สพฐ. เล็ง “ปรับตัวชี้วัด” ลดความเครียดเรียนออนไลน์

ศบค.เคาะล็อกดาวน์ 10 จังหวัดสีแดงเข้ม “บอร์ด กพฐ.” ระบุ มีแนวโน้มเรียนออนไลน์ตลอดเทอม เล็งปรับตัวชี้วัดผู้เรียน-ครู ให้สอดคล้องกับสถานการณ์

ศบค.ล็อกดาวน์ 10 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ นครปฐม สมุทรสาคร สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส นอกจากมาตรการที่ยกระดับเข้มข้นขึ้น รวมถึงการห้ามออกนอกเคหะสถานตั้งแต่ 21.00-04.00 น.ตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค.นี้แล้ว ยังเน้นย้ำให้สถานศึกษาใช้การเรียนการสอนหรือกิจกรรมเพื่อการสื่อสารแบบทางไกลและเรียนออนไลน์เท่านั้น

วันนี้ ( 9 ก.ค. 2564) เอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ระบุภายหลังการประชุม กพฐ. ครั้งที่ 7/2564 ผ่านระบบออนไลน์ว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) รายงานให้ที่ประชุมรับทราบถึงการจัดการเรียนการสอนในสถานการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เบื้องต้นคาดว่าบางโรงเรียนจะต้องจัดการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ ตลอดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564  ไม่สามารถเปิดสอนในโรงเรียน หรือ On-site ได้ เพราะโควิด-19 ยังมีการแพร่ระบาดอย่างหนักอยู่ จากนั้นจะประเมินสถานการณ์ เพื่อดูว่าจะสามารถเปิดเรียนภาคเรียนที่ 2 ได้หรือไม่

โดยที่ประชุมเสนอให้มีการปรับตัวชี้วัดการประเมินการจัดการเรียนการสอนของครูและนักเรียน ซึ่งเดิมกำหนดให้ต้องเรียนในชั้นเรียนไม่น้อยกว่า 200 วันต่อปี เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่ต้องจัดการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์เป็นหลัก นอกจากนี้ ที่ประชุมยังไม่อนุมัติให้โรงเรียนมัธยมศึกษาขยายห้องเรียนเพิ่มเติม เนื่องจากปัจจุบันมีจำนวนนักเรียนลดน้อยลง ขณะเดียวกันจำนวนครูด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ก็มีน้อย หากขยายห้องเรียนก็ต้องรับครูเพิ่ม ดังนั้น ในอนาคตหากไม่จำเป็น กพฐ. ก็จะไม่อนุมัติให้เปิดห้องเรียนเพิ่มอย่างแน่นอน

“ที่ประชุมยังได้รายงานผลการดำเนินงานของ กพฐ. ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2560-2564 และจะครบวาระการดำรงตำแหน่งในเดือนกรกฎาคมนี้ จากนั้นจะรักษาการเป็นเวลา 60 วัน ก่อนดำเนินการสรรหา กพฐ. ชุดใหม่เสร็จ โดยตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ได้มีการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กไปแล้ว 208 แห่ง ยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็กไปแล้วกว่า 195 โรงเรียน ถือว่าดำเนินการได้ค่อนข้างล่าช้า จากโรงเรียนขนาดเล็กที่มีอยู่ทั้งหมดกว่า 1.4 หมื่นโรงเรียน”

ด้าน อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระบุว่า ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 สพฐ. ได้กำหนดการจัดการเรียนการสอน 5 รูปแบบ ประกอบด้วย การเปิดสอนในโรงเรียน (On-site) การจัดการเรียนการสอนทางไกล ได้แก่ การจัดการเรียนการสอนผ่านระบบโทรทัศน์ (On–air) การจัดการเรียนการสอนผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (On–demand) การจัดการเรียนการสอนแบบถ่ายทอดสด (Online) การจัดการเรียนการสอนด้วยการนำส่งเอกสารที่บ้าน (On–hand) และการจัดการเรียนแบบผสมผสานหลายรูปแบบ

ในส่วนการประเมินผลการเรียนรู้ของนักเรียน ได้มอบหมายให้ครูและผู้ปกครองร่วมกันกำหนดแนวทางในการประเมินผลการเรียนรู้ของนักเรียน และมีเครื่องมือการวัดผล ประเมินผล ที่สร้างขึ้นตามบริบทของนักเรียนเป็นรายบุคคล ซึ่งเป็นแนวทางการจัดการเรียนการสอนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 นี้ โดย สพฐ. ได้แจ้งให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียนทุกแห่งได้ทราบและรับไปดำเนินการปฏิบัติแล้ว

Author

Alternative Text
AUTHOR

ศศิธร สุขบท

มนุษย์ช่างฝัน ชอบสร้างสรรค์ข่าวเชิงบวก มีพรรคพวกชื่อจินตนาการ แสนสุขกับงานขับเคลื่อนสังคม