“ยอมเจ็บสั้น ๆให้จบ” นพ.อุดม คชินทร หวั่นระบบสาธารณสุขรับไม่ไหว

เล็ง ถกใช้มาตรการ​ “ล็อก​ดาวน์” 11-12 ก.ค.​ นี้ ชี้ ไทยเข้าสู่ระบาดระลอก​ 4​ แล้ว​ ศบค. เคาะฉีดไฟเซอร์เข็ม 3 กระตุ้นภูมิบุคลากรทางการแพทย์​

เมื่อวันที่​ 6​ ก.ค.​ 2564​ “ศ.เกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร” ที่ปรึกษา ศบค. กล่าวถึง การยกระดับมาตรการคุมโควิด-19 ในไทย หากยอดผู้ติดเชื้อไม่ลดลง ทางออกเดียว คือ มาตรการล็อกดาวน์ ไม่มีทางอื่น ต้องยกระดับมาตรการ

“เรื่องเศรษฐกิจก็สำคัญ ประชาชนอดตายจริงๆ แต่ยังไงเงินหาใหม่ได้ แต่ชีวิตคนหาใหม่ไม่ได้ ลองเป็นญาติพี่น้อง ที่ติดเชื้อ แล้วมีการเสียชีวิตทุกวันมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนตัวรับไม่ได้ คนหนึ่งเราก็ไม่อยากให้ตาย เพราะฉะนั้นต้องปกป้อง คนไม่ให้ตายก่อน เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด”

“นพ.อุดม” กล่าวต่อไปว่า​ ยอมเจ็บสั้นๆให้มันจบ​ ได้พูดในที่ประชุมแล้วตอนนี้ถ้าไม่ยอมเจ็บ โรคระบาดยังอยู่เศรษฐกิจเดินได้หรือไม่ คนยังป่วยมหาศาลกำลังด้านสาธารณสุขไม่พอ มีคนตายกว่า 50-60 คน แล้วจะขึ้นไปอีกวันละ 100 กว่าคน

ชี้ไทยเข้าสู่การระบาดระลอก​ 4​ แล้ว

“นพ.อุดม” ยืนยันขณะนี้เป็นการระบาดระลอก 4 แล้ว เนื่องจากเป็นไวรัสกลายพันธุ์ การระบาดในชุมชน ในครอบครัวในองค์กร โดยหาที่มาที่ไปของเชื้อไม่ได้ ซึ่งเข้ากับคำจำกัดความของการระบาดระลอกใหม่ ขณะที่มาตรการที่ทำอยู่ กว่าจะเห็นผล
อย่างน้อย 14 วัน คือช่วงฟักตัวของเชื้อ โดยหลัง 14 วันจะเริ่มเห็นผลในมาตรการต่างๆ

“หากสู้ไหวระดับผู้ติดเชื้อต้องอยู่ ประมาณ 500-1,000 คนต่อวัน แต่หากยังคงอยู่ในระดับผู้ติดเชื้อมากกว่าพันคนทุกวัน ยอมรับว่าไม่ไหว โดยจะมีการประเมินสถานการณ์อีกครั้งในวันที่ 11-12 ก.ค นี้”

แนะเร่งฉีดวัคซีน​ -​ ประเมินล็อกดาวน์​

สิ่งสำคัญที่จะหยุดการติดเชื้อได้นอกจากวัคซีนแล้ว คือ การหยุดการเคลื่อนไหว ของประชากร เนื่องจากเชื้อไปกับคน การ WFH ควรทำให้ได้อย่างน้อย75% ลดการไปสถานที่สาธารณะให้ได้มาก ลดการเดินทางข้ามจังหวัด หากตัวเลขผู้ติดเชื้อยังไม่ลด มองว่า อาจจะต้องล็อกดาวน์เหมือนช่วงเมษายนปีที่แล้วถึงจะคุมอยู่ สิ่งสำคัญที่จะต้องทำตอนนี้คือ ต้องลดการเจ็บป่วยเสียชีวิต ให้ได้ก่อน

“นพ.อุดม” บอกว่าในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาทั้งโลก มีการระบาดไวรัสเดลต้าเป็นจำนวนมาก โดยระบาดไปกว่า 96 ประเทศ ขณะที่ภาพรวมสถานการณ์ในประเทศไทยเมื่อ 2 เดือนที่แล้ว​ 85% ยังเป็นสายพันธุ์อัลฟา แต่เดือนมิถุนายน – กรกฎาคม เป็นสายพันธุ์เดลต้า 30% ของประเทศถือว่าเร็วมากเฉพาะกรุงเทพฯและปริมณฑล พบว่า มีการแพร่ระบาดของไวรัสเดลต้าถึง 50%

คาดอีก​ 2​ เดือน​ สายพันธุ์​เดลต้า​ระบาดทั้งโลก

สายพันธุ์เดลต้ามีการแพร่ระบาดเร็วกว่าสายพันธุ์อัลฟาถึง​ 40 % อีก 1-2 เดือนประเทศไทยและทั้งโลกการแพร่ระบาดจะเป็นสายพันธุ์เดลต้าเกือบทั้งหมด แต่หากดูภาพรวมเชื้อเดลต้า ไม่ได้มีความรุนแรงมากกว่าสายพันธุ์อัลฟาแต่มีลักษณะพิเศษที่จะทำให้ผู้ป่วย มีภาวะออกซิเจนต่ำ ภายในระยะเวลา 3-5 วัน ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ทำให้มีความต้องการเตียงในผู้ป่วยหนักเพิ่มขึ้นด้วย หากปล่อยโดยไม่มีการควบคุมสายพันธุ์เดลต้า อนาคตอาจทำให้ระบบสาธารณสุขอยู่ไม่ได้

เคาะฉีดไฟเซอร์เข็มที่ 3 กระตุ้นภูมิบุคลากรทางการแพทย์

“นพ.อุดม” ระบุต่อว่าสายพันธุ์เดลต้าทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง ขณะที่งานวิจัยในอังกฤษพบว่า ไฟเซอร์ เมื่อพบเบต้าภูมิคุ้มกันลดลง 7.5 เท่า เมื่อพบเดลต้าลดลง 2.5 เท่า แอสตราเซเนกา เมื่อพบ เบต้า ภูมิคุ้มกันลดลง 9 เท่า เมื่อพบเดลต้า ลดลง 4.3 เท่า ส่วนซิโนแวค งานวิจัยของ สวทช.ร่วมกับศูนย์วิจัยจุฬาฯ พบว่า ถ้าเจอเดลต้าภูมิลดลง 4.9 เท่า หากแปลงเป็นตัวเลขทางคลินิก ความสามารถกระตุ้นภูมิต้านทาน mRNA หรือ ไฟเซอร์ ดีที่สุด รองมาเป็นแอสตราฯ และซิโนแวค ศบค.จึงมีมติว่ากลุ่มบุคลากรทางการแพทย์จะต้องได้บูสเตอร์ก่อนเป็นกลุ่มแรก โดยต้องได้ mRNA เป็นแอสตราฯ หรือ ไฟเซอร์ ที่กำลังจะได้มาจากสหรัฐอเมริกา 1.5 ล้านโดส

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS