ทางรอดอยู่ที่ “วัคซีน” ไม่ใช่ “ล็อกดาวน์”

แพทย์ชนบท ชี้ ต้องได้วัคซีนเดือนละ 15 ล้านโดส แต่ติดปัญหาวัคซีนยังมีน้อย แอสตราฯ เผย เตรียมส่งมอบวัคซีนให้ไทยครบ 6 ล้านโดสสัปดาห์นี้

ชมรมแพทย์ชนบท เสนอต้องฉีดวัคซีนให้ได้เดือนละ 15 ล้านโดส ประเทศไทยจึงจะรอดจากวิกฤตโควิด-19 ระบุว่า ที่ผ่านมาความสามารถในการฉีดวัคซีนของบุคลากรทางการแพทย์ทั้งรัฐและเอกชนรวมๆ แล้วไม่น้อยกว่า 5 แสนโดสต่อวัน  และสามารถไปให้ถึงเป้าที่ 15 ล้านโดสต่อเดือนได้ แต่ยังติดปัญหาคือมีวัคซีนให้ฉีดน้อย

Image Name

โดยพบว่า วัคซีนแอสตราเซเนกาจากสยามไบโอไซเอนซ์ สามารถส่งให้ประเทศไทยได้เพียงเดือนละ 4 ล้านโดส ลดลงจากแผนเดิมที่รัฐบาลเคยบอกไว้ว่า ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นไปรัฐบาลจะได้แอสตราเซเนกาเดือนละ 10 ล้านโดส และซิโนแวค 3-5 ล้านโดส รวมเป็น 13-15 ล้านโดส ทำให้ยอดการจัดสรรวัคซีนเดือนกรกฎาคมที่จะถึงในไม่กี่วันนี้ ยังไม่ลงตัว และจนขณะนี้ก็ยังไม่มีการแจ้งยอดจัดสรรมาที่จังหวัด

ส่วนวัคซีนซิโนแวค แม้จะมีความพร้อมในการส่งมอบ แต่ยังมีคำถามต่อเรื่องประสิทธิภาพที่ต่ำกว่าวัคซีนยี่ห้ออื่น ขณะที่วัคซีนไฟเซอร์ โมเดอร์นา และจอห์นสันแอนจอห์นสัน หากไม่นับจำนวนการส่งมอบจำนวนไม่มากที่สหรัฐอเมริกาส่งมาเป็นอภินันทนาการ ก็ต้องรอถึงเดือนตุลาคม 2564 ซึ่งถึงตอนนั้นสถานการณ์การระบาดในประเทศไทยอาจจะย่ำแย่กว่านี้

“ทางรอดของประเทศก็ยังอยู่ที่ “วัคซีน”  ไม่ใช่การล็อกดาวน์ เราจะล็อกดาวน์ตัวเองไปได้กี่สัปดาห์ เศรษฐกิจก็จะล่มแล้ว ผู้คนจะอดตายกันอยู่แล้วนะ หากไม่เร่งระดมฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันให้เกิดขึ้นให้เร็วที่สุด  อย่าว่าแต่ 120 วันจะเปิดประเทศเลย ข้ามปี 2565 ก็เปิดประเทศไม่ได้”

ชมรมแพทย์ชนบท ยืนยันว่าไม่สามารถยอมรับการมีวัคซีนฉีดเพียงไม่ถึง 10 ล้านโดสต่อเดือนได้อีกแล้ว ทั้งๆที่ศักยภาพการฉีดได้มากกว่า 15 ล้านโดสต่อเดือน รัฐบาลต้องเร่งรัดจัดหาวัคซีนในทุกช่องทางมาให้เร็วและมากที่สุด ให้ได้เดือนละ 15 ล้านโดส รวมทั้งต้องพยายามจัดหาวัคซีนไฟเซอร์ และโมเดอร์นามาให้บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนให้เร็วและมากที่สุดเช่นกัน

ขณะที่วันนี้ (28 มิ.ย.2564) แอสตร้าเซนเนก้าประเทศไทย เผยแพร่ข่าวว่า จะทำการส่งมอบวัคซีนแอสตราเซเนกาให้กับกระทรวงสาธารณสุขครบ 6 ล้านโดสภายในสัปดาห์นี้ ตามแผนการจัดหาวัคซีนจำนวน 61 ล้านโดสให้กับประเทศไทย

โดยเดือนกรกฎาคมนี้ แอสตร้าเซนเนก้าจะดำเนินการส่งมอบวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับรัฐบาลไทย พร้อมเริ่มส่งออกวัคซีนไปยังประเทศต่างๆ โดยหนึ่งในสามของกำลังการผลิตวัคซีนภายในประเทศได้ถูกสำรองไว้เพื่อผลิตวัคซีนให้กับประเทศไทย ตามคำสั่งซื้อรวม 61 ล้านโดส ซึ่งคิดเป็นหนึ่งในสามของวัคซีนจำนวน 180 ล้านโดสที่ผลิตโดยสยามไบโอไซเอนซ์ ส่วนกำลังการผลิตที่เหลืออีกประมาณสองในสามจะจัดสรรให้กับการผลิตวัคซีนเพื่อส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว