ทส. โต้ “บูรณะนิเวศ” ไม่มีนโยบายนำเข้า “ขยะพลาสติก”

ชี้ “ขยะพลาสติก” และ “เศษพลาสติก” แตกต่างกัน ด้าน ‘นักวิชาการสิ่งแวดล้อม’ ระบุ หน่วยงานต้องเปิดข้อมูลทั้งหมด เพื่อสร้างความเชื่อมั่น ว่าไม่มีการลักลอบนำเข้าขยะพลาสติก

16 มิ.ย. 2564 – กรมควบคุมมลพิษ เผยแพร่ข่าว ทส. ยืนยันห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์และขยะพลาสติก พร้อมผลักดันให้มีการใช้ประโยชน์ขยะพลาสติกในประเทศทั้งหมด ภายในระยะเวลา 5 ปี เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยระบุว่า ตามที่มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเรื่องการนำขยะพลาสติกเข้ามาในประเทศไทยนั้น คพ. ขอชี้แจงทำความเข้าใจให้ประชาชนทราบว่า “ขยะพลาสติก” และ “เศษพลาสติก” มีความแตกต่างกัน

โดยตามประกาศกรมควบคุมมลพิษ เรื่อง ความหมายของ “ขยะพลาสติก” และ “เศษพลาสติก” เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2564 กำหนดว่า “ขยะพลาสติก” หมายถึง ชิ้นงาน หรือ ชิ้นส่วนพลาสติกที่ใช้งานแล้วหรือไม่ก็ตาม จนถูกนำไปทิ้ง หรือไม่เป็นที่ต้องการใช้อีกต่อไป หรือเสื่อมสภาพจนไม่สามารถใช้งานได้ หรือมีการปนเปื้อนกับขยะอื่นหรือวัสดุประเภทอื่น

ส่วน “เศษพลาสติก” หมายถึง เศษ เศษตัดและของที่ใช้ไม่ได้ที่เป็นพลาสติกไม่ว่าใช้แล้วหรือไม่ก็ตาม ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากรการนำเข้าพลาสติกที่ผ่านมา เป็นการนำเข้า “เศษพลาสติก” เพื่อเป็นวัตถุดิบในภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น ไม่ใช่การนำเข้า “ขยะพลาสติก”

โดยในปี 2563 มีการนำเข้าเศษพลาสติกในปริมาณ 150,807 ตัน และในระหว่างเดือนมกราคมถึงเมษายน 2564 มีการนำเข้าเศษพลาสติกในปริมาณ 44,307 ตัน ซึ่งเป็นช่วงการปรับตัวเพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบมากเกินไป และจะทยอยปรับลดการนำเข้าเศษพลาสติกเพื่อนำไปสู่การห้ามนำเข้าเศษพลาสติก 100% ภายในระยะเวลา 5 ปี

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวด้วยว่า วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ ภายใต้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เน้นย้ำชัดเจนว่า รัฐบาลไม่เคยมีนโยบายให้นำเข้าขยะพลาสติก หากมีการนำเข้าแสดงว่าเป็นการลักลอบนำเข้าอย่างผิดกฎหมาย โดยหากพบกรมศุลกากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการเร่งผลักดันตู้สินค้านั้นกลับประเทศต้นทางโดยทันที

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้ห้ามนำเข้า “ขยะอิเล็กทรอนิกส์” จำนวน 428 รายการ ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 ก.ย 2563 เป็นต้นมา หากมีการนำขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาในประเทศไทยจะมีบทลงโทษทั้งจำทั้งปรับ โดยขณะนี้ ทส. กำลังเร่งผลักดันการจัดทำร่างพระราชบัญญัติการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

บูรณะนิเวศ เผย พบยังมีการนำเข้าเศษพลาสติกต่อเนื่อง แม้จะมีประกาศห้ามนำเข้าตั้งแต่ 30 ก.ย. 63

การเผยแพร่ข่าวดังกล่าว เกิดขึ้นหลัง มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) ออกแถลงการณ์ (5 มิ.ย.) เรียกร้องรัฐบาลไทยเร่งให้สัตยาบันภาคแก้ไขของอนุสัญญาบาเซล เพื่อหยุดยั้งการไหลเข้ามาของขยะจากต่างประเทศ และขอให้ไทยยุตินำเข้าของเสียอันตรายและพลาสติก-ขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างเด็ดขาด 

โดยจากการติดตามปัญหาและศึกษาข้อมูล รวมถึงการอ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ของกรมศุลกากรและกรมโรงงานอุตสาหกรรมในช่วงปลายปี 2563 พบว่าประเทศไทยยังมีการนำเข้าเศษพลาสติก (พิกัดศุลกากร HS3915) ภายในปี 2562 สูงมาก คือเกือบ 553 ล้านกิโลกรัม หรือเพิ่มขึ้นสูงกว่าในปี 2561 ถึง 3.5 เท่า ขณะที่ในปี 2563 ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศจะห้ามการนำเข้าเศษพลาสติกตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย. 2563 เป็นต้นไป แต่กลับพบว่ายังคงมีการนำเข้าอย่างต่อเนื่องเรื่อยมาจนสิ้นปี2563 และต่อเนื่องมาจนถึงปี 2564 

ในส่วนของขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-waste) ซึ่งมีกฎหมายห้ามนำเข้าและมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 15 ก.ย. 2563 ก็กลับปรากฏข้อมูลเช่นกันว่า ในระหว่างเดือนกันยายน 2563- มีนาคม 2564 มีการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์อันตรายบางประเภทเข้ามาในปริมาณหลายล้านกิโลกรัม

“ข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ปัญหาการนำเข้าขยะยังคงไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง แม้รัฐบาลไทยจะเคยประกาศว่าจะแก้ปัญหาการนำเข้าขยะต่างประเทศ ตั้งแต่ในช่วงปี 2561”

นักวิชาการสิ่งแวดล้อม ชี้ หน่วยงานต้องเปิดข้อมูลการนำเข้าเศษพลาสติก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่า ไม่มีการลักลอบนำเข้าขยะพลาสติก

ด้าน สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย เห็นว่า ถ้าเป็นขยะพลาสติก อย่างไรก็ต้องห้ามนำเข้า แต่เศษพลาสติก เมื่อนำเข้ามาแล้ว ก็ต้องมีการเปิดเผยข้อมูลให้ชัดเจนว่าเอามาทำอะไรบ้าง

เพราะประชาชนยังมีความสับสนระหว่างคำว่า “ขยะพลาสติก” กับคำว่า “เศษพลาสติก” ที่สำคัญคือความเชื่อมั่นของประชาชนว่า สิ่งที่นำเข้ามานั้น เป็นเศษพลาสติกจริงๆ ไม่ใช่การลักลอบนำเข้าขยะพลาสติก ดังนั้น จึงต้องเปิดข้อมูลทั้งหมด

“ต้องบอกให้หมด! สั่งเศษขยะพลาสติกเข้ามากี่ตัน เอาไปที่ไหนบ้าง ซึ่งคนที่จะบอกได้ คือ กรมโรงงานอุตสาหกรรม ไม่ใช่กรมควบคุมมลพิษ”

แฟ้มภาพ: สนธิ คชวัฒน์

ส่วนประกาศของกรมควบคุมมลพิษ กำหนดนิยามของขยะพลาสติกและเศษพลาสติกที่ออกมาเมื่อวันที่ 25 พ.ค. ที่ผ่านมานั้น นักวิชาการสิ่งแวดล้อมมองว่า ประชาชนส่วนใหญ่อาจจะไม่เห็นประกาศนี้ เพราะอาจจำกัดอยู่แค่ในการรับรู้ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเท่านั้น

ย้อนนโยบายห้ามนำเข้าขยะพลาสติก มติ ล่าสุดตั้งแต่มกราคม 2564

นโยบายห้ามนำเข้าขยะพลาสติกเริ่มขึ้นหลังเกิดเหตุการณ์ลักลอบนำเข้าขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมากในช่วงปี 2561 และในช่วงปีเดียวกันนั้น คณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งแต่งตั้งโดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กกวล.) ได้เคยมีมติให้ยกเลิกการนำเข้าเศษพลาสติกภายในปี 2563 โดยกำหนดให้ใบอนุญาตนำเข้าตามโควตาการนำเข้าของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจะสิ้นสุดทั้งหมดในวันที่ 30 ก.ย. 2563 

แต่ในช่วงที่ผ่านมา ผู้ประกอบการได้พยายามขอนำเข้าเศษพลาสติกต่อไปโดยให้เหตุผลว่า วัตถุดิบที่มีภายในประเทศไม่เพียงพอ คุณภาพต่ำ และมีการปนเปื้อนสูง จึงยังมีการผ่อนผันเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ขณะที่มติล่าสุด คือเมื่อ วันที่ 25 ม.ค. 2564 ของคณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการจัดการปัญหานี้ ก็ยังไม่พบรายละเอียดและความคืบหน้าในการดำเนินการมากนัก

โดยจากข้อมูลที่มีการเผยแพร่ก็พบว่า มีเพียงการพิจารณาข้อมูลที่จะเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อพิจารณามอบหมายกระทรวงพาณิชย์จัดทำประกาศห้ามนำเข้าขยะพลาสติก ตามพระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2565 เป็นต้นไป รวมถึงพิจารณามาตรการกำกับการนำเข้าเศษพลาสติก เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว