เปิดช่องทางผู้ป่วยโควิด-19 สีเขียวรักษาตัวที่บ้าน ผ่านสายด่วน สปสช. 1330 – แอดไลน์ @comcovid-19

“IHRI” เปิดระบบติดตาม-รักษาพยาบาลโควิด-19 ที่บ้าน เน้นชุมชนมีส่วนร่วม  “สปสช.” พร้อมหนุนค่าใช้จ่าย พบ 20% ที่โทรหาเตียงกับ 1330 ต้องการรักษาตัวที่บ้าน 

ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ส่วนใหญ่จะมีอาการเล็กน้อยและไม่มาก เป็นกลุ่มผู้ป่วยสีเขียว ประกอบกับภาวะครองเตียงในโรงพยาบาลที่เต็มในขณะนี้

“พญ.นิตยา ภานุภาค” ผู้อำนวยการบริหารสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) จึงเห็นว่า เรากำลังใช้เตียงในโรงพยาบาลที่มีค่ากับบุคลากรการแพทย์ที่มีอย่างจำกัดส่วนใหญ่ไปในการดูแลผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว ทำให้ผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองและสีแดงเข้าสู่โรงพยาบาลได้ยาก ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา 

และจากที่ทีมคอมโควิด IHRI ทำงานกับชุมชน ในการดูแลผู้ป่วยรอเตียง ช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าสถานการณ์เปลี่ยน เพราะด้วยการรอเตียงที่ใช้เวลานานขึ้นเป็นสัปดาห์ ผู้ป่วยบางรายหายป่วยแล้ว แต่ก็ยังหาเตียงไม่ได้ 

“เราจึงขยับมาพูดคุยถึงกลุ่มผู้ป่วยโควิดสีเขียวที่ไม่จำเป็นต้องเข้าโรงพยาบาลแต่ได้รับการติดตามดูแลและติดตามอาการต่อเนื่องจากโรงพยาบาลหรือเครือข่าย หรือระบบการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่บ้าน หรือในชุมชน (Home Isolation / Community  Isolation) ไม่ใช่แค่นอนรอเตียงเฉยๆ ซึ่งเรื่องนี้กรมการแพทย์ได้เริ่มพูดถึงแนวทางนี้เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา “

แนวทางนี้ก็มีผู้ป่วยโควิด-19 ส่วนหนึ่งที่สนใจ จากข้อมูลสายด่วน สปสช. 1330 พบว่าปัจจุบัน (9 ก.ค.2564) มีประมาณ 20% ของผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวที่จะเข้าสู่ระบบนี้หากเราทำเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง เน้นการดูแลอย่างมีมาตรฐาน เชื่อว่าจะทำให้การครองเตียงในโรงพยาบาลของผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวลดลง ทำให้ผู้ป่วยสีเหลืองเข้าถึงการรักษาโดยเร็วก่อนที่จะกลายเป็นผู้ป่วยสีแดง 

เข้มประเมินอาการผู้ป่วย ก่อนให้รักษาที่บ้าน 

“พญ.นิตยา” กล่าวว่า การแบ่งเกณฑ์อาการผู้ป่วยโควิดกลุ่มสีเขียว สีเหลืองและสีแดงนั้น เป็นหลักเกณฑ์เดียวกันที่ใช้ทั้งประเทศ ในกรณีที่ติดเชื้อโควิดแล้วไม่มีอาการและไม่มีโรคร่วม เช่น ภาวะอ้วน ความดันสูง โรคเรื้อรังต่างๆ จะจัดอยู่ในกลุ่มสีเขียว แต่หากพบสัญญาณอาการที่เชื้อจะลงปอด เช่นมีอาการหอบเหนื่อยก็จะอยู่กลุ่มสีเหลือง แต่หากมีอาการหอบเหนื่อยมาก ค่าออกซิเจนต่ำก็จัดอยู่ในกลุ่มผู้ป่วยสีแดง โดยกรณีผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวที่อยู่ในระบบการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่บ้าน หรือในชุมชน ก็จะได้รับปรอทวัดไข้ วัดค่าออกซิเจนปลายนิ้ว และเอกซเรย์ปอดทุกคน เป็นเหมือนการไปรักษาที่โรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลสนามแต่ระบบนี้เป็นการนำเครื่องมือแพทย์และยารักษาออกมาให้บริการที่ชุมชนแทน   

ผู้ติดเชื้อโควิด-19 หากต้องการเข้าสู่ระบบการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่บ้าน หรือในชุมชน สามารถติดต่อได้หลายช่องทาง เช่น โทร.สายด่วน สปสช. 1330 ซึ่งจะมีการประสานมาที่ทีมคอมโควิด IHRI หรือติดต่อมายังทีมคอมโควิด IHRI แอดไลน์ @comcovid-19 โดยตรง ซึ่งจะมีพยาบาลอาสาคัดกรองอาการก่อน พร้อมประสานไปยังแกนนำชุมชน เพื่อให้ท่านได้รับการดูแลที่บ้านหรือในชุมชนอย่างปลอดภัย ซึ่งหากมีอาการมากขึ้นจะมีการประสานเพื่อให้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล

ในกรณีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่สนใจได้รับการดูแลที่บ้านและในชุมชน แต่ไม่ได้อาศัยอยู่ในชุมชน 23 แห่ง ที่ IHRI ดำเนินการนั้น “พญ.นิตยา” กล่าวว่า ทาง IHRI จะประสานไปยังแกนนำชุมชน อาสาสมัคร และเครือข่ายที่ผู้ติดเชื้ออาศัยอยู่เพื่อติดตามดูแล เพียงแต่เบื้องต้นขอให้ติดต่อเข้ามาก่อน ทั้งนี้ด้วยระบบนี้เป็นบริการหนึ่งที่มีความยืดหยุ่นสูง ช่วยตอบสนองและทำให้ผู้ป่วยโควิด-19 ได้รับการดูแลโดยเร็ว เป็นประโยชน์กับชุมชน และคนไทยทุกคน และการที่กรมการแพทย์และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้การสนับสนุนจะทำให้ผู้ป่วยมีความเชื่อมั่นและมีการขยายเครือข่ายชุมชนมากขึ้น 

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS