ล็อกดาวน์อย่างไร ? ให้เจ็บแล้วจบ

สธ. เสนอจำกัดห้ามเดินทางข้ามจังหวัด “นพ.มานพ” ชี้ฉีดวัคซีนไม่พอ – ตรวจเชื้อต่ำ ติดเชื้อพุ่งปมส่อล็อกดาวน์ “นพ.บวรศม” คาดว่าต้องรอนานกว่า 4 สัปดาห์หลังเริ่มล็อกดาวน์ผู้ติดเชื้อรายใหม่รายวันจึงจะลดลงจนอยู่ในศักยภาพที่ระบบสาธารณสุขรองรับได้

แม้จะพูดได้ไม่เต็มปากว่าจะมีการ “ล็อกดาวน์” ในเร็ววันนี้หรือไม่ แต่มีการส่งสัญญาณที่ชัดเจนจากข้อเสนอของ “กระทรวงสาธารณสุข” ขอจำกัดการเดินทางปิดสถานที่เสี่ยง 14 วันในพื้นที่เสี่ยงและพื้นที่กันชนแม้ในการแถลงข่าวจะไม่ใช้คำว่า “ล็อกดาวน์” 

เป้าหมายการยกระดับมาตรการ ก็เพื่อควบคุมการแพร่เชื้อให้ได้ หวังกดตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ หากปล่อยให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ระบบสาธารณสุขไทยจะถึงขั้นล้มเหลวสถานการณ์อาจไม่ต่างจากประเทศอินเดียที่ต้องจัดการศพเป็นหลัก 

แม้จะปิดแคมป์คนงาน และงดการกินอาหารที่ร้านไปแล้ว แต่ผู้ติดเชื้อกลับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง “นักระบาดวิทยา” บางคนบอกว่า มาตรการที่มีอยู่ไม่สามารถควบคุมการติดเชื้อได้เพราะสายพันธุ์ที่ระบาดเป็น “สายพันธุ์เดลต้า” ที่ระบาดเร็ว จำเป็นต้องล็อกดาวน์สนิทเหมือน หรือเข้มข้นกว่าช่วงเดือนเมษายน ปีที่แล้ว 

วันที่ 8 ก.ค. 2564 ประเทศไทยมีการติดเชื้อโควิด-19 ใหม่สูงถึง 7 พันคน และทำสถิติใหม่ผู้เสียชีวิตสูงสุดที่ 75 คน ส่วนใหญ่อยู่ใน กทม.และปริมณฑล มีประชาชนยังคงรอรับการตรวจหาเชื้อจำนวนมาก มีการใช้เตียงรักษา ในทุกระดับอาการมากขึ้น บุคลากรทางการแพทย์มีความเหนื่อยล้า 

เบื้องต้น “นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต” ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประกาศมาตรการเพื่อควบคุมสถานการณ์การระบาด 5 มาตรการ ดังนี้ 

1.ให้ใช้ Rapid Antigen Test หรือชุดทดสอบแบบรวดเร็ว โดยสถานพยาบาลดำเนินการได้ทันทีเมื่อมีความพร้อม และจะวางระบบรองรับ เรื่องการตรวจด้วยตัวเองที่บ้านต่อไป 

2.การแยกกักที่บ้านและชุมชน (Home Isolation & Community Isolation) ในผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย

3.ให้ Bubble and Seal ตัวเอง แยกรับประทานอาหารที่บ้านและที่ทำงานเนื่องจากส่วนใหญ่ติดเชื้อจากที่บ้านและที่ทำงาน และเน้นการทำงานที่บ้าน (Work From Home) เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อ

4.เร่งฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยงผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปและ 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง เพื่อลดการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต โดยจะฉีดวัคซีนให้ได้ไม่น้อยกว่า 80% ใน 2 กลุ่มนี้ เน้นพื้นที่เสี่ยงใน กทม.และปริมณฑล จะเร่งฉีดให้ได้มากกว่า 1 ล้านโดสต่อสัปดาห์ภายใน 1-2 สัปดาห์ 

5. เสนอ ศบค. จำกัดห้ามเดินทางข้ามจังหวัด และปิดสถานที่เสี่ยงสถานที่รวมกลุ่มโดยไม่จำเป็น ยกเว้นตลาด ซูเปอร์มาร์เก็ต ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ออกจากบ้านเท่าที่จำเป็น เช่น ไปซื้ออาหาร เดินทางไปโรงพยาบาล หรือไปฉีดวัคซีนเป็นต้น

เสนอข้อมูลอะไรให้ นายกรัฐมนตรี ประกอบการตัดสินใจล็อกดาวน์ 

หลังกระทรวงสาธารณสุขมีข้อเสนออย่างเป็นทางการ ผ่าน ศบค.ชุดเล็ก นายกรัฐมนตรีก็นัดประชุมวันพรุ่งนี้ (9 ก.ค. 64) เพื่อหาทางทำให้ภายใน 14 วันตัวเลขผู้ติดเชื้อต้องลดลง หนึ่งในข้อมูลที่จะถูกนำเสนอให้ที่ประชุมพรุ่งนี้ คือการคาดการณ์ว่าผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้น 2 เท่าใน 2 สัปดาห์ จึงมีความเป็นไปได้ว่าผู้ติดเชื้อในสัปดาห์หน้าอาจขึ้นได้ถึง 10,000 คนต่อวัน ซึ่ง ศบค.เคยแถลงให้ประชาชนทราบไปแล้ว เพื่อขอให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด ลดการเคลื่อนย้าย เฝ้าระวังผู้สูงอายุ และเข้ารับการฉีดวัคซีน จึงคาดว่าอาจปิดบางเมือง บางพื้นที่ บางช่วงเวลา เน้นเฉพาะพื้นที่ปัญหา เช่น กรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมถึง 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวม 9 จังหวัด ซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมเข้มงวดสูงสุดอยู่ในขณะนี้ 

ขณะที่เมื่อวิเคราะห์จากการให้สัมภาษณ์ “พล.อ. ณัฐพล นาคพาณิชย์” เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการ ศบค. (ศปก.ศบค.) ที่ระบุว่า ศบค. พร้อมจะพิจารณาเรื่องการล็อกดาวน์ทั้งประเทศหากจำนวนผู้ติดเชื้อยังไม่ลดลง ซึ่งการ ล็อกดาวน์ทั้งประเทศนั้น เป็นไปได้ 2 รูปแบบพร้อมกัน 

1. Full Lockdown เฉพาะพื้นที่แพร่ระบาดหนัก เช่น 9 จังหวัด หรืออาจเพิ่มจังหวัดใกล้เคียงที่เป็นกันชน เพื่อป้องกันการเคลื่อนย้าย 

2. Semi  Lockdown คือกึ่งล็อกดาวน์ในพื้นที่แพร่ระบาดทั่วไป หรือแพร่ระบาดน้อย 

ทำทุกทางในการสกัดการระบาดแล้ว ?

“ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร” หัวหน้าศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ระบุว่า ทางเลือกอื่นในการสกัดการระบาด ไม่ว่าจะเป็นการระดมสร้างภูมิคุ้มกันผ่านวัคซีน กทม. และอีกหลายจังหวัดเสี่ยง มีการฉีดวัคซีนไปพอสมควร แต่ด้วยประสิทธิภาพของวัคซีน ระยะเวลาในการกระตุ้นภูมิ รวมถึงจำนวนผู้ได้รับวัคซีนที่ยังไม่มากพอ เราหวังผลจากวิธีนี้ไม่ได้

การตรวจก็มีข้อจำกัด ตัวเลขการตรวจรวมรายสัปดาห์ดูข้อมูล ศบค. เราตรวจหาผู้ติดเชื้อได้ต่ำมาก กทม. และปริมณทล ตรวจได้เพียงวันละ 3 พันคน และมีผลการตรวจพบเป็นบวก ที่สูงมาก ๆ จนน่าตกใจ การค้นหาผู้ป่วยและแยกโรคแทบเป็นไปไม่ได้

ในเมื่อสองทางเลือกข้างต้นทำไม่ได้ คงเหลือทางสุดท้ายในการตัดตอนการระบาด คือ full lockdown 

แต่ การ full lockdown แบบช่วงเมษายนปีที่ผ่านมา รัฐหมดค่าใช้จ่ายถึงเดือนละ 3 แสนล้านบาท เงินจำนวนนี้สามารถเพิ่ม capacity ในการตรวจเชื้อ, ปรับปรุงระบบการเฝ้าระวังการระบาด, เพิ่มศักยภาพของระบบโรงพยาบาล, ซื้อวัคซีนประสิทธิภาพสูง วางแผนการจัดหาและกระจายรวดเร็ว และมีปริมาณเกินพอสำหรับคนทั้งประเทศได้ และเรามีเวลาให้เตรียมการนานถึง 1 ปี

“บางที … พวกเราในฐานะประชาชน ควรใช้เหตุการณ์ทั้งหมดเป็นบทเรียนว่าเราปล่อยให้สถานการณ์เดินมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร” 

ล็อกดาวน์อย่างไรให้เจ็บแต่จบ 

ถ้าหากเราใช้มาตรการล็อกดาวน์ เป็นระยะเวลา 21 วัน (9-30 ก.ค.64) จะใช้เวลากี่วันในการลดจำนวนผู้ป่วยใหม่ และลดจำนวนผู้เสียชีวิต?  คือโจทย์ที่“ผศ.นพ.บวรศม ลีระพันธ์” รองผู้อำนวยการศูนย์นโยบายและการจัดการสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล ตั้งขึ้นเพื่อหาคำตอบว่า เมื่อล็อกดาวน์ ต้องมีอะไรบ้างที่ทำให้ เจ็บ แต่จบ 

หากเราต้องเลือกใช้มาตรการการควบคุมล็อกดาวน์ ก็ควรต้องทำให้เกิดผลลัพธ์ในการลดการแพร่เชื้อในชุมชนให้ได้อย่างน้อย 40% เมื่อเทียบกับก่อนล็อกดาวน์ จึงจะสามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อในชุมชนลงมากพอที่จะอยู่ภายในขีดความสามารถของการตรวจเชิงรุก การสอบสวนโรค การกักกันแยกโรค ซึ่งอาจจะทำให้แนวโน้มการระบาดในระยะหลังเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ลดลงต่อไปได้

“แต่หากล็อกดาวน์แล้วลดการแพร่เชื้อในชุมชนได้น้อยกว่า 40% จะทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ยังคงเกินขีดความสามารถของระบบควบคุมโรค และอาจจะทำให้แนวโน้มการระบาดในระยะหลังเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์แล้วกลับมาเริ่มสูงขึ้นอีกครั้งได้”

ผศ.นพ.บวรศม” ระบุอีกว่า การล็อกดาวน์ ที่จะลดการแพร่เชื้อได้ประมาณ 40% คาดการณ์ว่าจะใช้เวลาประมาณ​ 4 สัปดาห์จึงจะทำให้จำนวนผู้ติดชื้อใหม่รายวันลดลงมาใกล้เคียงกับสถานการณ์ช่วงต้นเดือน มิ.ย.64 และคาดการณ์ว่าต้องใช้เวลา ประมาณ 7-8 สัปดาห์ จึงจะทำให้ความต้องการเตียง รพ.กลับมาใกล้เคียงกับสถานการณ์ช่วงต้นเดือน มิ.ย.64 แต่จำนวนผู้เสียชีวิตรายวันในระยะ 8 สัปดาห์นี้อาจจะยังไม่ลดลงมาเท่ากับช่วงต้นเดือน มิ.ย.64

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS