ชั่งน้ำหนัก ข้อดี – ข้อเสีย ฉีดวัคซีนสลับชนิด

“แพทย์-นักวิจัย” ยกเหตุผลสนับสนุนฉีดวัคซีนแบบ Mix & Match ภายใต้ข้อจำกัด รับมือเดลตา แต่ยังกังวลผลการศึกษาในคนต้องมากพอ

แม้มติคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2564 จะเห็นชอบ การฉีดวัคซีนโควิด-19 สลับชนิด เข็ม 1 เป็นวัคซีนซิโนแวค และเข็ม 2 เป็นแอสตราเซเนกา โดยห่างจากเข็มแรกนาน 3-4 สัปดาห์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลตา ซึ่งจะสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสให้อยู่ในระดับที่สูงได้เร็วมากขึ้นนั้น

แต่จนถึงปัจจุบันยังเป็นที่ถกเถียงของสังคม ว่าแนวทางดังกล่าวเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในขณะนี้หรือไม่ ข้อห่วงกังวลใดบ้างที่ประชาชนต้องพิจารณาก่อนการรับวัคซีน

อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักวิจัยด้านไวรัสวิทยา ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. กล่าวสนับสนุนแนวทางการฉีดวัคซีนสลับเข็มของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ โดยอ้างอิงผลการศึกษาจากตัวอย่างจำนวน 17 ตัวอย่าง ที่ได้รับมาจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นำมาทำการทดลองในห้องปฏิบัติการ คือ นำตัวอย่างจากผู้ฉีดวัคซีนสลับชนิด มาบ่มกับไวรัสตัวแทนสายพันธุ์เดลตา และสายพันธุ์อู่ฮั่นเดิม ซึ่งเมื่อเทียบกับตัวอย่างเดิมของการฉีดซิโนแวค 2 เข็ม ไม่สามารถเอาไวรัสได้อยู่ ตัวเลขที่ได้น้อยมาก

ในขณะที่ตัวอย่างที่ฉีดวัคซีนแบบสลับเข็ม ภูมิคุ้มกันดีกว่ากันประมาณ 20 เท่า ทั้งผลต่อสายพันธุ์เดลตา และผลต่อสายพันธุ์ดั้งเดิม ตัวเลขจะอยู่ที่ 180 ซึ่งหากเปรียบเทียบเป็นประสิทธิภาพของวัคซีนจากตารางข้อมูลของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า จะอยู่ที่ ร้อยละ 70 – 80

“หาก ณ ตอนนี้ที่ประเทศไทยมีวัคซีนแค่ 2 ชนิด ซึ่งก็มีอยู่อย่างจำกัด เราสมควรไปต่อด้วยวิธีเดิม แล้วลดความเสี่ยงด้วยการใส่หน้ากากอนามัย หรือจะลองปรับ Mix&Match เพื่อประสิทธิภาพของวัคซีนให้สูงขึ้น ผมยังคงเห็นด้วยกับการทดลองนี้ด้วยข้อมูลที่เรามีอยู่ตอนนี้”

อนันต์ จงแก้ววัฒนา

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยด้านไวรัสวิทยา จากไบโอเทค กล่าวว่า ตัวอย่างในประเทศไทยต้องถือว่าน้อย เพราะเราไม่ได้ตั้งใจทำการทดสอบ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาในตอนนี้ ความเสี่ยงที่ต้องรอระยะเวลากว่าจะฉีดแอสตราเซเนกาเข็มสอง เกือบ 12 สัปดาห์ กับการที่มีเชื้อสายพันธุ์เดลตา ระบาดในไทยวันละเกือบหมื่นคนในทุกวัน ถือเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องหาทางออก

ผศ. นพ.ปกรัฐ หังสสูต หัวหน้าสาขาไวรัสวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สำหรับผลการศึกษาโดยตัวอย่างที่ได้รับมา ก็ถือว่ามีผลที่ดี แต่ก็ยังมีความสงสัยว่า ถ้าทำต่อไปมากกว่านี้ ผลจะยังออกมาเป็นแบบนี้หรือไม่ งานวิจัยต้องออกมาอย่างเป็นระบบ การทดลองที่จะทำให้เรามั่นใจได้จริง กลุ่มตัวอย่างเพียงเท่านี้อาจจะยังไม่เพียงพอ จำเป็นต้องมีการวางแผนการทดลองมาอย่างดี ไม่ควรเกิดจากการสุ่ม เพราะหากเกิดจากการที่ผู้รับวัคซีนนั้นมีปัญหาจากการรับวัคซีนเข็มแรก คือ อาจเกิดอาการแพ้ จึงต้องมารับวัคซีนเข็มที่สองเป็นชนิดอื่นนั้น จะคนละอย่างกับการทดลองในอาสาสมัครที่สุขภาพแข็งแรง และที่สำคัญต้องมีการควบคุม และเปรียบเทียบกับ การฉีดซิโนแวค 2 เข็ม, การฉีดแอสตราเซเนกา 2 เข็ม และการฉีดแบบสลับชนิด เพื่อนำมาเปรียบเทียบกัน 3 กลุ่มเป็นอย่างน้อย

“ผมขี้ขลาดนะครับ ผมจะกล้าฉีดก็ต่อเมื่อมีหลักฐานที่แน่นหนา มีผลงานที่ตีพิมพ์ออกมาอย่างเป็นทางการ และทำการทดลองในจำนวนคนที่เยอะพอสมควร โดยเฉพาะในแง่ความปลอดภัย เราต้องยอมรับว่า หากเกินจาก 1,200 คนก็อาจจะเจอได้เช่นกัน…”

ผศ. นพ.ปกรัฐ หังสสูต

สูตรแรกในโลก! ฉีดเชื้อตาย แล้วตามด้วยไวรัล เวกเตอร์ได้ผลจริงหรือ ?

ผศ. นพ.ปกรัฐ กล่าวว่า การฉีดวัคซีนซิโนแวคนั้น จะเป็นไวรัสทั้งตัว และจะมีส่วนโปรตีนของไวรัสหลายชนิด คาดหมายได้ว่าจะไปกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ในระดับหนึ่ง และการฉีดกระตุ้นด้วยแอสตราเซเนกา ซึ่งเป็นแบบไวรัล เวกเตอร์นั้น คือการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน เพียงแค่ส่วนโปรตีนที่เป็น spike ซึ่งซิโนแวคก็มีตัวนี้เหมือนกัน แต่คำถามที่เกิดขึ้นคือ การฉีดด้วยเข็มแรกไปแล้วภูมิคุ้มกัน จะถูกกระตุ้นด้วย spike มากเพียงพอที่จะให้กระตุ้นด้วยเข็มสองหรือไม่ อันนี้ยังไม่มีข้อมูล

ด้าน ดร.อนันต์ ยอมรับว่า ในฐานะนักวิจัยเองถ้าตามหลักการจะไม่เลือกทำวิธีการสลับวัคซีนเช่นนี้อยู่แล้ว แต่ในสถานการณ์ที่มีข้อจำกัดและเร่งด่วนเช่นนี้ จึงต้องนำความรู้มาช่วยหาทางออก ซึ่งหากสามารถมีทางออกที่ดีกว่านี้ ย่อมเลือกทางที่ดีกว่าแน่นอน แต่อย่างที่ทราบกันว่า วัคซีนทั้ง 2 ชนิดนี้ปลอดภัย โดยการรับรองขององค์การอนามัยโลก ซึ่งเมื่อถามว่าการฉีดสลับชนิดกันในรูปแบบนี้ จะเกิดผลต่อร่างกายหรือไม่ ยังหาคำตอบไม่ได้ว่าจะเกิดความรุนแรงมาจากอะไร หากจะมีผลข้างเคียงจากภูมิคุ้มกันที่สูงเกินไป คิดว่าไม่อาจเป็นไปได้ เพราะจากการประเมินภูมิคุ้มกันก็จะขึ้นไม่สูงขนาดนั้น

กังวล กลัวทำไม่ได้ เพราะวัคซีนมีไม่เพียงพอ และภูมิจะขึ้นได้นานแค่ไหน

ดร.อนันต์ แสดงความกังวลว่า แนวทางที่คิดกันมาอาจจะไม่มีประโยชน์ใดเลย หากวัคซีนแอสตราเซเนกามีไม่เพียงพอ เพราะหากเราวางแผนจะฉีดวัคซีนซิโนแวคในวันนี้แล้ว อีก 4 สัปดาห์ต้องมีวัคซีนแอสตราเซเนกา เตรียมพร้อมเอาไว้แล้วด้วย ซึ่งจากสถานการณ์ในปัจจุบันจึงอดกังวลไม่ได้ว่าจะสามารถทำได้ตามแผนหรือไม่

นอกจากนั้น ในแง่ภูมิคุ้มกันที่ขึ้นของสูตรใหม่นี้จะอยูกับเราได้นานแค่ไหน เพราะหากไปดูผลการศึกษาที่ทำร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรณีผู้ที่ฉีดซิโนแวคครบ 2 เข็ม จำนวนมากกว่า 500 คนนั้น พบว่าภายใน 40 วัน ภูมิคุ้มกันจะตกลงมาเหลือครึ่งหนึ่ง จึงเกิดความไม่มั่นใจว่าภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นมา จะตกไวเหมือนในซิโนแวคด้วยหรือไม่ แต่สามารถอนุมานได้ว่ากรณีที่ภูมิคุ้มกันสูง ก็จะใช้เวลานาน แต่เนื่องจากต้นทุนของซิโนแวคน้อยอยู่แล้ว จึงตกภายในเวลารวดเร็ว

ผศ. นพ.ปกรัฐ กล่าวเสริมในเรื่องดังกล่าวว่า จากผลการศึกษาของตนพบว่าหลังการฉีดซิโนแวคครบ 2 เข็ม ในเวลาไม่นาน ภูมิคุ้มกันลดลงจำนวนมาก จนต้องใช้คำวา “ภูมิตกหัวทิ่มเลย” และอีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ การฉีดแบบนี้ ภูมิคุ้มกันที่ได้รับ เป็นผลมาจากวัคซีนแอสตราเซเนกาตัวเดียวหรือไม่ ซึ่งยังต้องหาคำตอบต่อไป แต่ด้วยเหตุผลต่าง ๆ นี้เอง จึงทำให้เราต้องคิดหาวิธีใหม่ให้กับประเทศ ว่าแนวทางใดถือว่าดีที่สุด

ทั้งนี้ ภายใต้สถานการณ์ที่วิกฤตนี้การหาทางออกให้กับประเทศ ไม่ว่าด้วยวิธีการใดก็ตาม ถือเป็นสิ่งที่ควรร่วมมือกัน แต่ประเด็นของการฉีดวัคซีนสลับชนิดดังกล่าว ถือเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ จากการสนทนาซึ่งทุกคนเห็นตรงกันว่าการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง คือ การนำเข้าวัคซีนที่สามารถรับมือกับเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยที่ไม่ต้องสรรหาวิธีแปลกใหม่ ส่งผลต่อการตัดสินใจ “ชั่งน้ำหนัก” ความปลอดภัยของประชาชน และต้องระลึกเสมอว่าทุกวันที่เสียไป คือความสูญเสียของชีวิตที่ต้องเผชิญจากไวรัสโควิด-19


Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้