เด็กเล็กต้องรอด! เช็กความพร้อมรถโรงเรียน

หลังพบสถิติ 6 ปี เด็กถูกลืมในรถ 129 ครั้ง เสียชีวิต 6 ราย อายุระหว่าง 2- 6 ปี สสส. สร้างความร่วมมือกับศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สังกัด อปท. ทั่วประเทศ

เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 2565 ประกาศิต กายะสิทธิ์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า อุบัติเหตุและเหตุการณ์ลืมเด็กไว้ในรถตู้รับส่งนักเรียน จนเป็นเหตุทำให้มีนักเรียนเสียชีวิต เกิดขึ้นบ่อยครั้ง จากสถิติของกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค ระบุว่าตั้งแต่ปี 2557-2563 มีเด็กที่ถูกลืมและทิ้งให้อยู่ในรถถึง 129 ครั้ง เสียชีวิต 6 ราย โดยอยู่ในช่วงอายุระหว่าง 2- 6 ปี และยังเกิดขึ้นให้เห็นจนปัจจุบัน สสส. ตระหนักถึงความปลอดภัยของเด็กและเยาวชน จึงได้เข้าไปหนุนเสริม ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ศพด.) ในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภายใต้เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ โดยมีมาตรการป้องกันเหตุการณ์ อาทิ การจัดฝึกอบรมให้ครูประจำรถรับส่ง การสร้างความรู้ความเข้าใจให้นักเรียนผ่านสื่อการเรียนรู้ การเข้าใจถึงสถานการณ์ และการจำลองเหตุการณ์จริงหากติดอยู่ในรถ

“การตระหนักและความไม่ประมาทของครูที่ดูแลเด็ก ถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะสามารถป้องกันเหตุลืมเด็กไว้ในรถได้ แต่การสร้างการเรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติให้กับเด็ก ๆ ให้รู้จักการเอาตัวรอดจากการติดอยู่ในรถ รวมไปถึงการตกน้ำ จมน้ำ การปฏิบัติตัวเมื่อเกิดเหตุไฟไหม้ มาตรการเหล่านี้จึงควรจะบรรจุอยู่ในหลักสูตร หรือในแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้กับเด็กทุกคน เช่นเดียวกับที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ปลูกฝังความรู้เรื่องการเอาตัวรอดตั้งแต่วัยเยาว์ เพื่อลดการสูญเสียและไม่ให้เกิดเหตุการณ์ลืมเด็กไว้ในรถขึ้นอีก”

ประกาศิต กายะสิทธิ์

นิชาภา เพลินจิตร นักวิชาการศึกษาชำนาญการ อบต.แคน อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม กล่าวว่า ศพด.อบต.แคน มีครูจำนวน 10 คน ดูแลเด็กวัย 2-5 ปี จำนวน 87 คน ที่ผ่านมาไม่เคยเกิดเหตุมาก่อน แต่ต้องไม่ประมาทและสร้างความรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติจริงให้กับเด็ก ๆ โดยจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน เสริมประสบการณ์ชีวิต ภายใต้โครงการป้องกันเด็กติดรถ โดยทีมเจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ของ อบต. เป็นผู้มาฝึกอบรมให้กับเด็ก ๆ เริ่มต้นให้เด็กเรียนรู้จากคลิปวิดีโอ และทดลองปฏิบัติจริง โดยจะจำลองสถานการณ์ ให้เด็กเรียนรู้การเอาตัวรอดจากการติดในรถ เช่น การบีบแตร หากไม่มีคนมาช่วยให้ใช้ค้อนทุบกระจก ซึ่งรถ-รับส่งของ ศพด.อบต.แคน จะติดตั้งค้อนสำหรับทุบกระจกไว้ เมื่อเด็กได้ลองฝึกจากสถานการณ์จำลอง เด็กจะเข้าใจและจดจำได้ดี

ขณะที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในพื้นที่ภาคใต้ อย่างศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านดูซงกูจิ อ.กรงปินัง จ.ยะลา รอมือล๊ะ มะหะมิง ผู้อำนวยการศูนย์ฯ กล่าวว่าดูแล ศพด. แห่งนี้ ยังไม่เคยมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น เพราะครูคอยดูแลใส่ใจ ร่วมกับการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับผู้ปกครอง โดยเฉพาะครูที่ต้องไม่ประมาท รอบคอบ คอยตรวจสอบอย่างละเอียดทุกครั้ง นอกจากเรื่องการป้องกันการลืมเด็กไว้ในรถ ศพด.บ้านดูซงกูจิ ยังให้ความสำคัญกับการป้องกันอุบัติเหตุทางถนน เพราะในชนบท ส่วนใหญ่ผู้ปกครองจะขับรถจักรยานยนต์มาส่งบุตรหลานด้วยตนเอง ฉะนั้น การให้ความรู้เรื่องการจราจร การรณรงค์ให้สวมหมวกนิรภัยให้กับบุตรหลานทุกครั้งก่อนออกจากบ้าน ไม่เพียงแค่สร้างความปลอดภัยแต่ยังเป็นการฝึกวินัยจราจรให้กับเด็ก ๆ อีกด้วย เพื่อลดอุบัติเหตุให้กับเด็กเล็ก และคนในพื้นที่

ด้าน ฝาหรีดะฮ์ มุเส็มสะเดา ปลัดเทศบาลตำบลปริก อ.สะเดา จ.สงขลา กล่าวว่า ทางเทศบาลจัดรถตู้บริการรับ-ส่งเด็กจากบ้านมาที่ ศพด. โดยบนรถจะมีครู ไปพร้อมกับคนขับ ช่วยกันดูแลนักเรียนตรวจสอบว่านักเรียนขึ้น-ลง รถครบทุกคน เมื่อมีการประชุมผู้ปกครองนักเรียนจะสร้างความเข้าใจเรื่องมาตรการดูแลความปลอดภัยให้กับเด็กนักเรียน เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่าง ศพด. และผู้ปกครอง และสร้างความตระหนักให้กับครูและพนักงานขับรถ ให้รอบคอบ ไม่ประมาท เพราะหากเผอเรอเพียงนิดเดียวอาจจะเป็นเหตุให้เกิดการสูญเสียได้ นอกจากนี้ยังมีช่องทางสื่อสารที่ผู้ปกครองสามารถรายงาน ร้องเรียนการบริการตรงไปที่นายกฯ รองนายกฯ และปลัด เทศบาลได้โดยตรง ซึ่งทำให้สามารถรู้ปัญหาได้เร็วและแก้ไขได้ทันท่วงที

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active