19 รอเตียงมากขึ้น อธิบดีกรมการแพทย์ ระบุ กรุงเทพฯ – ปริมณฑล ต้องการเตียง ICU 3,000 เตียง แต่มีแค่ 1,400 เตียง 

“ห้ามเห็นภาพคนตายข้างถนนอีก” คำสั่งล่าสุดจาก “พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีที่ดูเหมือนแทบไร้ความหมาย เมื่อยังเกิดกรณีเสียชีวิตข้างถนนรอยืนยันผลตรวจโควิด-19 ขึ้นอย่างต่อเนื่องรายวัน 

ขณะที่ “หน่วยกู้ภัย”​ ยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่าได้รับการประสานเข้าไปเก็บศพผู้เสียชีวิตที่บ้านมากขึ้น จากเดิมที่เก็บศพจากโรงพยาบาลเพียงอย่างเดียว สะท้อนปัญหาเตียงไม่พอจนรักษาไม่ทัน

จำนวนผู้ติดเชื้อหลัก 10,000 คนครั้งแรกในวันที่ 17 ก.ค.2564 ติดต่อกันมาจนถึงวันนี้ (23 ก.ค. 2564) ครบ 7 วัน ยังทำลายสถิติผู้ติดเชื้อสูงสุดที่ 14,575 คน ขณะที่ผู้เสียชีวิตรายวันอยู่ในหลัก 100 คน ติดต่อกันหลายวันแล้ว ยอดสะสมอยู่ที่ 3,717 คน นับตั้งแต่การระบาดระลอก 3 ณ วันที่ 1 เม.ย. 2564  เป็นต้นมา และคาดว่าจำนวนผู้ติดเชื้อตลอดสัปดาห์นี้ยังคงพุ่งสูง ส่วนหนึ่งมาจากการตรวจเชื้อเชิงรุกที่ทำอย่างต่อเนื่องในระหว่างมาตรการล็อกดาวน์

“พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์” ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 (ศบค.) ยอมรับว่าบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าทำงานหนักและขาดแคลน กำลังบริหารจัดการโรงพยาบาลสนาม และโรงพยาบาลที่สามารถดูแลผู้ป่วยระดับสีเหลือง สีแดง ซึ่งตอนนี้มีการปรับเปลี่ยนมากมายพอสมควร “โรงพยาบาลสนามบุษราคัม” จากที่รับผู้ป่วยสีเขียว – สีเหลือง ตอนนี้ก็ปรับรับผู้ป่วยสีแดงเพิ่ม ขณะที่โรงพยาบาลสนามที่รับผู้ป่วยสีเขียวก่อนหน้านี้ ก็ส่งอุปกรณ์ไปยกระดับให้รับผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง 

ขณะที่กรมการแพทย์ก็พยายามบริหารจัดการระบบรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19  หลายช่องทาง 1. การส่งคนไข้กลับต่างจังหวัดกระจายไปรักษาต่อ 2. การตรวจเชื้อด้วย Antigen Test Kit (ATK) หากติดเชื้อประเมินอาการแล้วเป็นผู้ป่วยสีเขียวให้ทำ Home isolation เก็บเตียงในโรงพยาบาลไว้ให้คนไข้อาการหนัก หากคนไข้ไม่พร้อมทำ Home isolation ก็จะเข้าสู่ระบบของ Comunity isolation ต่อไปซึ่งกรุงเทพมหานครก็จัดตั้งศูนย์พักคอยทั่วทุกเขต

ภาพรวมการนำส่งผู้ป่วยเข้าสู่บริการ Home isolation เฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ณ​ 22 ก.ค. 2564 มีจำนวน 1,391 คนโดยแหล่งที่มาของผู้ป่วยมาจากสายด่วน 1330 มากที่สุด 95.5% และที่เหลือมาจากจุดตรวจเชิงรุกด้วยชุดตรวจ ATK แต่ก็ยังมีประชาชนที่ตกหล่นอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังเข้าไม่ถึงการตรวจ และติดเชื้อไปแล้วหากเป็นกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป หรือ มีโรคประจำตัว ก็เสี่ยงที่จะเสียชีวิตสูง ยังไม่นับรวมกลุ่มเปราะบางคนไร้บ้านอีกจำนวนไม่น้อยที่เข้าไม่ถึงระบบสาธารณสุข

แต่ถึงกระนั้นสำหรับคนที่เข้าถึงระบบสาธารณสุข หากเป็นผู้ป่วยหนักก็อาจจะไม่สามารถเข้าถึงห้อง ICU เครื่องช่วยหายใจเพื่อรักษาชีวิตได้ เพราะมีจำกัดประกอบกับสถานการณ์ตอนนี้จำนวนผู้ติดเชื้อที่สูงมากขึ้น ผู้ป่วยอาการหนักที่คิดเป็น 3% ของผู้ติดเชื้อรายใหม่รายวันก็เพิ่มขึ้นตาม

“นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์” อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยกับ The Active ว่าคนไข้ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลตอนนี้เฉลี่ยวันละ 5,000 คน จะมีผู้ป่วยที่เป็นอาการหนัก 3% เท่ากับ 150 คนต่อวัน หากคำนวณให้มีเตียง ICU เพียงพอกับผู้ป่วยหนักจะต้องมีถึง 3,000 เตียง แต่ปัจจุบัน กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีเตียง ICU ประมาณ 1, 400 เตียงเท่านั้น 

“ตอนนี้ที่มีปัญหามาก ๆ คือเตียง ICU ต้องอย่าลืมว่าเมื่อ 30 วันก่อน (22 ก.ค. 2564) เรามีคนไข้ ICU แค่ 700-800 เตียง ล่าสุดมีคนไข้ ICU เกือบ 1,400 นั่นก็หมายความว่าหมอที่ไม่สามารถเพิ่มจำนวนขึ้นมาได้ ต้องแบกภาระเพิ่มขึ้น 2 เท่าตัว”

หลักเกณฑ์พิจารณา ไม่ใส่เครื่องช่วยหายใจผู้ป่วยโควิด-19 

จำนวนเตียง ICU ที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น และมาถึงจุดที่แพทย์ต้องเลือกช่วยชีวิตกับผู้ป่วยที่มีโอกาสรอดชีวิตมากกว่า เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2564 โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ได้ออกประกาศเรื่องหลักเกณฑ์การพิจารณาไม่ใส่ท่อช่วยหายใจ สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 

“นพ.สมศักดิ์” กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550  มาตรา 12 บุคคลมีสิทธิ์แสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขเพื่อยืดความตายในวาระสุดท้าย ขณะที่หลักเกณฑ์ไม่ใส่ท่อช่วยหายใจผู้ป่วยหนักโควิด-19 เป็นหลักเกณฑ์ที่ได้เตรียมไว้แล้วตั้งแต่ระบาดใหม่ ๆ เมื่อปีที่แล้วมีการเตรียมการไว้ โดยข้อมูลมาจากต่างประเทศ ข้อมูลทางวิชาการมาใช้ประกอบกับกฎหมาย และจริยธรรมทางการแพทย์ ทั้งนี้ การสื่อสารกับผู้ป่วยและญาติเป็นประเด็นสำคัญที่สุด

เขาบอกอีกว่า ประกาศฉบับนี้คงจะเป็นแนวทางให้แพทย์และพยาบาลมีไว้เป็นหลักในการพิจารณา แต่ยังยืนยันว่าต้องพยายามลดการแพร่เชื้อให้ได้ นอกเหนือจากการรักษาพยาบาล 

“ถ้าเราลดจำนวนผู้ติดเชื้อลงอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง ก็ยังไม่รู้จะพอหรือเปล่า ต้องลดให้ได้ 1 ใน 3 จึงจะเพียงพอต่อความสามารถของระบบสาธารณสุขที่จะรองรับได้ อย่างไรก็ตาม ตอนนี้แพทย์ พยาบาล และวิชาชีพอื่น ๆ ยังพร้อมที่จะดูแลประชาชนอย่างเต็มที่” 

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS