“การเมือง” ทำยุทธศาสตร์วัคซีนโควิด-19 ป่วน!

โควตา ม.33 ส่อ “วัคซีนการเมือง” กระทบลำดับความสำคัญกลุ่มเสี่ยง-ผู้สูงอายุ แพทย์ ชี้ วัคซีนต้องควบคู่มาตรการคุมโรค แนะ เพิ่มวัคซีนทางเลือกภาคเอกชน

“จัดหา จัดสรร และจัดการ” คือ 3 กระบวนการเมื่อพูดถึงแผนกระจายวัคซีน เดิมที ทั้ง 3 กระบวนการจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ จะขึ้นอยู่กับ กระทรวงสาธารณสุข แต่ปัจจุบัน ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 หรือ ศบค. ดึงอำนาจการจัดหาและจัดสรรวัคซีนไว้ที่ตนเอง ส่วนการจัดการยังเป็นหน้าที่ในแต่ละพื้นที่ จึงเป็นที่มาของการโยนกันไปมา ระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและกรุงเทพมหานคร หลังจุดฉีดวัคซีนหลายแห่งเลื่อนฉีดวัคซีน โดยเฉพาะ “แอสตราเซเนกา”

ย้อนดูยุทธศาสตร์การกระจายวัคซีนที่กระทรวงสาธารณสุขได้วางไว้ตั้งแต่แรกนั้น เดือนมิถุนายนจะต้องกระจายวัคซีนให้กับ 16 ล้านคน สำหรับผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยงโรคประจำตัว แต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การกระจายวัคซีนเป็นตามโควตา

“ฐิตินบ โกมลนิมิ” ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารสุขภาพและสังคม The Active ระบุว่า ภายใต้วัคซีนที่มีจำกัด ก็มีโควตาของกลุ่มผู้ประกันตนมาตรา 33 พ.ร.บ.ประกันสังคม ขึ้นมาในจำนวน 1 ล้านโดส เดือนมิถุนายน ซึ่งอยู่ในสังกัดกระทรวงแรงงาน ถ้ามองเป็นเรื่องการเมือง กระทรวงแรงงาน เป็นของพรรคพลังประชารัฐ ทั้งที่วัคซีนควรจะแบ่งให้กับผู้สูงอายุเป็นลำดับแรกก่อน

“การบริหารดังกล่าวทำให้เกิดความสับสน และเกิดคำถามว่าเราใช้วัคซีนไปเพื่อหน้าที่อะไรกันแน่ เพราะความคาดหวังสำคัญ คือ การลดผู้ป่วยหนัก ไม่เป็นภาระของระบบสาธารณสุข การใช้วัคซีนที่ไม่ถูกที่ถูกทาง อาจจะทำให้ผู้ป่วยหนักมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และส่งผลต่อระบบสาธารณสุข รวมไปถึงภูมิคุ้มกันหมู่ในอนาคตด้วยหรือไม่” 

ด้าน “รศ. นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล” นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ มองว่าการได้มาซึ่งวัคซีนล็อตใหญ่ในเดือนมิถุนายนนั้น เป็นไปตามแผนที่ถูกวางแผนตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 โดยแผนดังกล่าวไม่ได้ออกแบบมาเพื่อรองรับการระบาดรอบ 2 หรือรอบ 3 แต่เป็นแผนที่จะต้องอั้นจำนวนผู้ติดเชื้อให้ได้จนกว่าจะมีวัคซีน แต่สิ่งไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น โดยเฉพาะกับการระบาดรอบ 3 ที่เกิดการเดินทางในช่วงสงกรานต์ และมีคนวัยทำงานเอาเชื้อไปติดผู้สูงอายุ เป็นที่มาที่ทำให้รอบ 3 มีอัตราผู้เสียชีวิตที่มากกว่าการระบาดในทุกรอบที่ผ่านมา

ดังนั้น เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน ยุทธศาสตร์วัคซีนก็เปลี่ยนตามไปด้วย ถ้าจะใช้แผนเดิมอาจจะไม่เวิร์ก แต่การใช้วัคซีนไปบล็อกกลุ่มแรงงานในพื้นที่ระบาด เป็นอีกแนวคิดที่เกิดการปะทะกันระหว่าง 2 ทฤษฎียุทธศาสตร์การใช้วัคซีนแบบไหนจะดีที่สุด ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังไม่มีคำตอบ เพราะทั้งสองแนวคิดก็ยังเป็นสมมติฐานที่รอการพิสูจน์

“แต่เมื่อยุทธศาสตร์กระจายวัคซีนเปลี่ยนไปตามโควตา ก็มีเรื่องการเมืองเข้ามาทันที เพราะในนิยามการเมืองก็คือการต่อรองผลประโยชน์ ทำให้เกิดการบิดเบี้ยวของ 2 แนวคิด ถูกแทรก หยิบเอาวัคซีนออกจากระบบ” 

โควตา ม.33 ไม่ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์วัคซีน

แม้จะเห็นด้วยกับการปรับแผนกระจายวัคซีน วันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา วัคซีนที่ได้รับส่วนใหญ่ ถูกเทลงไปที่กรุงเทพมหานครซึ่งเป็นพื้นที่ระบาดหนัก ซึ่งคนต่างจังหวัดก็ยอมรับได้ แต่ “ฐิตินบ” มองว่าเวลาพูดถึงแรงงานในพื้นที่สาธารณะเป็นใคร โดยปกติแล้วไม่น่าใช่ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 เพราะคลัสเตอร์การระบาดของแรงงานส่วนใหญ่ อยู่ในแคมป์คนงานก่อสร้าง ตลาด และในชุมชนแออัด

สอดคล้องกับ “รศ. นพ.พฤหัส  ต่ออุดม” ผอ.รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่าโควตา ม.33 เป็นเรื่องการเมือง เพราะคนออฟฟิศมีความเสี่ยงต่ำกว่าแคมป์คนงานก่อสร้าง เพราะหากการจัดหาวัคซีนยังมีปัญหาอยู่ การจัดสรรจะมีปัญหาตามมา และนำมาสู่ความไม่เชื่อมั่นในการจัดการของพื้นที่  เมื่อวัคซีนไม่เพียงพอ นำมาให้ กทม. ต้องสื่อสารกับคนต่างจังหวัดให้ชัด เพราะพื้นที่ระบาดสูง ห้องไอซียู ยังเต็มศักยภาพ หากมีเคสเยอะกว่านี้ ระบบสาธารณสุขก็เสี่ยงที่จะล่ม

หวั่น ไวรัสกลายพันธุ์  กระทบภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์

“รศ. นพ.พฤหัส” ระบุว่า วัคซีนแอสตราเซเนกาที่กระจายไปต่างจังหวัดรอบแรก ฉีดวันที่ 7-8 ก็ มิ.ย. หมดแล้ว แต่ก็ถือว่าเป็นกำลังใจในพื้นที่ เพราะอย่างน้อยก็คือนำวัคซีนมาปูพรมในกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นพื้นที่ระบาด แต่ที่เป็นห่วงคือสถานการณ์ในพื้นที่เมืองท่องเที่ยวอย่างบุรีรัมย์หรือภูเก็ต หากดูสถานการณ์ในต่างประเทศแม้จะฉีดได้ 70% แต่ก็ยังเจอการระบาด ถ้าเปิดการท่องเที่ยวแล้วเจอสายพันธุ์ใหม่ วัคซีนที่ลงไปก็จะเสียเปล่า แม้เข้าใจว่าฉีดวัคซีนในพื้นที่ท่องเที่ยวเป็นเรื่องเศรษฐกิจ แต่ก็มีความกังวลไม่น้อยในยุทธศาสตร์นี้ว่าจะได้ผลดีหรือไม่ 

ขณะที่ “ฐิตินบ” ชวนตั้งคำถามว่า จังหวัดบุรีรัมย์เป็นจังหวัดท่องเที่ยวตั้งแต่เมื่อไร? ถ้าเป็นจังหวัดภูเก็ตก็เข้าใจ แต่บุรีรัมย์ไม่เข้าใจ อย่างไรก็ตาม สะท้อนว่าปัจจุบันเรามีการสร้างอุปทาน (ความต้องการ) เทียมของวัคซีน ด้วยมีความคาดหวังว่าวัคซีนจะเป็นตัวปิดเกมส์ปัญหาโรคระบาด แต่ความจริงแล้วก็ยังต้องใช้มาตรการควบคุมโรค ไม่ว่าจะเป็นการสอบสวนโรค แล้วก็เอาวัคซีนมาปิดซ้ำ ทุกวันนี้เหมือนสร้างความหวังแล้วไม่ควบคุมโรค บางคนฉีดแล้วก็ยังติดได้ ลืมไปว่าวัคซีนมีหน้าที่บรรเทาอาการเจ็บป่วยหนัก และเสียชีวิตหากติดเชื้อ

ความรุนแรงของโรคลดลงขณะนี้ ไม่ใช่เพราะวัคซีน 

“รศ. นพ.นิธิพัฒน์”  ระบุว่า ประเทศไทยมีเพียงไม่กี่หย่อมเท่านั้นที่วัคซีนช่วยลดความรุนแรงของโรค เนื่องจากยังฉีดไปจำนวนน้อย แต่อาการป่วยรุนแรงของโรคทุกวันนี้ก็กำลังลดลง วิเคราะห์จากผู้ติดเชื้อรายใหม่วันละกว่า 2,000 – 3,000 คน พบว่าอายุเฉลี่ยลดลงอัตราผู้ป่วยที่ใส่เครื่องช่วยหายใจลดลงเหลือเพียง 20% จากสถานการณ์ดังกล่าว ก็ทำให้ห้องไอซียูผ่อนคลายมากขึ้น เป็นผลมาจากกลุ่มประชากรที่ติดเชื้อเป็นอีกกลุ่มหนึ่ง ที่ไม่ใช่ผู้สูงอายุ ทั้งหากไม่มีการระบาดคลัสเตอร์ใหม่ที่รุนแรง คาดว่าจำนวนผู้เสียชีวิตรายวันจะลงไปเหลือหลักสิบในช่วงปลายเดือนนี้ 

ด้าน “รศ. นพ.พฤหัส” บอกว่า การควบคุมโรคต้องควบคู่ไปกับการจัดหาวัคซีน น่าจะเป็นจุดที่ลงตัวที่สุด และการจัดหาวัคซีนในปัจจุบัน ก็ควรจะปลดล็อกให้เอกชนเป็นผู้จัดหาเข้ามามากขึ้น เพื่อเพิ่มวัคซีนทางเลือก ให้ประชาชนได้เข้าถึงเร็วที่สุด 

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS