กางโจทย์ แก้รัฐธรรมนูญ “พรรคร่วมรัฐบาล ฝ่ายค้าน ประชาชน” เอื้อประโยชน์ใคร?

กางร่างแก้ รธน. ตัดอำนาจ ส.ว. “ไอติม พริษฐ์” เตือนพรรคร่วมรัฐบาล-ฝ่ายค้าน แยกประเด็นแก้ รธน. เข้าทางรัฐบาลอยู่ยาว “ปริญญา” แนะพรรคร่วมฯ ใช้อำนาจต่อรองเพื่อประโยชน์ประเทศ

“โควิด-19 ยังไม่หาย ประชาธิปไตยก็ต้องเดินต่อ…”

โจทย์ชวนปฏิเสธได้ยาก ว่าความโกลาหลของการจัดสรรวัคซีน เป็นผลพวงหนึ่งของการจัดสรรทรัพยากรภายใต้ระบอบการเมืองและรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 ที่ตัวแทนไม่ได้มาจากเสียงของประชาชน 1 สิทธิ์ 1 เสียงอย่างแท้จริง

พริษฐ์ วัชรสินธุ แกนนำกลุ่ม Re-Solution และรัฐธรรมนูญก้าวหน้า (Conlab) และ ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ร่วมคลี่เหตุผลความจำเป็นการแก้รัฐธรรมนูญ และร่วมจับตากลเกมการเมือง ก่อนจะเปิดการประชุมร่วมกันของรัฐสภา 22 มิ.ย. นี้

ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ระบุ การเมืองคือ การจัดสรรทรัพยากร ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับสถานการณ์โควิด-19 และการจัดสรรวัคซีนที่ไม่มีประสิทธิภาพ โดยตั้งข้อสังเกตว่าต้นตอของเรื่องนี้มาจากรัฐธรรมนูญ 2560

“งบประมาณแผ่นดิน ปีละ 3 ล้านล้านบาท เงินกู้ล่าสุด 5 แสนล้านบาท แต่ภายใต้ รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ใช่ 1 คน 1 เสียง ปรากฏว่ามี ส.ว. ที่คนยึดอำนาจมา เลือกไว้ 250 เสียง… ประชาชน 71,000 คน ถึงจะมี ส.ส. เพียง 1 เสียง เอาไว้โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณางบประมาณ แต่ พลเอก ประยุทธ์ 1 คน มี 250 เสียง หมายความว่ามีเสียงมากกว่าประชาชนในการจัดสรรทรัพยากรของประเทศ ถึง 17.5 ล้านเท่า เราจะคาดหวังว่าจะเกิดการกระจายทรัพยากรที่เท่าเทียมได้อย่างไร…”

ฉายภาพใหญ่ แก้ไข รธน. 2560

พริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ “ไอติม” อธิบายว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 มี 2 ประเด็นที่พยายาทำคู่ขนานกันมาตลอด คือ ข้อเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ยกเลิกฉบับ 2560 และร่างใหม่โดย ส.ส.ร. ที่มาจากประชาชน แต่เป็นเส้นทางที่ต้องใช้เวลา เพราะต้องรอการทำประชามติถึง 2 ครั้ง และรอการเลือกตั้ง ส.ส.ร. จึงมาพร้อมข้อเสนอที่ 2 คือ การแก้ไขรายมาตรา เพื่อยืนยันว่าจะไม่ปล่อยให้ ส.ว. 250 คน เป็นผู้กำหนด หรือบงการทรัพยากรภาพรวมของประเทศ ซึ่งประเด็นการแก้ไขรายมาตราเวลานี้ มีเสนอเข้ามาแล้ว 4 กลุ่ม 14 ร่างแก้ไข และ 18 ประเด็น

  1. พลังประชารัฐ 1 ร่าง ครอบคลุม 5 ประเด็น
  2. พรรคร่วมรัฐบาล คนถือธงนำ คือ พรรคประชาธิปัตย์ 6 ร่าง และกำลังเสนอร่างที่ 7 ด้วยการขอความร่วมมือพรรคชาติไทยพัฒนา กับภูมิใจไทย
  3. พรรคฝ่ายค้าน คนถือธงนำ คือ พรรคเพื่อไทย 5 ร่าง 5 ประเด็น โดยล่าสุดมีบางร่าง ที่พรรคก้าวไกลไม่เข้าร่วม
  4. กลุ่ม Re-solution ซึ่งเป็นการรวมตัวของคณะก้าวหน้า กลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า พรรคก้าวไกล และภาคประชาสังคม อีก 1 ร่าง ครอบคลุม 4 ประเด็

พริษฐ์ วิเคราะห์ต่อว่า ใน 14 ประเด็นนี้ สามารถแก้ไขจัดเป็นหมวดหมู่ได้ 3 ประเภท

  • ประเภท A แก้เพื่อส่งเสริมประชาธิปไตยโดยตรง เพื่อแก้สืบทอดอำนาจผ่านกลไกวุฒิสภา ที่ยึดโยงกับประยุทธ์
  • ประเภท B ประเภทที่ส่งเสริมประชาธิปไตยโดยอ้อม แต่ไม่เกี่ยวกับการแก้ปัญหาสืบทอดอำนาจ เช่น การส่งเสริมกระจายอำนาจ สิทธิชุมชน สิทธิเสรีภาพ
  • ประเภท C ไม่เกี่ยวกับการส่งเสริมประชาธิปไตยเลย เช่น การเปลี่ยนหลักเกณฑ์จัดสรรงบประมาณให้ ส.ส. มีอำนาจเพิ่มขึ้น หรือแม้แต่ประเด็นการแก้ไขระบบการเลือกตั้งที่เป็นปัญหา

โดยมองว่าประเด็นที่ควรทำเร่งด้วยคือประเภท A และควรพักประเภท C ไว้ก่อน แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ของพรรคการเมืองกลับพบว่า พรรคพลังประชารัฐ มีเนื้อหาในร่างทั้งหมดอยู่ใน ประเภท C ไม่เกี่ยวกับการส่งเสริมประชาธิปไตยเลย ขณะที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ จาก กลุ่ม Re-solution กลับมีเนื้อหาสกัดกั้นการสืบทอดอำนาจทั้งหมด

ส่วนพรรคร่วมฝ่ายค้าน และพรรคร่วมรัฐบาลกลับมีเนื้อหาที่แตะการแก้ไขปัญหาทั้งประเภท A-B-C ซึ่งพริษฐ์ มองว่าเป็นข้อเสียเปรียบเพราะการเสนอหลายร่างอาจมีโอกาสที่จะเดินเกมตามรัฐบาลได้ง่ายกว่า

เตือน เสนอร่างรวมประเด็น-อย่าเดินตามเกมรัฐบาล

ความซับซ้อนของกลเกมการเมือง เรื่องการเสนอร่างแก้รัฐธรรมนูญ พริษฐ์ อธิบายว่า ปรากฏการณ์ที่ผ่านมาของข้อเสนอ ยกเลิก ม.272 ให้อำนาจ ส.ว.โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี แต่กลับมี ส.ว. ที่เห็นชอบเพียง 50 คน ไม่ถึง 84 คน สิ่งที่น่าผิดหวังกว่านั้น ในขณะที่ ส.ว. เห็นชอบในการตัดอำนาจตัวเอง ส.ส.พรรครัฐบาล ที่มีประมาณ 200 คน มีแค่ 4-5 คนเท่านั้น ที่โหวตเห็นชอบการตัดอำนาจ ส.ว. เลือก นายกฯ แสดงว่า ส.ส. ฝั่งรัฐบาลไม่พร้อมที่จะยืนหยัด แม้กระทั่ง 1 สิทธิ์ 1 เสียงที่ถือว่าเป็นพื้นฐานที่สุดแล้วของประชาธิปไตย โดยกลยุทธ์ที่ถูกใช้หลังจากนี้ ตนประเมินว่า ยื้อว่าไปจนครบ

ด้าน ผศ.ปริญญา มองว่า จากครั้งที่มี ส.ว. 50 คน ที่เห็นว่าไม่ต้องการอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี ต้องการอีก 30 คน ยาก แต่เห็นความหวังว่าพอทำได้ ไม่ไกลเกินเอื้อม ลองวางกลยุทธ์ว่าอีก 30 คนจะมีโอกาสอย่างไร

เขามองว่า กระแสสาธารณะจะเป็นตัวช่วยกดดัน ซึ่งหาก พลเอก ประยุทธ์ มีใจแก้ปัญหานี้จริง ภาคประชาชนคงไม่ต้องเหนื่อยมากนัก แต่ประเด็นสำคัญกลับอยู่ที่พรรคฝ่ายค้าน และพรรคร่วมรัฐบาลทั้งประชาธิปัตย์และภูมิใจไทย ที่ต้องรู้ว่าตนเองมีอำนาจต่อรอง

“การแก้รัฐธรรมนูญ เป็นเกมการเมืองที่ทำให้เห็นว่ามีความพยายามแล้ว และไม่มีอะไรเกิดขึ้น ถ้าไม่อยากให้เป็นแค่ละครฉากหนึ่ง ฝ่ายค้านต้องมีอำนาจต่อรอง หากจะผ่านร่างไหนต้องการเสียงฝ่ายค้าน 20% พรรคการเมืองที่ร่วมรัฐบาลเพื่อแก้รัฐบาล นี่เป็นโอกาสสุดท้ายของพรรคประชาธิปัตย์ ท่านมี ส.ส. เหลือแค่ 50 คน อะไรจะเกิดขึ้น หากคราวนี้ไม่กอบกู้สิ่งที่สัญญาเอาไว้…”

พริษฐ์ เสนอ 3 กลุ่มที่ประชาชนสามารถเรียกร้องได้

1) พรรคร่วมรัฐบาล เสนอร่างแก้รัฐธรรมนูญที่แตกต่างกันออกไป โดยมีการเสนอแยกจาก พรรคพลังประชารัฐ

2) พรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่พรรคเพื่อไทย เสนอ 5 ร่าง แต่เสนอแยกร่างกัน พริษฐ์มองว่าจะมีความซับซ้อน เพราะวาระ 3 จะผ่านไม่ได้ ถ้าไม่ได้ 1 ใน 3 ของ ส.ว. และไม่ได้ 20% ของ ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้าน พร้อมแสดงความกังวลว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านบางพรรคจะยอมร่วมโหวตบางประเด็น โดยทำข้อตกลงว่า ส.ว. จะต้องโหวตถอนอำนาจตัวเอง

“แต่ถ้าแยกร่างฯ แล้วมันจะไม่สามารถรู้ได้เลยว่าประเด็นไหนจะถูกหยิบมาพิจารณาก่อน ซึ่งรัฐบาลสามารถคุมเกมได้ เช่น พิจารณาโหวตเรื่องปรับระบบเลือกตั้งก่อน และสุดท้ายก็ไม่มีอะไรการันตีว่า ส.ว. จะโหวตให้ตามสัญญา และจะเข้าเกมระบอบประยุทธ์ จึงเรียกร้องฝ่ายค้าน ทบทวนว่าการเสนอร่างแก้ไขแบบแยกประเด็นลักษณะที่ทำนี้ จะนำไปสู่การตัดอำนาจได้จริงหรือไม่”

3) พลเอก ประยุทธ์ ลอยตัวเหนือปัญหา เนื่องจากนโยบายเร่งด่วนเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ ไม่เคยมีความชัดเจน และโยนว่าเป็นเรื่องของรัฐสภา จึงต้องกดดันไปที่พลเอก ประยุทธ์ ที่ต้องออกมาแสดงท่าทีให้ชัด เพื่อให้ ส.ว. 84 เสียงตัดอำนาจตัวเอง เพราะการตัดอำนาจ ส.ว. ไม่ใช่แค่การแก้ระบบเลือกตั้ง แต่คือการสร้างกติการที่เป็นธรรม

ขณะที่ ผศ.ปริญญา มองว่า พลเอก ประยุทธ์ น่าจะเป็นตัวแปรที่เป็นได้ยากที่สุด ทำได้เพียงให้ พรรคประชาธิปัตย์ต่อรองกับพรรคฝ่ายค้าน ต้องมีกลยุทธ์จับมาอยู่ร่างเดียวกัน

“หากอ่านเกมพรรคประชาธิปัตย์รอบนี้ เสนอ 6 ร่าง กระจายในทุกแบบ ตัดอำนาจ ส.ว. แก้ระบบเลือกตั้งให้ตัวเอง มันเป็นความพยายามดึงความชอบธรรม เพียงทำให้เห็นว่าประชาธิปัตย์ได้ทำตามสัญญาแล้ว ประชาธิปัตย์ลงมือแก้จริง ๆ เรื่องเหล่านี้ต้องต่อรอง และกดดันพลเอก ประยุทธ์ อย่างไรเวลานี้พลเอกประยุทธ์น่าจะยังไม่อยากเลือกตั้ง เพราะ พ.ร.บ.งบประมาณแผ่นดิน ต้องเรียบร้อยก่อน ขอตั้งหลักรอ 2-3 เดือนก่อน อำนาจต่อรองยังมี”

ขณะที่ พริษฐ์ มองข้อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับ ไพบูลย์ นิติตะวัน ว่าเป็นการปูทางเตรียมการเลือกตั้งเพื่อให้รัฐบาลได้เปรียบมากที่สุด เช่น ข้อเสนอให้อำนาจ ส.ส. แทรกแซงกลไกของพื้นที่และท้องถิ่นด้านงบประมาณ และเป็นการสร้างจุดแข็งให้พรรคพลังประชารัฐ ที่คุมอยู่ในแต่ละเขตพื้นที่

ด้าน ผศ.ปริญญา ทิ้งทายว่า สาเหตุที่การเมืองเป็นเช่นนี้ เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีการเมืองที่มีประสิทธิภาพ

“ทำไมเราต้องมามีปัญหาวัคซีนไม่พอ เราเตรียมการล่วงหน้าได้ การมีเส้นใหญ่ทำให้ได้ทรัพยากรมากกว่า การเมืองแย่ จึงต้องแก้รัฐธรรมนูญไปด้วยกัน เพราะการเมือง คือ การจัดสรรทรัพยากร ประชาชนต้องป็นคนจัดสรรเอง ประชาชนจัดสรรตรงไม่ได้ ก็ต้องผ่านตัวแทน ผมมองว่า ประชาชนเห็นความเชื่อมโยงของปัญหา โดยเฉพาะการมองผ่านมิติของโรคระบาด ทำให้รู้ว่าถ้าอยากได้การเมืองที่ดี ก็ต้องแก้รัฐธรรมนูญ แต่ถ้าแก้แล้วแย่ลง อย่าหาทำ”

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน