ย้ำ ต้องเปลี่ยนยุทธศาสตร์วัคซีนให้ผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยง 7 โรค ยอมนำเข้า “ซิโนแวค” เพิ่ม หลังแอสตราฯ ไม่ได้ตามเป้า “สฤณี” ทวงคำตอบรัฐบาล เมื่อไรจะเซ็นสัญญาซื้อวัคซีนเจ้าอื่น
สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 รุนแรงขึ้นทุกขณะ ทำสถิติสูงสุด ทั้งผู้เสียชีวิต และผู้ติดเชื้อจาก 5 พันคน เป็น 6 พันคน วานนี้ (2 ก.ค. 2564) ขณะที่ระบบสาธารณสุขเริ่มปรับตัวด้วยการให้ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว หรือไม่มีอาการรักษาตัวที่บ้านแทน ส่วนภาคธุรกิจยังคงได้รับผลกระทบอย่างหนักอีกครั้ง กับมาตรการกึ่งล็อกดาวน์ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล
“ศ. นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์” ประธานหลักสูตรสาขาระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) และที่ปรึกษา รมว.กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยในรายการ ฉันคือผู้บริโภค Ep.39 “แนวทางบริหารวัคซีนโควิด ฝ่าวิกฤตล็อกดาวน์” เมื่อวันศุกร์ที่ 2 ก.ค. 2564 ทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ว่า การล็อกดาวน์ในพื้นที่จังหวัดสีแดงเข้มที่เป็นอยู่ตอนนี้ อาจไม่สามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อได้อย่างเห็นผล ต้องล็อกแบบสนิท ซึ่งในประเทศทั่วโลกเมื่อล็อกดาวน์แล้ว จำนวนผู้ติดเชื้อก็ลดลงทันที ขณะที่วัคซีนจะได้ผลเร็วกว่า ก็ต่อเมื่อมีเพียงพอและฉีดได้เร็ว
“ศ. นพ.วีรศักดิ์” ยอมรับว่าเป็นคนเสนอให้ฉีดวัคซีนกับแรงงาน เพราะคนหนุ่มสาว จะนำเชื้อไปติดผู้สูงอายุ แต่สถานการณ์ที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว เชื้อลงไปถึงครัวเรือน จึงต้องฉีดผู้สูงอายุก่อน เพื่อรักษาระบบสาธารณสุขไม่ให้ผู้ป่วยล้นห้อง ICU แล้วหากติดเชื้ออยู่ในบ้านก็จะไม่เสียชีวิต เพราะได้วัคซีนแล้ว แต่ขณะนี้ในกรุงเทพมหานครยังฉีดวันซีนไม่ถึง 50%
วิจัย ม.อ. ชี้ “ซิโนแวค” ช่วยลดยอดผู้ติดเชื้อ จ.ภูเก็ต
คณะแพทยศาสตร์ ม.อ. เป็นหน่วยงานที่ประเมินประสิทธิผลของวัคซีน ซิโนแวค “นพ.วีระศักดิ์” ระบุว่า เป็นการประเมินที่ไม่เหมือนในห้องแล็บที่มีการตรวจเลือดหาแอนติบอดี แต่เป็นการประเมินในพื้นที่มีการฉีดวัคซีนและมีเชื้อระบาดไปพร้อม ๆ กัน โดยจะดูว่าคนที่ฉีดวัคซีนมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อน้อยกว่าคนที่ไม่ฉีดวัคซีนหรือไม่ เป็นวิธีการประเมินเชิงระบาดวิทยา พบว่าที่ จ.ภูเก็ต ที่เริ่มฉีดวัคซีนนำร่องเปิดประเทศ มีหลักฐานชัดเจน ว่าซิโนแวคได้ผล
“ที่ภูเก็ตป้องกันได้ 80-90% คนที่ฉีดวัคซีนแล้วติดเชื้อ ไม่มีใครปอดบวม ส่วนกรณีเชียงรายก็มีการระบาดในโรงพยาบาล ระดับของการป้องกันอยู่ที่ประมาณ 80% พยาบาลหรือแพทย์ที่ฉีดวัคซีนแล้ว ลดความเสี่ยงไป 80% แต่ว่า 80% ยังไม่ใช่ 100% จะบอกว่าฉีดแล้วกันได้ 100% ก็ดูจะเวอร์ไปหน่อย”
ข้อพึงระวัง 2 แห่งนี้ต่างกัน ที่ภูเก็ตฉีดวัคซีน 70% การระบาดมันละลายไปหมดเหลือผู้ติดเชื้อ 3-4 รายต่อวัน แต่ว่าที่เชียงราย ฉีดเจ้าหน้าที่ไปแล้ว 70% ก็ยังมีการระบาดอยู่ซึ่งทำให้กังวลว่าหากฉีดไป 70% แล้วจะป้องกันหรือ
“ผมคิดว่าอาจจะไม่ได้ ถ้าเชื้อกลายพันธุ์ และไม่ใช่เฉพาะซิโนแวค วัคซีนแอสตราเซเนกา หากเจอการระบาดของสายพันธุ์เดลตาจะเป็นอย่างไร แม้งานวิจัยในต่างประเทศฝั่งยุโรป ระบุพอต้านไวรัสได้ แต่กับร่างกายคนไทยยังไม่มีผลการศึกษา”
อย่างไรก็ตาม นักระบาดวิทยาประเมินประสิทธิภาพจากการป่วย ไม่ดูระดับแอนติบอดี กรณี จ.ภูเก็ต ที่มีการระบาดในขณะนั้น และมีการฉีดวัคซีน ช่วยกดให้จำนวนผู้ติดเชื้อลดลง ในพื้นที่สงขลาและ 3 จังหวัดชายแดนใต้ยังฉีดวัคซีนไปได้ไม่มาก แต่หลังฉีดประมาณ 4-5 เดือนในพื้นที่ดังกล่าว น่าจะมีคำตอบว่ารับมือกับสายพันธุ์แอฟริกาได้หรือไม่
ไม่มีทางเลือกต้องนำเข้า “ซิโนแวค” เพราะมีวัคซีนฉีดดีกว่าไม่มี
ความเสี่ยงจากกำลังการผลิตวัคซีนแอสตราเซเนกา ของโรงงานสยามไบโอไซเอนซ์ส่งมอบได้ไม่ถึง 10 ล้านโดสต่อเดือน ขณะที่ได้รับการชี้แจงว่า กำลังการผลิตอย่างเต็มที่จะกลับมาในเดือนกันยายนนั้น “ศ. นพ.วีระศักดิ์” มองว่า เป็นการประเมินที่มีความเสี่ยงมากเกินไป เนื่องจากไม่ดูบทเรียนที่ผ่านมา อาจทำให้เกิดความผิดพลาดซ้ำ ขณะที่การหาวัคซีนแหล่งอื่นในตอนนั้นค่อนข้างยาก
“นพ.วีระศักดิ์” กล่าวอีกว่า ทางออกคิดว่าคงไม่มีใครอยากล็อกดาวน์ แต่เมื่อตายเยอะ ๆ ก็ไม่พ้นที่ต้องล็อกดาวน์ เนื่องจากเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะถ้าวัคซีนมาเร็ว ก็ไม่ต้องล็อกดาวน์
“ถ้าคุณไม่ล็อกดาวน์ คนก็ตายกันเป็นเบือ จากรอวัคซีน ตอนนี้เริ่มกลายเป็นผู้ป่วยสีเขียวรักษาตัวที่บ้าน (Home isolation) และอาจกลายเป็น ระยะสุดท้าย เหมือนประเทศอินเดีย ที่ทำศพเป็นเรื่องหลัก จะเผาไม่ทัน วัคซีนอะไรเข้ามาตอนนี้ก็ต้องซื้อ ถ้าทำให้คนไม่ตาย เป็นซิโนแวคก็ต้องซื้อ แม้ยังไม่รู้ว่าจะสู้สายพันธุ์เดลตาได้หรือไม่”
ไม่ใช่สถานการณ์ที่รัฐบาลจะบอกว่า ได้พยายามแล้วแต่ได้แค่นี้
“สฤณี อาชวานันทกุล” นักวิชาการอิสระด้านการเงิน เข้าใจถึงความจำเป็นที่ต้องนำเข้าซิโนแวคมาก่อนในเดือนกรกฎาคม แต่ไม่ควรเป็นคำตอบสุดท้ายของเดือนถัดไป ข้อเสนอ คือ 1. รัฐบาลควรเร่งรัดส่งมอบแอสตราเซเนกาให้ได้ตามแผนมากน้อยแค่ไหน 2. การเจรจาวัคซีนทางเลือกที่เริ่มไปแล้วตั้งแต่เดือนเมษายน ต้องชัดเจนว่า “เราจะเซ็นสัญญาเมื่อไร” จะได้ของเมื่อไร จะได้เริ่มวางแผนการกระจายวัคซีน
“ประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศเริ่มกระจายการจัดซื้อวัคซีน เริ่มเจรจาและเซ็นสัญญาประมาณเมษายน พฤษภาคมกันแล้ว แทบทุกยี่ห้อส่งได้ภายใน 2-3 เดือนโดยฝั่งยุโรป ฉีดวัคซีนไปเยอะแล้วก็เลยสามารถจะส่งมอบให้ได้ ดังนั้น จึงไม่ใช่สถานการณ์ที่รัฐบาลจะบอกว่า เราได้พยายามแล้วแต่ได้แค่นี้”