จุฬาฯ ผุดแคมเปญ #น้องฉันต้องได้เรียน ชวนส่งต่อ “สมาร์ตโฟน” ช่วยเด็กยากจนได้เรียนออนไลน์

“องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” จับมือ “คณะใกล้เที่ยงคืน” ตั้งเครือข่ายเคลื่อนสังคมเฉพาะกิจ #น้องฉันต้องได้เรียน สนับสนุนสมาร์ตโฟนที่ไม่ใช้แล้ว ให้เด็กยากจน ขาดอุปกรณ์ได้เรียนออนไลน์ หลังวิกฤตโควิด-19 ส่งผลหลายครอบครัวเจอภาวะ “จนเฉียบพลัน” คาดการณ์สิ้นปีนี้ เด็กหลุดจากระบบอีก 65,000 คน

วันนี้ (12 ก.ค. 2564) องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) ร่วมกับคณะใกล้เที่ยงคืน กลุ่มคนทำงานขับเคลื่อนเพื่อสังคมในมิติการพัฒนาเยาวชน เปิดตัวโครงการ #น้องฉันต้องได้เรียน ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการประชาสัมพันธ์และช่วยให้เกิดการสนับสนุนสมาร์ตโฟนที่ไม่ใช้แล้ว ส่งต่อให้เด็ก ๆ ได้ใช้ประโยชน์ในการเรียนออนไลน์ระหว่างสถานการณ์การระบาดโควิด-19 โดยได้โพสต์ผ่านเพจเฟสบุ๊ก องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) ระบุว่า 

ในภาวะวิกฤติที่คอยซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำ มีเด็กกี่คนเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา ? คำตอบคือ 2,000,000 คน ปัจจุบันมีเด็กนักเรียนหลุดจากระบบการศึกษาไปแล้ว กว่า 500,000 คน และจากการคาดการณ์สิ้นปี 2564 นี้ มีนักเรียนที่ต้องหลุดออกจากระบบอีก 65,000 คน


เพราะภาวะ “จนเฉียบพลัน” จากวิกฤตโควิด-19 ทำให้ผู้ปกครองไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายในการเรียนออนไลน์ของนักเรียนได้ สมาร์ตโฟนและค่าอินเทอร์เน็ตถือเป็นของราคาสูงเมื่อเทียบกับรายได้ขั้นต่ำ แนวทางการเรียนการสอนที่ออกโดยกระทรวงศึกษาธิการกำลังบีบบังคับให้เด็กนักเรียนจำนวนมากต้องยุติการเรียน 

“เราตั้งใจที่จะให้ชุมชนรอบจุฬาฯ เป็นพื้นที่นำร่อง หากทำสำเร็จเราจะดำเนินการต่อและขยายพื้นที่ไปจนกว่าตัวเลขเด็กนักเรียนที่หลุดจากระบบการศึกษาเพราะไม่มีสมาร์ตโฟนจะเป็นศูนย์ อยากให้มาร่วมเป็นส่วนสำคัญในภารกิจของเรา  ส่งต่อสมาร์ตโฟนที่คุณไม่ได้ใช้ เพื่อต่อเวลาในการศึกษาให้กับน้อง ๆ ได้ตั้งแต่วันนี้ – 30 กรกฎาคม 2564”


ทั้งนี้ ในช่วงเริ่มต้น ทางโครงการฯ ได้วางแผนการส่งต่อสมาร์ตโฟนในช่วงแรกเดือน ก.ค. นี้ ไปยังกลุ่มนักเรียนชั้นประถมศึกษาตอนปลายและมัธยมศึกษาตอนต้น ตามโรงเรียนในชุมชนรอบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แก่เด็ก ๆ จากโรงเรียนในเขตปทุมวัน 6 แห่ง และโรงเรียนในเขตบางรัก 7 แห่ง เพื่อจัดทำระบบตัวอย่าง จัดการบริหารปัจจัยดำเนินการ (Prototype) ก่อนที่จะมีการขยายผลโครงการ #น้องฉันต้องได้เรียน ไปยังกลุ่มชั้นเรียน และโรงเรียนในเขตอื่น ๆ ต่อไปในอนาคต

สำหรับรายละเอียดการส่งมอบสมาร์ตโฟนเพื่อสนับสนุนการศึกษา อ่านเพิ่มที่ https://docs.google.com/forms/d/e/1FAIpQLScNiZnKSiJBN2yFCtbT-G1yCJkc2q5Xahlu4K9tLIFuo3OG2g/viewform

สอบถามข้อมูลเกี่ยวกับโครงการเพิ่มเติมได้ที่ 

Facebook: องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.)

LINE Official Account: @sgcu.chula

Author

Alternative Text
AUTHOR

ศศิธร สุขบท

มนุษย์ช่างฝัน ชอบสร้างสรรค์ข่าวเชิงบวก มีพรรคพวกชื่อจินตนาการ แสนสุขกับงานขับเคลื่อนสังคม