ต้องทำบัฟเฟอร์โซนโรงงานในชุมชน! แนะรัฐแก้ต้นเหตุ เปิดข้อมูลการปล่อยมลพิษโรงงาน

ถอดบทเรียนไฟไหม้ “โรงงานหมิงตี้” ผู้เชี่ยวชาญสิ่งแวดล้อม เสนอทำเขตกันชนโรงงานในชุมชน แนะรัฐ ทำ PRTR เปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ

เหตุระเบิดและเพลิงไหม้ โรงงานผลิตเม็ดโฟมพลาสติก ของบริษัท หมิงตี้ เคมิคอล จำกัด ในซอยกิ่งแก้ว 21 อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ คือ ภัยพิบัติล่าสุดที่เกิดขึ้นภายใต้วิกฤตโรคระบาดที่เรากำลังเผชิญอยู่ กลายเป็นอีกโจทย์ยากที่ต้องเร่งแก้ปัญหา ซึ่งไม่ใช่ภัยพิบัติที่เกิดเฉพาะใน จ.สมุทรปราการ แต่ยังส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ไม่ต่างจากสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ที่ผลกระทบเกิดขึ้นกับประชาชนโดยไม่จำกัดเขตแดน และยังสะท้อนถึงปัญหาการวางผังเมืองของไทย ที่เน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจจนหลายครั้งหลงลืมการปกป้องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และสิทธิชุมชน

“กรณีโรงงานระเบิด คือ บทเรียนที่จะต้องปรับปรุงแก้ไข ในอนาคต ระยะยาว การวางผังเมืองของหน่วยราชการจะต้องดูให้ดีว่าถ้าเป็นพื้นที่สีม่วง หรือ โรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่จะต้องมี บัฟเฟอร์โซน พื้นที่สีเขียวล้อมรอบ กั้นระหว่างโรงงานกับชุมชน อย่างน้อย 1-2 กิโลเมตร”

สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ย้ำว่า แม้โรงงาน หมิงตี้ เคมิคอล จำกัด จะตั้งมาก่อนชุมชน ตั้งแต่ปี 2532 แต่หลังจากมีสนามบินสุวรรณภูมิ ในช่วงปี 2544 ผังเมืองที่เคยเป็นสีเขียวรอบ ๆ โรงงาน ก็กลายเป็นสีแดง มีธุรกิจ อาคารพาณิชย์ เกิดขึ้นล้อมรอบพื้นที่สีม่วง ทำให้แนวกันชนระหว่าง โรงงานกับชุมชนหายไป กรณีนี้ จึงจำเป็นต้องนำมาเป็นบทเรียนปรับปรุงแก้ไขผังเมืองในอนาคต โดยเสนอให้รัฐ เร่งสำรวจโรงงานในลักษณะที่เป็นสีม่วง ใกล้กับสีแดง ว่าโรงงานเหล่านี้ก่อผลกระทบและมีอันตรายต่อชุมชนมากน้อยแค่ไหน ขณะที่โรงงานเองก็ต้องทำรายงานสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัย ให้กับกรมโรงงานตรวจสอบเป็นประจำทุกปีเพื่อความปลอดภัย พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า กรณีที่เกิดขึ้น อาจเกี่ยวข้องกับมาตรการตรวจสอบโรงงานด้วยหรือไม่

สนธิ ระบุอีกว่า การระเบิดของโรงงานมีลักษณะใกล้เคียงกับที่มาบตาพุด คือ โรงงานตั้งมาก่อนที่ชาวบ้านจะมาอยู่อาศัย แต่กรณีนี้สะท้อนว่า จำเป็นต้องมีการปรับผังเมืองใหม่ให้มีบัฟเฟอร์โซนระหว่างโรงงาน กับ ชุมชน อย่างน้อย 1-2 กิโลเมตร ส่วนโรงงานที่ระเบิดจะต้องรับผิดชอบด้วยการปิดโรงงานอย่างน้อย 7 วัน หรือปิดระยะยาว และเฉพาะพื้นที่ใกล้เคียงที่เกิดเหตุ มีโรงงานประมาณ 300 แห่ง ควรเร่งตรวจสอบและถอดบทเรียนจากสิ่งที่เกิดขึ้นครั้งนี้

ผลกระทบด้านสุขภาพ

ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม ระบุตรงกัน ประชาชนในพื้นที่รัศมี 5 กิโลเมตร จะได้รับผลกระทบสูงจากไอระเหยของ สารสไตรีนโมโนเมอร์ และคาร์บอนมอนอกไซด์

โดยระยะใกล้จะส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจทำให้แน่นหน้าออก หายใจไม่ออก ระคายเคืองตา แต่ที่สำคัญ คือ สารสไตรีนโมโนเมอร์ : สารก่อมะเร็ง ระยะยาวถ้าหายใจสะสมในร่างกาย ตับ ปอด สูดทั้งคืนก็มีผลกระทบมีสารก่อมะเร็ง ระยะไกลกว่า 10 กิโลเมตรก็ส่งกลิ่นและกระทบต่อการสะสมระยะยาว

“ถ้าได้รับ 100 ส่วนใน 1 ล้านส่วน ต้องหนี แต่ถ้าจางและหายใจเกิน 48-72 ชม. ระยะยาวแบบนี้จะสะสมในร่างกาย ทำให้เซลล์เปลี่ยนรูปร่างได้ระยะยาว 10 กิโลเมตร ไม่ได้มีแค่ สารสไตรีนโมโนเมอร์ แต่มี CO ที่ไปจับกับเม็ดเลือดแดง แทน O2 กดประสาทสมองส่วนกลาง ทำให้มีปัญหาเรื่องระบบทางเดินหายใจ ระบบสมอง ระบบเลือดได้ ต้องอพยพเร่งด่วน…”

สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

ด้าน รศ.วิษณุ อรรถวานิช ผู้เชี่ยวชาญงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเกษตร ระบุ ฝุ่นควันที่ลอยมา ไม่ว่าจะเป็นสารพิษหรือไม่ต้องระมัดระวัง เช่น PM 2.5 เผาไหม้เกิดฝุ่น แต่ PM 2.5 อาจจะมีอะไรปนเปื้อนหรือไม่ก็ได้ แต่เคสนี้ทราบแน่ชัดว่าแหล่งกำเนิด เป็นสารอันตรายก่อมะเร็ง ปนมากับการเผาไหม้เกิด PM 2.5 บางส่วนติดสารเคมีมาด้วย การที่สูดเข้าไปในร่างกายจะเพิ่มความอันตราย สำคัญคือ ฝุ่นไม่เท่าไหร่ อะไรมากับฝุ่น คือ สิ่งสำคัญ มาก ในเคสนี้อันตรายต้องระวัง แนะประชาชนปฏิบัติตัวสวมหน้ากาก N 95

“หลีกเลี่ยงการเข้าใกล้กลุ่มควันดำในช่วงนี้เพราะมีสารเคมีซ่อนในฝุ่น การที่เราหายใจเข้าไปในปอด ฝังตัวและสะสมเป็นอันตรายที่ไม่เกิดผลทันทีทันใด แต่ในอนาคต จะเกิดผลตามมา หลายคนภูมิคุ้มกันต่างกัน ขึ้นอยู่กับความสามารถในร่างกายของแต่ละคน”

รศ.วิษณุ อรรถวานิช ผู้เชี่ยวชาญงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเกษตร

แนะรัฐเร่งทำ PRTR เอกชน เปิดเผยข้อมูลมลพิษ

รศ.วิษณุ เสนอรัฐควรออกมาตรการป้องกันผลกระทบตั้งแต่ต้นทาง เช่นในต่างประเทศ ที่ใช้กฎหมายชื่อว่า ทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ หรือ PRTR ของไทยเข้าใจว่าอยู่ในวาระการแก้ปัญหาฝุ่นแห่งชาติ ซึ่งจะระบุชัดเจนว่า โรงงานอยู่ตรงไหนในชุมชน ต้องแสดงสารมลพิษที่ใช้และปลดปล่อยให้กับสาธารณชนทราบด้วย และทุกครั้งที่มีการเคลื่อนย้ายสารเคมี คนในชุมชนละแวกนั้นจะต้องรับทราบ แต่กลไกประเทศไทยไม่มีเลยส่วนนั้น ทุกอย่างเป็นกล่องดำ  พูดง่าย ๆ คือ ไม่มีกฎหมายนี้ ไม่ได้บังคับ เพราะฉะนั้นสาธารณชน หรือ ชุมชนไม่สามารถรู้ได้ว่า ชุมชนโรงงานที่อยู่ใกล้ใช้สารอะไร ผลิตอะไร เคลื่อนย้ายอะไร เราไม่ทราบอะไรเลย

เมื่อเทียบกับ PM2.5 จากจุดความร้อน หรือการวัดค่าฝุ่นเราวัดได้จากจุดฮอตสปอตของดาวเทียม แต่โรงงานเป็นกล่องดำที่ไม่ทราบอะไรเลย ที่เป็นข้อมูลให้สาธารณชนรับทราบถึงอันตรายของโรงงาน ส่วนนี้เป็นส่วนที่ต้องเร่งทำอย่างยิ่ง

“ปัจจุบันนี้ ประชาชน ถูกลิดรอนสิทธิ์ผลิตอะไรออกมาก็ตาม แต่ไม่ได้เผยแพร่สู่สาธารณชน ถ้าแก้ปัญหา และป้องกันตั้งแต่เริ่มต้น ผมเชื่อมั่นว่า เราไม่ต้องมานั่งคุยกันว่า สารตัวไหน มีองค์ประกอบอะไร เท่าไร ตัดไฟต้นทาง ผลกระทบจะไม่รุนแรงขนาดนี้ แต่ประเทศไทย PRTR ยังไม่ผ่าน หรือ พูดง่าย ๆ ว่า เปิดเฉพาะภาคเอกชนที่สมัครใจเข้ามาเปิดเผยข้อมูล แต่ที่ไม่สมัครใจก็เยอะ ถอดบทเรียนครั้งนี้จึงน่าจะเป็นโอกาสที่ดี…”


รศ.วิษณุ อรรถวานิช ผู้เชี่ยวชาญงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเกษตร

รศ.วิษณุ ทิ้งท้ายว่าเหตุผลที่ PRTR ไม่ผ่าน อาจเป็นเพราะมุมมองระดับนโยบายยังให้ความสำคัญไปที่เรื่องการพัฒนา และการเติบโตทางเศรษฐกิจ เน้นอำนวยความสะดวกให้กับภาคเอกชน เพื่อมีต้นทุนที่ต่ำ หวังดึงนักลงทุนจากต่างชาติเพื่อเพิ่มการจ้างงานในประเทศ​ และให้ความสำคัญกับสิทธิ และผลกระทบกับชุมชน และสิ่งแวดล้อมน้อย แต่ก็ยังเห็นว่า ไม่มีอะไรสายเกินไป

ผมว่ากรณีนี้อยากจะให้เป็นบทเรียนคิดให้มากขึ้น ในประเด็นสิ่งแวดล้อม และชุมชน พยายามผ่านสิ่งเหล่านี้ให้ได้ เพื่อให้สาธารณชนปลอดภัย…

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน