จับตา 21 อปท. ประจวบฯ ส่อวิกฤตที่ทิ้งขยะ

ค่ายธนะรัชต์ ไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่ต่อ 1 ก.ค. นี้ หลังให้ทิ้งขยะในค่ายมานาน 20 ปี ผู้ว่าฯ เร่งถกหน่วยงาน หาทางออก

18 มิ.ย. 2564 – จับตา 21 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จ.ประจวบคีรีขันธ์ ส่อวิกฤตที่ทิ้งขยะ หลังศูนย์การทหารราบค่ายธนะรัชต์ (ศร.) ประกาศปิดบ่อขยะในค่ายทหาร ที่ถูกใช้เป็นที่ทิ้งขยะมานาน 20 ปี โดยจะปิดรับขยะตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. เป็นต้นไป ส่วนสาเหตุการปิดบ่อขยะนั้น ศร. ระบุเหตุผลว่า เนื่องจากบ่อขยะดังกล่าวส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและสุขภาพของกำลังพลและครอบครัวในพื้นที่ค่ายธนะรัชต์ รวมทั้งส่งผลกระทบต่อการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ของหน่วยในอนาคต

บ่อขยะในค่ายธนะรัชต์ มีพื้นที่ 300 ไร่ รองรับขยะจาก 21 อปท. ทั้งเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบลจากพื้นที่ อำเภอหัวหิน ปราณบุรี สามร้อยยอด กุยบุรี เมือง และทับสะแก โดยบ่อขยะมีความสามารถในการรองรับขยะได้สูงสุด 60 ตันต่อวัน ขณะที่มีขยะที่นำเข้าบ่อขยะมากถึง 290 ตันต่อวัน หรือมากกว่าที่บ่อขยะสามารถรองรับได้ถึง 5 เท่า

ขณะที่ 21 อปท. ที่จะได้รับผลกระทบ ได้แก่ เทศบาลเมืองหัวหิน, เทศบาลตำบลหนองพลับ, เทศบาลตำบลปราณบุรี, เทศบาลตำบลปากน้ำปราณ, เทศบาลตำบลเขาย้อย, เทศบาลตำบลคลองวาฬ, เทศบาลตำบล กม.5, เทศบาลตำบลไร่ใหม่, เทศบาลตำบลทับสะแก, อบต.คลองวาฬ, อบต.เกาะหลัก, อบต.ทับใต้, อบต.หนองพลับ, อบต.หินเหล็กไฟ, อบต.วังก์พง, อบต.หนองตาแต้ม, อบต.ปากน้ำปราณ, อบต.สามร้อยยอด, อบต.ศิลาลอย, อบต.เขาแดง และ อบต.ดอนยายหนู (จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีทั้งหมด 61 อปท.)

ผู้ว่าฯ เร่งถกหน่วยงาน หาทางออก

ก่อนหน้านี้ เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทั้ง 21 อปท. ได้ขอความช่วยเหลือจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ให้ช่วยประสานไปยังค่ายธนะรัชต์ ขอให้พิจารณาอนุญาตให้ 21 อปท. ได้ใช้พื้นที่บ่อขยะดังกล่าวต่อไปก่อน เนื่องจากไม่สามารถจัดหาพื้นที่รองรับการกำจัดขยะของตนเองได้ทัน แต่ค่ายธนะรัชต์ก็ยืนยันคำตอบเดิม คือ ไม่สามารถอนุญาตให้ใช้ต่อไปได้

ทำให้ต้นเดือนมิถุนายน (11 มิ.ย.) ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ต้องเรียกหัวหน้าหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องถกด่วน โดยมีรายงานข่าวว่า ได้มีการกำชับให้ผู้เกี่ยวข้องในที่ประชุมทุกราย งดให้ข้อมูลสื่อมวลชน เพื่อให้การแก้ไขปัญหามีเอกภาพ และมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับประชาชน โดยแนวทางการแก้ปัญหายังคงใช้วิธีขอผ่อนผันการทิ้งขยะในค่ายธนะรัชต์ต่อไป และขอให้เทศบาลตำบลเขาน้อย อ.ปราณบุรี เป็นผู้เจรจาแทนเทศบาลตำบลปราณบุรี เจ้าภาพรายเดิม

ทั้งนี้ มีรายงานด้วยว่า ตัวแทนหลายหน่วยงานได้แสดงความเห็นในที่ประชุมว่า ควรเชิญผู้บริหารทั้ง 21 อปท. เข้ามาหารือเพื่อแก้ปัญหาก่อนหน้านี้ ไม่ใช่ปล่อยเวลาให้เหลืออีกเพียง 20 วัน ที่จะครบกำหนดปิดบ่อขยะแล้ว

ขณะที่รายงานข่าวของ สุรยุทธ ยงชัยยุทธ ผู้สื่อข่าวท้องถิ่น จ.ประจวบคีรีขันธ์ ระบุคำสัมภาษณ์ของ เกรียงไกร ทวีกาญจน์ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลหนองพลับ อ.หัวหิน ว่า เดิมทุก อปท. รู้ดีว่าจะมีการปิดบ่อขยะในค่ายธนะรัชต์เพราะมีปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม มีการแจ้งเตือนล่วงหน้านานหลายปี และเคยมีข้อเสนอให้ผู้บริหารเทศบาลรวมกลุ่มเป็นคลัสเตอร์เพื่อร่วมกันแก้ปัญหา แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีความคืบหน้า ซึ่งหากบริหารจัดการไม่ดี ปัญหาขยะใน อ.หัวหิน และ อ.ปราณบุรี จะวิกฤตมากที่สุด

รายงานข่าวดังกล่าว ยังระบุคำสัมภาษณ์ของ สุเทพ มลสวัสดิ์ ท้องถิ่น จ.ประจวบคีรีขันธ์ ว่า อปท. ส่วนใหญ่ ยังไม่มีแผนงานหรือแนวทางที่ชัดเจนในการบำบัดขยะ ยังไม่มีพื้นที่ทิ้งขยะในเขตรับผิดชอบของตนเอง ส่วนแนวทางในการแก้ไขปัญหาระยะสั้น หาก ศร. ไม่ยินยอม อปท. หลายแห่ง อาจว่าจ้างเอกชนรับขยะไปบำบัด ส่วนระยะยาว ผู้ว่าราชการจังหวัดมีนโยบายมอบหมายให้ อบจ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นผู้รับผิดชอบการจัดการขยะในภาพรวม โดยมีแนวโน้มว่าจะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะ

ที่ผ่านมา รัฐบาลภายใต้การกำกับของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กำหนดให้มี แผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ (พ.ศ. 2599-2564) โดยให้ อปท. มีบทบาทสำคัญในการจัดการขยะมูลฝอยตั้งแต่ต้นทาง พร้อมวางเป้าหมายไว้ว่า ขยะมูลฝอยชุมชนจะต้องได้รับการจัดการอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้น ส่วนขยะมูลฝอยตกค้างจะต้องได้รับการจัดการอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ร้อยละ 100 ของปริมาณขยะมูลฝอยตกค้างของปี 2558 ภายในปี 2562

ซึ่งหากนับระยะเวลาตามแผนแม่บทดังกล่าว ก็จะเหลือเวลาอีกแค่ 6 เดือน ที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการให้ได้ตามแผน แต่จากกรณีวิกฤตที่ทิ้งขยะของ 21 อปท. ที่ยังหาทางออกไม่ได้นั้น ดูเหมือนจะเป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่า เป้าหมายที่วางไว้อาจจะเกิดขึ้นได้ยาก


ข้อมูลอ้างอิง

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว