ทำไมประเทศฐานผลิตวัคซีน มีวัคซีนไม่เพียงพอ?

คำถามท่ามกลางเสียงเรียกร้องให้เปิดเผยสัญญาจัดซื้อแอสตราเซเนกา “รัฐบาล” เลือกสั่งซื้อวัคซีนซิโนแวคเพิ่ม สู่ข้อเรียกร้องใช้อำนาจสั่งห้ามส่งออกวัคซีนแอสตราเซเนกา กับหลักมนุษยธรรมระหว่างประเทศ

หลายงานวิจัยชี้ว่า วัคซีนเชื้อตายมีประสิทธิภาพต่ำกว่าวัคซีนที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ไม่ว่าจะเป็น Viral vector หรือ mRNA ขณะที่แผนจัดหาวัคซีนของประเทศไทยเดิม มีวัคซีนแอสตราเซเนกาที่ผลิตด้วยเทคโนโลยี Viral vector เป็นวัคซีนหลักจากคำสั่งซื้อทั้งหมด 61 ล้านโดสภายในปี 2564 

หนึ่งในเหตุผลที่รัฐบาลทุ่มงบประมาณไปกับการจองซื้อวัคซีน “แอสตราเซเนกา” เพราะจะได้เป็นฐานการผลิต เพื่อการันตีว่าเราจะไม่ขาดแคลนวัคซีนในอนาคต แต่เมื่อถึงกำหนดเวลาส่งมอบล็อตแรกในเดือนมิถุนายน กลับต้องยอมรับความจริงว่าศักยภาพการผลิตไม่เป็นไปตามเป้า นอกจากจะส่งมอบให้ประเทศไทยแล้วยังมีอีกหลายประเทศที่สั่งซื้อวัคซีนแอสตราเซเนกาที่มีฐานการผลิตในประเทศไทย

ขณะที่สถานการณ์การระบาดในประเทศไทยระลอก 3-4 หนักหนาสาหัสกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา และมีความต้องการวัคซีน มาไช้แก้สถานการณ์อย่างเร่งด่วน

การตัดสินใจของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ที่มีมติเมื่อวันที่ 12 ก.ค. 64 ให้ฉีด “ซิโนแวค” เป็นวัคซีนเข็มแรก และฉีดแอสตราเซเนกา เป็นเข็ม 2 ห่างกัน 3 – 4 สัปดาห์ รับมือโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา สะท้อนชัดเจนว่าประสิทธิภาพของวัคซีนซิโนแวคลดลงหลังจากการกลายพันธุ์ของไวรัส

ผู้ฉีดวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็มจำนวน 500 ตัวอย่าง พบว่าระดับภูมิคุ้มกันลดลง 50% ในทุก ๆ 40 วัน “อนันต์ จงแก้ววัฒนา” นักวิจัยด้านไวรัสวิทยา ไบโอเทค เปิดเผยผลการทดลอง ระหว่างคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับทีมวิจัย BIOTEC สวทช. ซึ่งเป็นหนึ่งในงานวิจัยที่ถูกใช้ประกอบการตัดสินใจในมติดังกล่าว

ขณะที่งานวิจัยของ “ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ” หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า การให้วัคซีนชนิดเชื้อตายครบ 2 เข็ม แล้วตามด้วยวัคซีน Viral vector จะกระตุ้นภูมิได้ดี เปรียบเหมือนกับคนที่หายแล้วจากโรคโควิด-19 และได้รับวัคซีนเสริมอีก 1 ครั้ง 

แต่ “โสมยา สวามีนาธาน” หัวหน้าคณะนักวิทยาศาสตร์ประจำองค์การอนามัยโลก (WHO) ออกมาเตือนถึงอันตรายจากการที่ประเทศต่าง ๆ ออกนโยบายฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 แบบผสมสูตร เพราะถือเป็นแนวโน้มที่อันตราย เนื่องจากยังมีข้อมูลการวิจัยน้อยจนไม่อาจรับรู้ได้ถึงผลข้างเคียง

แม้ข้อถกเถียงการฉีดวัคซีนแบบผสมจะเกิดขึ้นตามมา แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดคือความต้องการวัคซีนจากเทคโนโลยีใหม่ ยังคงมีขึ้นต่อเนื่อง คำถามคือ เดือนกรกฎาคมประเทศไทยมีวัคซีนเพียงพอหรือไม่

เดือนกรกฎาคมนี้ ประเทศไทย จะได้รับวัคซีน ประมาณ 10 ล้านโดส แบ่งเป็นแอสตราเซเนกาประมาณ 5 ล้านโดส และซิโนแวคอีก 5 ล้านโดส แม้แอสตราเซเนกาจะมีฐานการผลิตในประเทศไทยโดยโรงงานของ สยามไบโอไซเอนซ์ แต่ศักยภาพในการผลิตไม่ได้ตามเป้าที่จะต้องส่งมอบให้ประเทศไทยเดือนละ 10 ล้านโดส ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม – พฤศจิกายน แต่กลับส่งมอบได้เพียง 4 ล้านโดส จึงเป็นที่มาของ #เปิดเผยสัญญาวัคซีน เรียกร้องให้เปิดเผยสัญญาระหว่างรัฐบาลไทยกับ แอสตราเซเนกา และขอให้บังคับใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงวัคซีนระงับการส่งออก

แต่จากข้อมูลพบว่า โรงงานสยามไบโอไซเอนซ์ ที่ใช้ผลิตแอสตราเซเนกา จะต้องส่งออกวัคซีนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน คือ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งมีสถานการณ์ระบาดรุนแรงไม่ต่างจากประเทศไทย มีผู้ติดเชื้อหลักหมื่นคนต่อวันและต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ ส่งผลให้มีความต้องการวัคซีนเช่นกัน

นี่อาจเป็นอีกเหตุผลสำคัญที่ประเทศไทย ไม่สามารถระงับการส่งออกวัคซีนด้วยเหตุผลด้าน “มนุษยธรรม” แต่คำถามอาจอยู่ที่แผนจัดหาวัคซีนของรัฐบาลที่ไม่กระจายความเสี่ยงมาตั้งแต่ต้น และการสื่อสารที่ไม่สามารถสร้างความเข้าใจร่วมกันถึงสถานการณ์และการบริหารจัดการปัญหา

ขณะที่ปัจจุบันภาครัฐ และเอกชนพยายามหาทางออกแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการนำเข้าวัคซีน mRNA มาให้ได้เร็วที่สุด หวังสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ หลังจากที่เริ่มฉีดวัคซีนตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ ผ่านมากว่า 4 เดือน ณ วันที่ 12 ก.ค. 2564 เราฉีดวัคซีนไปได้เพียง 12.5 ล้านโดส ในจำนวนนี้มีผู้ที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้วเพียง 3.2 ล้านโดสเท่านั้น ขณะที่เป้าหมายเราจะฉีดวัคซีนให้ได้ 50 ล้านคนภายในปีนี้

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS