มูลนิธิบูรณะนิเวศ ชี้ พ.ร.บ.โรงงานมีช่องโหว่ หวั่นกระทบการเยียวยาเหตุเพลิงไหม้โรงงาน หมิงตี้ เคมิคอลฯ

เรียกร้องกรมโรงงานฯ เปิดรายงานตรวจสอบมาตรฐานก่อนเกิดเหตุ ด้านผู้ว่าฯ สมุทรปราการ ไฟเขียวเย็นนี้ ปชช.ในรัศมีเกิน 1 ก.ม.กลับบ้านได้

วันที่ 3 หลังเหตุเพลิงไหม้โรงงานหมิงตี้ เคมิคอล จำกัด แม้จะสามารถควบคุมเพลิงได้แล้ว แต่โจทย์สำคัญคือ การจัดการกับสารเคมีที่ยังตกค้างภายในโรงงาน ชุมชนและสิ่งแวดล้อม

วันนี้ (7 ก.ค.2564) นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ระบุหลังประชุมศูนย์บัญชาเหตุการณ์จังหวัดสมุทรปราการ กรณีเหตุเพลิงไหม้โรงงานหมิงตี้เคมีคอล จำกัด ในซอยกิ่งแก้ว 21 ว่า ขณะนี้มีปัญหา 2 ส่วน คือการจัดการกับสารเคมีที่อยู่ในพื้นที่ทั้งบริเวณภาคพื้น และที่ค้างอยู่ในถัง โดยถังมีขนาดบรรจุ 2,000 ตัน ก่อนเกิดเหตุ มีสารสไตรีนโมโนเมอร์อยู่ 1,600 ตัน ซึ่งเผาไหม้ไปแล้ว แต่ยังไม่ชัดเจนว่าเหลืออยู่ในถังเท่าไหร่

ส่วนการกลับเข้าที่พัก เวลาประมาณ 17.00 น.วันนี้ จะให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในรัศมีเกินกว่า 1 กิโลเมตรกลับเข้าที่พักได้ ขณะที่วันนี้พบมีประชาชนบางส่วนในรัศมี 5 กิโลเมตร เริ่มทยอยกลับเข้าบ้านพักไปก่อนหน้าแล้ว

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ยอมรับว่า ขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่ามีสารเคมีตกค้างจำนวนเท่าไหร่ ส่วนผลกระทบสิ่งแวดล้อมยอมรับว่า กังวลผลต่อแหล่งน้ำและดิน แม้ประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่ไม่ได้บริโภคน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติก็ตาม โดยกรมควบคุมมลพิษได้ลงตรวจสอบแหล่งน้ำธรรมชาติ 13 จุดในพื้นที่เพื่อดูผลกระทบร่วมกับกรมทรัพยากรน้ำบาดาล

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ตั้งข้อสังเกตว่า เหตุเพลิงไหม้ที่เกิดขึ้น สะท้อนถึงความหละหลวมของภาครัฐหรือไม่ โดยเฉพาะกระทรวงอุตสาหกรรม ได้กำกับดูแลตามมาตรการอย่างเข้มข้นหรือไม่ หากกำกับแล้วทำไมจึงเกิดเหตุรุนแรงขึ้นได้ กระทรวงอุตสาหกรรมต้องออกมาแสดงความรับผิดชอบ

“ต้องมีการสอบสวนความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ตั้งแต่การขยายกำลังการผลิตจาก 2,000 กว่าตัน เป็น 30,000 กว่าตัน นั่นเท่ากับต้องกักเก็บปริมาณสารเคมีมากขึ้น และเป็นสารไวไฟ มีระบบรองรับอย่างไร ได้รับใบอนุญาตหรือไม่ กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้เข้ามาตรวจสอบหรือไม่ว่ามีระบบการจัดเก็บที่ปลอดภัย และควบคุมผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างไร ถ้าได้ทำแล้ว ทำไมจึงเกิดเหตุรุนแรงขนาดนี้ได้ ทั้งหมดนี้ต้องปรากฎในรายงานการตรวจสอบของกรมโรงงานฯ “

เพ็ญโฉม ยังตั้งข้อสังเกตถึงการเยียวยาผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมว่า หากพิจารณาจาก พ.ร.บ.โรงงานฉบับปัจจุบัน ยังพบช่องโหว่ เพราะกฎหมายฉบับปัจจุบันได้ตัดเนื้อหาเรื่องการตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงของโรงงานออกไปในชั้นกฤษฎีกา แม้จะถูกทักท้วงก่อนหน้านี้แต่ก็ไม่เป็นผล

“เมื่อมีการแก้ พ.ร.บ.โรงงาน เราได้คัดค้านหลังมีการตัดเนื้อหา การตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงทั้งภายในและภายนอกโรงงานออกไป เพราะกังวลว่า จะเกิดปัญหาเรื่องการฟื้นฟูเยียวยาผลกระทบ เพราะแม้กรณีนี้โรงงานจะทำประกันภัยไว้ แต่อาจไม่ครอบคลุมความเสียหายในลักษณะนี้ แล้วใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ”

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active