หลังวิจัยพบสาร Andrographolide ป้องกันการเกิดปอดอักเสบในผู้ป่วยโควิด-19 ระยะแรก “พญ.สยมพร” ชี้ ประชาชนเสี่ยงติดเชื้อสูงในหลายพื้นที่ จากไวรัสกลายพันธุ์ ประสิทธิภาพวัคซีนน้อยลง หนุนรักษาตัวที่บ้าน
“ศ.เกียรติคุณ พญ.สยมพร ศิรินาวิน” แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อและระบาดวิทยาคลินิก สาขาวิชาโรคติดเชื้อ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ประเมินแนวโน้มสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2564 ว่าในพื้นที่กรุงเทพมหานครยังจะไม่สามารถควบคุมได้ ขณะที่ต่างจังหวัดยังสามารถควบคุมการระบาดได้ดี จึงควรตีกรอบพื้นที่เพื่อแยกโซนแบ่งระดับให้สอดคล้องกับมาตรการควบคุมโรคตามหลักการระบาดวิทยาออกเป็น 4 ประเภท คือ 1. พื้นที่ไม่มีการระบาด 2. มีการระบาดน้อย 3. มีการระบาดแบบกระจุกตัว และ 4. มีการระบาดแบบวงกว้าง เช่น กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ซึ่งมาตรการควบคุมโรคอาจไม่จำเป็นต้องล็อกดาวน์ทั้งหมด แต่ในพื้นที่ที่ระบาดสูงควรมีมาตรการเข้มงวดกว่าพื้นที่อื่น
ในสถานการณ์ที่ผู้ป่วยล้นศักยภาพระบบสาธารณสุข ประเทศไทยมี ยาฟ้าทะลายโจร ซึ่งได้รับการพิสูจน์ว่ามีประสิทธิผลในการรักษา และป้องกันการเกิดปอดอักเสบในผู้ป่วยโควิด-19 ระยะแรก และมีความปลอดภัยสูง การใช้อย่างถูกต้องจะช่วยลดการเกิดโรคที่รุนแรงลดภาระทางการแพทย์ และค่าใช้จ่ายจำนวนมาก
“สถานการณ์เช่นนี้จึงมีข้อเสนอว่า ไม่จำเป็นต้องตรวจหาเชื้อทุกคนเสมอไปเพราะการตรวจโดยหลักการคือตรวจเพื่อวินิจฉัยโรค แต่สำหรับผู้สัมผัสเสี่ยงสูงการให้ยาฟ้าทะลายโจร ซึ่งมีสาร andrographolide ไปเลยจะดีกว่า คุ้มค่ากว่าการตรวจหาเชื้อ ซึ่งไม่ส่งผลต่อการรักษา หรือป้องกันความรุนแรงของโรค”
“พญ.สยมพร” ระบุว่าแนวทางการปฏิบัติในการดูแลรักษาผู้ป่วยระยะต้นที่บ้านหรือในชุมชน หากมีการใช้ยาฟ้าทะลายโจรในการรักษาจะช่วยให้ระบบสาธารณสุขเพิ่มขีดความสามารถในการดูแลผู้ติดเชื้อ การลดป่วยหนักและลดตายซึ่งต้องติดตามและพัฒนาต่อไป โดยหากคาดว่าเป็นผู้ติดเชื้อ หรือพิสูจน์ว่าติดเชื้อ ควรได้รับอาหารและน้ำอย่างเพียงพอซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญในการรักษาและเริ่มให้ยาฟ้าทะลายโจรโดยเร็วที่สุด ในปริมาณ 180 มก./วัน แบ่งเป็น 3 ครั้งก่อนอาหารเป็นเวลา 5 วันพร้อมกับพักผ่อนให้เพียงพอ เนื่องจากสารandrographolide ที่มีอยู่ในฟ้าทะลายโจร มีฤทธิ์ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสSARS-CoV-2 จัดเป็นยาที่ปลอดภัยมีประสิทธิภาพ มีผลงานวิจัยรองรับในการรักษาโควิด-19 ราคาถูกและผลิตเองได้ในประเทศ
ในกรณีที่ยังไม่สามารถตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อยืนยันการติดเชื้อได้หรือยังไม่ทราบผล สามารถเริ่มให้ยาฟ้าทะลายโจรได้ก่อนเลย เพราะเมื่อผลตรวจเป็นลบก็ยังไม่สามารถบอกได้ว่าติดหรือไม่ติดเชื้อก่อนครบ 14 วัน อีกทั้งไม่มีเหตุต้องเลือกการรักษาหรือต้องใช้ยาราคาแพง แต่ทั้งนี้ต้องใช้ข้อมูลระบาดวิทยาเพื่อพิจารณาว่ามีความเสี่ยงติดเชื้อหรือไม่ร่วมกับอาการทางคลินิก นอกจากนี้การรอตะเวนหาที่ตรวจทำให้ผู้นั้นไม่ได้พักผ่อน การรักษาล่าช้า และสิ้นเปลืองทรัพยากร
“พญ.สยมพร” กล่าวอีกว่า การฉีดวัคซีน จนถึงขนาดนี้ครอบคลุมได้ประมาณ 9% ของประชากร และวัคซีนที่ประชาชนได้รับมีประสิทธิภาพลดลง เนื่องจากการกลายพันธุ์ของไวรัส ประชาชนจึงมีความเสี่ยงในการติดเชื้อสูงในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สัมผัสเสี่ยงสูง
“สถานการณ์ก่อนหน้านี้ผู้ติดเชื้อไม่แสดงอาการให้เข้ารับการดูแลรักษาและป้องกันการแพร่เชื้อในโรงพยาบาลหรือสถานที่รัฐจัดให้ แต่ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อที่มากเกินระบบสาธารณสุข จึงไม่สามารถทำได้ ดังนั้นผู้มีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยส่วนใหญ่หายได้เองและรักษาตามอาการ”