รพ.บุษราคัม ขยายอีก 1,500 เตียง ด้าน ศบค. “คลายล็อกโครงการก่อสร้าง 4 ประเภท – อนุญาตเคลื่อนย้ายแรงงานคุมระบาด”

นายกฯ ลงนามแล้วผ่อนคลายมาตรการปิดแคมป์คุมระบาด “โครงการก่อสร้างที่มีความจำเป็น 4 ประเภท” และ “การเคลื่อนย้ายแรงงานกรณีเพื่อควบคุมโรค” ใน กทม. และปริมณฑล

พื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ที่ทำลายสถิติจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่และผู้เสียชีวิตนิวไฮต่อเนื่อง ทำให้วันนี้ (5 ก.ค. 2564) รัฐบาลประกาศเร่งขยายเตียงใน รพ.บุษราคัม เพิ่มอีก 1,500 เตียง สำหรับภาพรวมขณะนี้สามารถรองรับผู้ป่วยได้กว่า 3,700 เตียง และสามารถเพิ่มได้ถึง 4,000 เตียงในอนาคต

หากวิเคราะห์จากตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่วันนี้ มีผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มขึ้น 6,166 คน พบว่า ยังคงมีผู้ติดเชื้อในพื้นที่กรุงเทพมหานครมากที่สุด 1,729 คน รองลงมาคือ 5 จังหวัดปริมณฑล (นครปฐม, นนทบุรี, ปทุมธานี, สมุทรปราการ และสมุทรสาคร) 1,565 คน การก่อสร้างโรงพยาบาลสนามจึงเป็นอีกหนึ่งแผนงานที่เกี่ยวร้อยอยู่กับคำสั่งปิดงานก่อสร้างเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

วานนี้ (4 ก.ค. 2564) รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) ได้ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เพื่อขอให้พิจารณาอนุมัติในหลักการการให้อนุญาตสำหรับการก่อสร้างโครงการก่อสร้างบางประเภท และเคลื่อนย้ายแรงงานในกรณีที่มีความจำเป็น

โดยเสนอให้มีการผ่อนคลายข้อกำหนดฉบับที่ 25 กรณีคำสั่งปิดสถานที่ก่อสร้างขนาดใหญ่ และสถานที่พักอาศัยชั่วคราวของแรงงานก่อสร้าง รวมถึงห้ามการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างน้อย 30 วัน ในพื้นที่ กทม. นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งที่ประชุม ศปก.ศบค. ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการ สำหรับมาตรการผ่อนคลายคำสั่งการก่อสร้างในโครงการก่อสร้างบางประเภท ได้แก่

1. โครงการก่อสร้างที่อาจเสียหายเชิงโครงสร้างวิศวกรรมจนยากต่อการแก้ไขถ้าหยุดก่อสร้างทันที หรือเกิดอันตรายแก่ประชาชนที่สัญจรไปมา หรือชุมชนโดยรอบโครงการก่อสร้าง เช่น โครงการก่อสร้างใต้ดินที่มีความลึก การก่อสร้างชั้นใต้ดินที่ยังไม่ได้เทปูนปิดล้อม

2. การก่อสร้างโครงสร้างชั่วคราว ซึ่งหากหยุดก่อสร้างทันที หรือดำเนินการล่าช้าจะได้รับความเสียหายจนเกิดอันตรายแก่ประชาชนที่สัญจรไปมา หรือชุมชนโดยรอบโครงการดังกล่าว เช่น นั่งร้าน และแบบรอการเทปูน

3. การก่อสร้างที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยด้านการจราจร เช่น ไฟสัญญาณ แผ่นเหล็กปิดงานก่อสร้างบนผิวจราจร

4. การก่อสร้างสถานที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด-19 และเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ด้านสาธารณสุข เช่น โรงพยาบาลสนาม โรงพยาบาล สถานพยาบาล หรือ สถานที่ก่อสร้างอื่นๆ ที่ใช้เพื่อประโยชน์ในการควบคุมโรค

นอกจากนี้ ที่ประชุม ศปก.ศบค. ได้เห็นชอบ ผ่อนคลายมาตรการเคลื่อนย้ายแรงงานก่อสร้างที่มีเหตุผลทางด้านสาธารณสุข จากสถานที่พักชั่วคราว ทั้งกรณีการข้ามเขตจังหวัด หรือภายในเขตจังหวัด เพื่อประโยชน์ในการควบคุมโรคโควิด-19 เช่น การรักษาพยาบาล การตรวจสุขภาพ การตรวจวินิจฉัย และการฉีดวัคซีน

ทั้งนี้ ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือ ผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ได้รับมอบอำนาจจากคณะกรรมการโรคติดต่อเป็นผู้พิจารณาอนุญาตโครงการก่อสร้างที่เข้าหลักเกณฑ์ทั้ง 4 ประเภทข้างต้นในเขตพื้นที่ของตนเองเป็นกรณีไป พร้อมกับประกาศให้ประชาชนทราบ

อ่านเพิ่ม : “มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก” พา กสม. ลงพื้นที่ฟังปัญหา “คนงานก่อสร้าง” หลังมีคำสั่งปิดแคมป์คุมระบาด

Author

Alternative Text
AUTHOR

ศศิธร สุขบท

มนุษย์ช่างฝัน ชอบสร้างสรรค์ข่าวเชิงบวก มีพรรคพวกชื่อจินตนาการ แสนสุขกับงานขับเคลื่อนสังคม