จับตา “คกก.วัคซีนแห่งชาติ” เปิดช่อง งดส่งออกแอสตราเซเนกา

“ไทย” บีบ “แอสตราเซเนกา” ส่งมอบตามเป้าที่เคยตั้งไว้ ส่อใช้กฎหมายจำกัดการส่งออก พร้อมชี้แจงประเทศที่รอวัคซีนจากโรงงานสยามไบโอไซเอนซ์

สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่สามารถควบคุมได้ จำนวนผู้ติดเชื้อที่ยังพุ่งต่อเนื่อง จำนวนผู้เสียชีวิตที่ยังไม่ลดลง เป็นสถานการณ์บีบคั้นให้ “คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ” อาจต้องตัดสินใจใช้ “ไพ่ไม้ตาย” จากอำนาจที่ระบุไว้ใน “พ.ร.บ.ความมั่นคงวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ.2561” งด หรือ กำหนดสัดส่วนส่งออกวัคซีน “แอสตราเซเนกา” ซึ่งมีฐานการผลิตในประเทศไทยจากโรงงานสยามไบโอไซเอนซ์ออกไปนอกราชอาณาจักร เพื่อรักษาชีวิตของคนในประเทศ

“นพ.นคร เปรมศรี” ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า ตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีน เรื่องการกำหนดสัดส่วนการส่งออกวัคซีนนอกราชอาณาจักร ซึ่งมีการอภิปรายอย่างกว้างขวาง  ถึงผลกระทบและความเป็นไปได้ รวมทั้งองค์ประกอบอื่นๆ นั้น ที่ประชุมให้ความเห็นชอบในหลักการออกประกาศนี้  โดยมอบหมายให้ กรมควบคุมโรค และสถาบันวัคซีนแห่งชาติ พิจารณาผลกระทบ ผลประโยชน์ด้านต่างๆ ที่จะมีต่อประเทศและประชาชนเป็นหลัก และให้เจรจาอย่างเต็มที่กับผู้ผลิต เพื่อให้ได้วัคซีนในจำนวนที่เหมาะสมกับการระบาดในประเทศและนำกลับมาเสนอ คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ พิจารณาอีกครั้ง

“ในสัญญาเดิม บริษัทจะส่งมอบวัคซีนให้ไทย 1 ใน 3 ของกำลังการผลิต หรือตามยอดจัดซื้อคือไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของแต่ละช่วงเวลา เพราะการผลิตไม่มีโดสตายตัว ขึ้นอยู่กับจำนวนที่ผลิตได้จริง”

นพ.นคร ระบุ

ย้อนกลับไปดูคำสั่งซื้อวัคซีนแอสตราเซเนกาของรัฐบาลไทย เมื่อปี 2563 ระบุแผนการส่งมอบวัคซีนเดือนมิถุนายนจำนวน 6 ล้านโดส เดือนกรกฎาคม – พฤศจิกายนเดือนละ 10 ล้านโดส และเดือนธันวาคมอีก 5 ล้านโดส รวมเป็น 61 ล้านโดสในปี 2564

ถ้าเป็นไปตามแผนการส่งมอบ คงไม่เกิดปัญหาขาดแคลนวัคซีน และเกิดความโกลาหลในการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์วัคซีนเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดเหมือนอย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้

ก่อนถึงวันส่งมอบล็อตแรกเดือนมิถุนายน ไม่มีใครล่วงรู้มาก่อนว่าความคาดหวังที่เคยฝากไว้กับความเป็นฐานการผลิตวัคซีน จะมีความเสี่ยงแม้จะผลิตในบ้านของตัวเองแท้ๆ แต่ไม่สามารถเอามาใช้ได้ 

ปลายเดือน มิ.ย.​ทุกฝ่ายจึงออกมายอมรับว่า เป้าหมายการผลิตวัคซีนแอสตราเซเนกา ในประเทศไทย ที่ตั้งเป้าไว้ 20 ล้านโดสต่อเดือน แท้จริงความสามารถในการผลิตเหลือแค่ 15 ล้านโดส ดังนั้นความสามารถในการส่งมอบให้ประเทศไทยจาก 10 ล้านโดสจึงเหลือเพียง 4-5 ล้านโดสเท่านั้นเพราะต้องส่งให้ประเทศอื่นด้วย ซึ่งกว่าจะยอมรับความจริง ก็ช้าเกินกว่าจะวางแผนรับมือบริหารความเสี่ยง 

จนถึงวันนี้ยังไม่มีใครที่ได้เห็นสัญญาระหว่างรัฐบาล กับแอสตราเซเนกาในการส่งมอบวัคซีนกรณีนี้ “สฤณี อาชวานันทกุล” นักวิชาการอิสระ ยกตัวอย่างข้อพิพาทระหว่างแอสตราเซเนกา กับสหภาพยุโรป จากการส่งมอบวัคซีนที่ล่าช้าในสัญญาใช้คำว่า “จะใช้ความพยายามอย่างยิ่งยวดที่สุดในการส่งมอบ” สะท้อนว่าการผลิตและส่งมอบวัคซีนในภาวะฉุกเฉินมีความไม่แน่นอนสูง เพราะฉะนั้นคงเป็นไปไม่ได้ที่บริษัทจะสามารถการันตีในสัญญาว่าจะส่งมอบเท่าไหร่ในเดือนไหน ทำได้เพียงให้กรอบเวลาหลวมๆ 

สั่งห้ามส่งออกวัคซีนแอสตราเซเนกา กับ “หลักมนุษยธรรม” ระหว่างประเทศ 

หากมีการใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงวัคซีนแห่งชาติฯ กำหนดสัดส่วนการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ข้อดีคือเป็นการปลดล็อคให้แผนการส่งมอบเป็นไปตามเดิมคือ 10 ล้านโดสต่อเดือน และที่เหลืออีก 5 ล้านโดส ส่งไปยังต่างประเทศ

รายงานระบุว่า มี 2 ประเทศเพื่อนบ้านคือ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ที่สั่งซื้อวัคซีนแอสตราเซเนกา จากโรงงานสยามไบโอไซเอนซ์ ทั้ง 2 ประเทศก็มีสถานการณ์ระบาดรุนแรงไม่ต่างจากประเทศไทย คือมีผู้ติดเชื้อเกือบหมื่นคนต่อวันและต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งมีความต้องการวัคซีนเช่นกัน

หากคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ตัดสินใจกำหนดสัดส่วนการส่งออกวัคซีนไปนอกราชอาณาจักรอาจต้องคำนึงถึงเหตุผลด้าน “มนุษยธรรม” ประกอบกัน และชี้แจงด้วยการใช้วิธีทางการทูตในการเจรจาทำความเข้าใจกับประเทศเพื่อนบ้าน หรืออาจใช้ลักษณะการยืมวัคซีนเหมือนอย่างที่เกาหลีใต้ ยืมวัคซีนไฟเซอร์จากอิสราเอล ก็อาจช่วยลดผลกระทบระหว่างประเทศ 

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS