แพทย์ชนบทช่วยวิกฤตโรคระบาดเมืองกรุง ระดมแพทย์อาสากว่า 60 ชีวิต ช่วยตรวจคัดกรองเชิงรุกหลายชุมชน ส่งสัญญาณ “ใครทำอะไรได้ ควรทำ”
วันนี้ (15 ก.ค. 2564) ทีมแพทย์ชนบท ตรวจเชิงรุกโควิด-19 ด้วย ชุดตรวจ Antigen Test Kit หลายชุมชนในเขตกรุงเทพมหานคร เป็นวันที่ 2 ซึ่งตรวจไปแล้วมากกว่า 5,000 คน พบผลบวก (ติดเชื้อ) มากกว่าร้อยละ 9
ขณะที่การตรวจเชิงรุกที่เขตคลองเตยช่วงบ่ายวันนี้ มีประชาชนได้รับการตรวจประมาณ 1,000 คน สำหรับคนที่ผลตรวจเป็นบวก สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร จะช่วยให้ลงทะเบียน และมีการซักประวัติในระบบ 1330 ก่อนที่ผู้ติดเชื้อทุกคน จะเข้าสู่ระบบดูแลที่บ้าน (Home Isolation) หรือชุมชน (Community Isolation)
ประไพ สานุสันต์ ประธานสภาองค์กรชุมชนเขตคลองเตย บอกว่า ระบบการดูแลผู้ติดเชื้อที่บ้าน และชุมชนหลังจากพบว่าติดเชื้อ ในวันนี้ทุกคนจะต้องโทรศัพท์ไปลงทะเบียนเป็นคนไข้ในระบบสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. จากนั้น จะรอการติดต่อกลับเพื่อเป็นผู้ป่วยของโรงพยาบาล ได้แก่ โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลราชวิถี และโรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ ซึ่งจะเป็นแพทย์อาสาช่วยประเมินอาการทุกวันให้มั่นใจว่าเป็นกลุ่มผู้ป่วยสีเขียวที่ดูแลตัวเองได้ สามารถรักษาตัวในบ้านหรือชุมชนได้
“ใครที่มีอาการ เจ็บคอ ไอ ก็จะมีการส่งยาให้กินที่บ้าน หากอาการหนักเป็นกลุ่มสีแดงก็จะได้รับการประสานตัวส่งโรงพยาบาล โดยระบบนี้เราได้หารือร่วมกันและเห็นว่าสามารถที่จะดูแลและกักตัวกันเองภายในชุมชนเหมือนที่เคยทำที่วัดสะพานได้”
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา และประธานชมรมแพทย์ชนบท ระบุถึงการทำงานครั้งนี้ว่า นอกจากเหตุผลทางการแพทย์ที่เห็นว่ากรุงเทพมหานครกำลังวิกฤต พบคนติดเชื้อจำนวนมากและมีปัญหาการตั้งจุดตรวจแล้ว ยังเห็นว่าทีมแพทย์ชนบท อาจจะช่วยได้ จึงจัดทีมอาสามา 6 ทีม เกือบ 60 คน ช่วยตั้งจุดตรวจในเขตกรุงเทพมหานครเป็นเวลา 3 วัน เพราะเห็นว่าการตรวจเชิงรุกให้ได้มากที่สุดจะยิ่งส่งผลดี เพราะการที่ผู้ติดเชื้อไม่รู้ตัวอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้การระบาดไม่สามารถควบคุมได้ และการตรวจพบแล้วควรมีระบบการดูแลอย่างเช่น การดูแลรักษาที่บ้าน ชุมชน เข้ามาช่วย
“ปรับวิธีคิดใหม่ ว่าตรวจเจอมากแล้วจะทำให้คนป่วยล้นโรงพยาบาล ระบบสาธารณสุขรับไม่ได้ เราต้องตรวจ ตรวจให้มากที่สุดเพื่อควบคุมการระบาด กรุงเทพฯ มีทรัพยากรพร้อมทุกอย่าง ต้องตั้งจุดตรวจเพิ่ม”
นอกจากเหตุผลทางการแพทย์ นพ.สุภัทร ยังเน้นย้ำว่า การมาของทีมแพทย์ชนบทครั้งนี้ คือการสื่อสารส่งสัญญาณถึงทุกหน่วย ว่าถึงเวลาที่ใครทำอะไรได้ต้องลุกขึ้นมาช่วยกัน เพราะเวลานี้วิกฤตหนักทุกอย่างต้องดูแลไปพร้อมกันทั้งเรื่อง งาน อาหาร อาชีพ
“ขอส่งสัญญาณถึงองค์กรทั่วประเทศ ใครทำอะไรได้ควรทำ ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องการแพทย์เท่านั้น”
ประธานชมรมแพทย์ชนบทยังระบุเพิ่มเติมว่า สำหรับคนที่ผลตรวจเป็นบวก จะมีการตรวจ Real-time RT PCR อีกครั้ง และแทบจะทุกคน ผลตรวจจะยืนยันตรงกัน ส่วนคนที่ตรวจแล้วพบว่าผลเป็นลบ ยังคงต้องดูแลและระมัดระวังตัวเอง เพราะคนที่ผลเป็นลบอาจเพราะยังไม่พบเชื้อวันนี้ก็เป็นได้ จึงต้องปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุข เว้นระยะห่าง ล้างมือ ใส่หน้ากาก งดการรับประทานอาหารร่วมกัน