ถอดต้นแบบ “ศูนย์พักคอยวัดสะพาน” กระจายครอบคลุมทั้ง 6 กลุ่มเขต ตั้งเป้าจัดตั้ง 20 ศูนย์ฯ รับผู้ป่วย 3,000 เตียงเร็วที่สุด แก้ปัญหาเตียงเต็ม สกัดการแพร่ระบาดในครอบครัว
จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในกรุงเทพมหานคร ที่เพิ่มสูงขึ้นหลักพันคนต่อเนื่องร่วมเดือน แม้จะมีการเพิ่มโรงพยาบาลสนามเพื่อรองรับผู้ป่วยสีเขียว และสีเหลือง แต่จำนวนผู้ติดเชื้อที่ไม่ลดลง “กรมการแพทย์” รายงานว่าทุกวันนี้มีจำนวนคนโทรหาเตียงผ่านสายด่วน 1668 มากกว่าเดือนที่แล้วถึง 5 เท่า
ความสำเร็จของ “ศูนย์พักคอยวัดสะพาน” จากกรณี “ชุมชนคลองเตย” ที่ต้องกลายเป็นคลัสเตอร์ระบาดหลักในกรุงเทพมหานคร ทำหน้าที่แยกกักผู้ติดเชื้อรอส่งเข้าระบบการรักษา ช่วยให้การควบคุมโรคมีประสิทธิภาพมากขึ้นในสถานการณ์คับขัน กรุงเทพมหานครจึงถอดบทเรียนและนำไปเป็นรูปแบบการรับมือปัญหาเตียงผู้ป่วยในระบบไม่เพียงพอ
วันที่ 5 ก.ค. 2564 “พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเปิดเผยแนวทางการดำเนินงานจัดตั้งศูนย์พักคอยกรุงเทพมหานคร เพื่อรอการส่งต่อผู้ป่วยโควิด-19 โดยขณะนี้ทั้ง 6 กลุ่มเขตได้พิจารณาจัดตั้งศูนย์ฯ กระจายครอบคลุมทั้ง 6 กลุ่มเขต รวม 17 ศูนย์ฯ รองรับผู้ป่วยได้ 2,560 เตียง ประกอบด้วย
กลุ่มเขตกรุงเทพเหนือ เขตบางเขนใช้พื้นที่ศูนย์กีฬารามอินทรา รองรับได้ 150 เตียง เขตจตุจักรใช้พื้นที่ศูนย์กีฬาประชานิเวศน์ รองรับได้ 190 เตียง และศูนย์สร้างสุขทุกวัยจตุจักร รองรับได้ 120 เตียง เขตดอนเมืองใช้พื้นที่ศูนย์สร้างสุขทุกวัยดอนเมือง รองรับได้ 150 เตียง ทั้งหมดอยู่ภายใต้การดูแลของ รพ.กลาง
กลุ่มเขตกรุงเทพกลาง เขตพระนครใช้พื้นที่อาคารปฏิบัติธรรม วัดอินทรวิหารรองรับได้ 170 เตียง และเขตดินแดงใช้พื้นที่สนามกีฬาเวสน์ 2 รองรับได้ 150 เตียง ทั้งหมดอยู่ภายใต้การดูแลของ รพ.เจริญกรุงประชารักษ์
กลุ่มเขตกรุงเทพใต้ เขตคลองเตยใช้พื้นที่วัดสะพาน (ดำเนินการแล้วตั้งแต่ 1 พ.ค.เป็นต้นมา) รองรับได้ 250 เตียง เขตสวนหลวงใช้พื้นที่วัดปากบ่อ รองรับได้ 170 เตียง ทั้งหมดอยู่ภายใต้การดูแลของ รพ.สิรินธร
กลุ่มเขตกรุงเทพตะวันออก เขตหนองจอกใช้พื้นที่ค่ายลูกเสือกรุงเทพวันวานรองรับได้ 200 เตียง เขตลาดกระบังใช้พื้นที่ร้าน BOOM BOOM รองรับได้ 120 เตียง เขตสะพานสูงใช้พื้นที่ศูนย์สร้างสุขทุกวัยสะพานสูง รองรับได้ 150 เตียงเขตบางกะปิใช้พื้นที่ศูนย์สร้างสุขทุกวัยบางกะปิ รองรับได้ 150 เตียง ทั้งหมดอยู่ภายใต้การดูแลของ รพ.เวชการุณรัศมิ์
กลุ่มเขตกรุงธนเหนือ เขตบางกอกน้อยใช้พื้นที่วัดศรีสุดารามวรวิหาร รองรับได้ 90 เตียง อยู่ภายใต้การดูแลของ รพ.ราชพิพัฒน์ เขตทวีวัฒนาใช้พื้นที่ศูนย์สร้างสุขทุกวัยทวีวัฒนา รองรับได้ 100 เตียง อยู่ภายใต้การดูแลของ รพ.ตากสิน
กลุ่มเขตกรุงธนใต้ เขตบางแคใช้พื้นที่ศูนย์สร้างสุขทุกวัยบางแค(เรืองสอน) รองรับได้ 150 เตียง เขตบางขุนเทียนใช้พื้นที่ศูนย์สร้างสุขทุกวัยบางขุนเทียนรองรับได้ 100 เตียง เขตภาษีเจริญใช้พื้นที่วัดนิมมานรดี รับได้ 150 เตียงทั้งหมดอยู่ภายใต้การดูแลของ รพ.หลวงพ่อทวีศักดิ์ฯ
ทั้งนี้ศูนย์ฯที่มีความพร้อมสามารถเปิดได้ทันทีมีจำนวน 5 ศูนย์ ได้แก่ 1.อาคารปฏิบัติธรรม วัดอินทรวิหาร เขตพระนคร รับได้ 170 เตียง 2.วัดสะพาน เขตคลองเตย รับได้ 250 เตียง 3.ค่ายลูกเสือกรุงเทพวันวาน เขตหนองจอก รับได้ 200 เตียง 4.วัดศรีสุดารามวรวิหาร เขตบางกอกน้อย รับได้ 90 เตียงและ 5.ศูนย์สร้างสุขทุกวัยบางแคเรืองสอน เขตบางแค รับได้ 150 เตียง รวมจำนวนผู้ป่วยที่สามารถรับได้ทั้งสิ้น 860 เตียง จากนั้นจะทยอยเปิดให้บริการศูนย์ที่เหลือภายในวันที่ 9 ก.ค.64 สำหรับศูนย์ฯ อาคารกีฬาเวสน์ 2 เขตดินแดงจะสามารถเปิดได้ตั้งแต่วันที่ 14 ก.ค.เป็นต้นไป
นอกจากนี้ ที่ประชุมกำชับให้ทุกเขตเร่งปรับปรุงสถานที่ให้มีความเหมาะสมและมีองค์ประกอบครบถ้วนโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านสุขอนามัย ระบบบำบัดน้ำเสียระบบรักษาความปลอดภัย CCTV ระบบสื่อสารภายในกับผู้ป่วย และการกำจัดขยะติดเชื้อ
“ตั้งเป้าจะจัดตั้งให้ครบ 20 ศูนย์ฯ รับผู้ป่วยได้ 3,000 เตียงให้เร็วที่สุด เพื่อลดปัญหาผู้ป่วยตกค้างและไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในครอบครัว”