ชาวบางกลอย ร้อง กสม. สางปมถูกละเมิดสิทธิ จี้ตรวจสอบ อุทยานฯ เมินดูแลคุณภาพชีวิต

ทุกข์หนัก ชาวกะเหรี่ยงบางกลอย เผชิญวิกฤตปากท้อง บางครอบครัวตกงานจากโควิด-19 ขาดรายได้ เข้าไม่ถึงอาหาร กระทบปัญหาสุขภาพ เจ็บป่วย ไร้การดูแล ด้านกรรมการสิทธิฯ ชุดใหม่ รับไม้ต่อเดินหน้าช่วยชาวบ้าน

ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ยื่นหนังสือร้องเรียนถึง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ขอให้เร่งหามาตรการเยียวยาด้านปากท้องและการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน หลังถูกอพยพโยกย้ายและต้องถูกดำเนินคดีจากการกลับขึ้นไปทำกินที่บางกลอยบน ซึ่งพวกเขายืนยันว่าเป็นถิ่นฐานดั้งเดิม 


เนื้อหาในหนังสือร้องเรียนดังกล่าว ระบุว่า ภายหลังการถูกอพยพโยกย้ายอย่างน้อย 2 ระลอก ในช่วงปี 2539 และ 2553-2554 ตลอดจนการผลักดันและการดำเนินคดีชาวบ้าน 28 คนที่พยายามกลับขึ้นไปอยู่อาศัยและทำกินในบริเวณบ้านบางกลอยบนเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทำให้ปัจจุบันชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยล่าง หมู่ที่ 1 ต.ห้วยแม่เพรียง  กำลังประสบปัญหาขาดแคลนอาหารอย่างหนัก 



ทุกวันนี้ชาวบ้านแต่ละครัวเรือนต้องบริโภคอาหารจากการรับบริจาค เช่น ข้าวสาร บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และปลากระป๋อง โดยบริโภคติดต่อกันเป็นเวลานาน ทำให้เกิดภาวะทุพโภชนาการ เป็นสาเหตุหลักของอาการเจ็บป่วย และขาดสารอาหาร



ผลกระทบที่กำลังเกิดขึ้นกับชาวบ้าน พบว่ามาจากสาเหตุหลัก ๆ 4 ข้อ ประกอบด้วย



1. ที่ดินทำกิน โดยอ้างว่า พื้นที่จัดสรรรองรับการอพยพของชาวบ้านเมื่อปี 2539 ไม่สามารถทำการเกษตรได้ โดยเฉพาะระบบการเกษตรแบบ “ไร่หมุนเวียน” ซึ่งเป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหารของชุมชน โดยลักษณะแปลงทำกินนั้นเต็มไปด้วยก้อนหินก้อนกรวด ทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก  อีกทั้งดินไม่สมบูรณ์ เป็นดินทราย ไม่มีคุณสมบัติดูดซับน้ำ ให้ความชุ่มชื้นแก่พืชพันธุ์ นอกจากนั้นหลายครัวเรือนยังไม่ได้รับการจัดสรรที่ดินทำกินภายหลังการอพยพ จึงไม่สามารถสร้างความมั่นคงทางอาหารหรือสร้างรายได้ให้ครัวเรือนได้ 



2. ความไม่สอดคล้องของโครงการช่วยเหลือเยียวยาที่เข้าไปในชุมชน เพราะหลังการอพยพโยกย้ายชุมชนปรากฏความพยายามของหลายหน่วยงานให้ความช่วยเหลือเยียวยาด้านปากท้องและอาชีพ โดยเฉพาะโครงการของมูลนิธิปิดทองหลังพระ ที่สนับสนุนระบบการเกษตร แต่พบว่า ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยง ขาดความเข้าใจเกี่ยวกับระบบการผลิตบนพื้นที่สูง และไม่ได้ให้ความช่วยเหลือเรื่องระบบชลประทานที่เพียงพอต่อความต้องการ หลายปีที่ผ่านมาชาวบ้านหลายครัวเรือนตัดสินใจลงทุนด้วยตนเองบนผืนดินที่ได้รับจัดสรรนั้น ผลที่ได้รับคือไม่มีผลิตผลทางการเกษตรเหลือเพียงพอในการบริโภคในครัวเรือน และไม่สามารถสร้างอาชีพหรือรายได้ให้ชุมชนได้


3. กฎหมายป่าไม้ ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถเข้าไปหาพืชผักในป่ามาบริโภคได้ เนื่องจากมีการประกาศเกี่ยวกับ “ไม้หวงห้าม” และ “ของป่าหวงห้าม” ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติมพ.ศ. 2562 ทำให้พืชหลายชนิดที่ชาวบ้านเคยบริโภคกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย เช่น หวายขม ลูกเนียง ใบเหลียง หน่อไม้ และเห็ด เป็นต้น รวมถึงปลาบางชนิดที่ชาวบ้านเคยบริโภคก็ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตลอดจนอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานไม่ได้สำรวจพื้นที่ใช้ประโยชน์ในอุทยานฯ ตามมาตรา 65 ของพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และยังได้แสดงถึงความเข้มงวดในการตรวจตราและบังคับใช้กฎหมายด้วยการติดตั้งกล้องวงจรปิดในพื้นที่ป่าที่ชาวบ้านเคยเข้าไปหากิน ชาวบ้านจึงไม่สามารถเข้าถึงการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นที่อุทยานแห่งชาติได้




4. เศรษฐกิจ ซึ่งชาวบ้านไม่มีทุนทรัพย์พอที่จะซื้ออาหารจากร้านค้า เนื่องจากภาวะวิกฤติโควิด-19 ทำให้หลายคนถูกเลิกจ้างงานและไม่มีรายได้ ส่วนชาวบ้านที่ทำงานกับโครงการที่เข้าไปให้ความช่วยเหลือในพื้นที่ กลับพบว่าได้รับค่าจ้างที่ไม่สอดคล้องกับค่าแรงขั้นต่ำ ปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้ชาวบ้านไม่สามารถมีเงินสำรอง หรือทุนทรัพย์พอที่จะซื้ออาหารมาบริโภคในทุกวัน 


จากสาเหตุดังกล่าว ทำให้คุณภาพชีวิตและสุขภาวะของชาวบ้านบางกลอยล่างตกอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง ดังปรากฏว่ามีชาวบ้านบางคนมีอาการอ่อนเพลีย ไร้เรี่ยวแรง ไม่มีน้ำนมให้บุตร และพบว่ายิ่งนานวันเข้าผู้ป่วยก็เพิ่มขึ้นทุกวันโดยปราศจากการดูแลโดยภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในขณะที่สถานการณ์ทางคดีความก็ยังคงดำเนินต่อไปชาวบ้านบางกลอยล่างจึงได้ร้องทุกข์ และมีข้อเสนอแนะมายังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ขอให้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคุณภาพชีวิตและที่ดินทำกินของชาวบ้านบางกลอยภายหลังการผลักดันให้เกิดการอพยพชาวบ้านลงมาอยู่ที่บ้านโป่งลึก-บางกลอย รวมถึงการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหามาตราการช่วยเหลือและเยียวยาชาวบ้านในระยะยาว เนื่องจากกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นนี้เกิดจากการที่หน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช 

พร้อมทั้งขอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินการของอุทยานแห่งชาติแก่งกะจาน ตามมาตรา 65 ในพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562   รวมทั้งหามาตรการช่วยเหลือด้านสาธารณสุข เพื่อให้ความช่วยเหลือชาวบ้านที่มีปัญหาด้านสุขภาพ ทั้งนี้ยังเรียกร้องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยเร่งด่วน

ปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ


ด้าน ปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า จะพิจารณาเรื่องนี้ เพื่อนำไปสู่การช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นรูปธรรม

“ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดที่แล้วได้ยุติการพิจารณากรณีปัญหาของชาวกะเหรี่ยงบางกลอยไปแล้ว แต่เนื่องจากมีการยื่นร้องเรียนเข้ามาใหม่และพบว่ามีสถานการณ์ใหม่ จึงจะหยิบยกประเด็นความเดือดร้อนของชาวบ้านบางกลอย กลับขึ้นมาพิจารณาอีกครั้ง เพื่อช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชนอย่างแท้จริงและเป็นรูปธรรม ”

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ