‘ธงชัย วินิจจะกูล’ เปิดห้องเรียนประวัติศาสตร์นอกขนบ “สยามอยู่ในภาวะกึ่งอาณานิคม”

ศ.ธงชัย แนะ “3 แต่” ทลายกรอบกระแสหลัก ชี้ ชนชั้นนำสยามเปิดรับเจ้าอาณานิคม เพราะได้ประโยชน์ทั้งเศรษฐกิจและการเมือง

9 มิ.ย. 2564 – Common school หรือ สถาบันศึกษาอบรมเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม ดำเนินการโดยคณะก้าวหน้า เพื่อให้ความรู้ผ่านหลักสูตรการเรียนการสอนออนไลน์ เปิดบรรยาย “ประวัติศาสตร์นอกขนบ” รายวิชาย่อย สยามยุคกึ่งจักรวรรดิกึ่งอาณานิคม ซึ่งหัวข้อแรก มี “ศ.ธงชัย วินิจจะกูล” นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน (University of Wisconsin-Madison) สหรัฐอเมริกา บรรยายเรื่อง สยามไม่เคยเสียเอกราชหรือกึ่งอาณานิคม ซึ่งเป็นการบรรยายสดจากประเทศสหรัฐอเมริกา

ก่อนหน้านี้ ได้เปิดให้ประชาชนผู้สนใจลงทะเบียนเข้าร่วมรับฟัง และมีผู้ผ่านเข้าร่วมหลักสูตรกว่า 40 คน โดยมี คงสัจจา สุวรรณเพ็ชร อาจารย์ประจำศูนย์​กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ

ศ.ธงชัย ชวนตั้งคำถามต่อประเด็น “สยามไม่เคยเป็นอาณานิคม” ผ่าน 3 ข้อมูลทางประวัติศาสตร์สำคัญ เพื่อทลายกรอบของประวัติศาสตร์กระแสหลัก คือ 1) สยามถูกคุกคามจากลัทธิล่าอาณานิคม แต่…สยามอยู่ในภาวะกึ่งอาณานิคมที่ชนชั้นนำสยามได้ประโยชน์ พึ่งพิง และร่วมมือกับมหาอำนาจยุโรปด้วย 2) พระมหากษัตริย์ไทย ราชวงศ์จักรี ต่อต้านการคุกคาม พาประเทศชาติรอดพ้นได้ แม้ว่าต้องเสียสละดินแดนอย่างเจ็บปวด แต่…การเสียดินแดนเป็นประวัติศาสตร์ผิดฝาผิดตัวตามทัศนะของเจ้าจักรวรรดิที่กรุงเทพฯ และอำพรางอำนาจรัฐแบบใหม่ของกรุงเทพฯ และ 3) การปฏิรูปประเทศให้ทันสมัยอย่างทันกาล รักษาเอกราชของชาติไว้ และช่วยให้ประเทศเจริญรุ่งเรือง แต่…การปฏิรูปให้ทันสมัยมีความมุ่งหมายหลักเพื่อสถาปนาอำนาจรัฐสมัยใหม่แบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยการบรรยายในครั้งนี้เป็นการกล่าวถึงเฉพาะเรื่องแรก

ไม่เคยถูกบังคับ แต่เต็มใจเซ็นสนธิสัญญา “เบาริ่ง”

ศ.ธงชัย ระบุว่า สยามถูกผนวกเข้ากับระบบเศรษฐกิจโลกแบบอาณานิคม เมื่อเกิดสนธิสัญญาเบาริ่ง สมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งอันที่จริงมีการศึกษาว่า สังคมสยามตั้งแต่อยุธยามาแล้ว เป็นเมืองการค้า เมืองท่า เป็นหลัก กล่าวสำหรับสนธิสัญญาเบาริ่ง มาจากความเต็มใจของชนชั้นนำ เพราะได้ประโยชน์ เนื่องจากก่อนนั้นมีกลุ่มราชสำนักหรือชนชั้นนำบางกลุ่มผูกขาดสินค้าไว้หลายอย่าง ที่ยิ่งนานวันก็ยิ่งจำกัดกลุ่ม การยอมรับสนธิสัญญาเท่ากับการเปิดตลาด ทำลายการผูกขาดโดยชนชั้นนำกลุ่มนั้น และเปิดพื้นที่ให้ชนชั้นนำกลุ่มอื่น ๆ เพราะราชสำนักเองก็ไม่ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

ดังนั้น เหตุนี้จึงเป็นเรื่องที่ชนชั้นนำสยาม ยินดีต้อนรับอังกฤษ จนทำให้ต่อมามีการเปิดพื้นที่ทำการเกษตร ทำนา เกิดระบบกรรมสิทธิ์ของเอกชนขึ้น ขณะที่ด้านการป่าไม้ ก็ร่วมมือกับอังกฤษในการหาประโยชน์ทำป่าไม้ในเขตล้านนา เป็นต้น

“เจ้าสยามไม่ได้ต่อต้าน หรือชะลอการขยายเศรษฐกิจของอาณานิคม เนื่องจากพวกเขาได้ประโยชน์ ที่เราเข้าใจว่าไม่เสียเอกราชนั้น ความจริงคือ กลายเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจโลกแบบอาณานิคมเรียบร้อยแล้ว การที่มหาอำนาจได้รับความร่วมมือของผู้มีอำนาจในสยาม ไม่ใช่เรื่องแปลกของลัทธิล่าอาณานิคม และประเทศไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่มหาอำนาจไม่คิดจะครอบครอง เพราะชนชั้นนำให้ความร่วมมือพอสมควรที่เขาได้ประโยชน์พอแล้ว และไม่ต้องการจะเข้ายึดครอง เพราะการยึด บางครั้งก็เปลืองค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น และอาจจะเป็นอีกเหตุผลหนึ่งซึ่งมหาอำนาจไม่ต้องยึดครองสยามเป็นอาณานิคม”

วิกฤต ร.ศ.112 ความเจ็บช้ำที่ต้องสร้างเรื่องปลอบตัวเอง

ศ.ธงชัย กล่าวว่า สยามร่วมมือและพึ่งพิงกับมหาอำนาจหนึ่ง และแข่งขันกับอีกมหาอำนาจหนึ่ง เพื่อแย่งชิงดินแดนด้วย เราไม่ได้ถูกคุกคาม ถูกบีบจากทุกฝ่ายจนต้องใช้พระปรีชาสามารถด้านการทูต ตามที่ประวัติศาสตร์กระแสหลักบอก คือ ความรับรู้ง่าย ๆ ว่าเจ้าอาณานิคมต้องการยึดครองเราอย่างแน่นอนนั้น ละเลยความเป็นจริงจำนวนมากที่ว่า สยามทั้งร่วมมืออย่างกระตือรือร้น ตอบสนองยินยอมเพราะได้ประโยชน์ รวมทั้งได้ประโยชน์ทางการเมืองด้วย พึ่งพิงแสวงหาการสนับสนุนจากมหาอำนาจด้วย และแข่งแย่งชิงดินแดนสองฝั่งโขงกับฝรั่งเศสด้วย ซึ่งท่าทีเหล่านี้ตามแต่ผลประโยชน์ สถานการณ์ บริบท และแล้วแต่ว่าฝักฝ่ายไหนในราชสำนักผลักดันนโยบายนั้นสำเร็จ เพราะราชสำนักหรือชนชั้นนำไม่ได้กลมเกลียว ไม่ได้คิดเป็นแบบเดียวกันหมด มีความขัดแย้ง มีการปะทะกันต่าง ๆ มากมาย อาทิ วิกฤตการณ์วังหน้า ที่ต้องขอให้ข้าหลวงอังกฤษในสิงคโปร์ช่วยไกล่เกลี่ย

“สยามเอียงทางอังกฤษมาก ถึงขนาดกล้าท้าทายฝรั่งเศสเพื่อแย่งชิงดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง เพราะเชื่อว่าอังกฤษจะช่วย เราเล่นบทบาทที่ก้าวร้าว จนเกิดวิกฤต ร.ศ.112 ปี 2436 ที่ต้องปะทะกับฝรั่งเศส แต่สุดท้ายก็ถูกอังกฤษเท ไม่ช่วยเหลือ ซึ่งวิกฤตและความพ่ายแพ้นี้ทำให้ชนชั้นนำไทยเจ็บปวดอย่างมาก จนเกิดการอธิบายเรื่องภัยคุกคามของมหาอำนาจนี้ และสร้างภาพต่อต้าน สร้างประวัติศาสตร์ขึ้นมาเพื่อปกป้องตนเอง เรื่องพระปรีชาสามารถ ทั้งที่ปัจจัยหนึ่ง คือ สยามรอดได้เพราะอังกฤษกับฝรั่งเศสทำความตกลงกันให้เป็นพื้นที่รัฐกันชน และที่สำคัญคือ สยามให้ความร่วมมือเพียงพอและหลายด้านแล้ว ความจำเป็นในการยึดครองจึงคลายลง”

เสียหรือยอมให้เสีย “สิทธิภาพนอกอาณาเขต”

ช่วงการถามตอบช่วงท้าย ศ.ธงชัย ได้เปิดให้ผู้เข้าร่วมหลักสูตรตั้งคำถาม รวมถึงผู้รับชมการถ่ายทอดสดก็สามารถส่งข้อความเข้ามาถามได้ด้วยเช่นกัน ช่วงหนึ่ง ศ.ธงชัย เพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นเรื่องสิทธิภาพนอกอาณาเขตว่า กรณีสนธิสัญญาเบาริ่ง อาจมองว่าทำให้เราเสียสิทธิภาพนอกอาณาเขต แต่ข้อเท็จจริงแล้ว ในขณะนั้นเราเป็นรัฐศักดินา การตัดสินคดีความ ศาล ขึ้นต่อเจ้าองค์ต่าง ๆ เต็มไปหมด แตกกระจาย ลดหลั่นกันไปเป็นชั้น ๆ มีอำนาจของตัวเอง ไม่มีมาตรฐาน ตีความกฎหมายต่างกัน ใช้กฎหมายคนละฉบับ ไม่อัปเดต ดังนั้น รูปแบบการปกครองที่อนุญาตให้ต่างชาติดูแลจัดการความขัดแย้ง ตัดสินคดีความกันเองตามสนธิสัญญาเบาริ่ง จึงเป็นเรื่องที่ถ้าอังกฤษอยากได้ก็เอาไปเลย ทำได้เลย ไม่เป็นปัญหา

“สิทธิภาพนอกอาณาเขตกลายเป็นปัญหา เมื่อยอมให้คนท้องถิ่นจดทะเบียนเป็นบังคับของต่างชาติ ปริมาณคนเหลานี้มากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งทำให้สยามเริ่มรู้สึกว่ากำลังจะเสียเอกราช เสียการบังคับคนไป อย่างในกรณีของฝรั่งเศส ที่ให้ใครก็ได้มาจดทะเบียน เพราะต้องการแรงงาน สยามเริ่มรู้สึกว่าสูญเสียแล้ว และอีกหนึ่งที่แม้เป็นจำนวนน้อยนิดแต่มีปากเสียง ซึ่งเริ่มแล้วและมาเกิดหนักในสมัย ร.6 คือ พวกนักหนังสือพิมพ์ ที่สมัครเป็นคนบังคับต่างชาติ พวกนี้แสวงหาเสรีภาพจากรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไทย และนี่ก็เป็นอีกตัวอย่างของการใช้มโนทัศน์ขยายความ ว่า ร.6 แฟร์มาก มีการเขียนคอลัมน์โต้เถียงลงหนังสือพิมพ์ นั่นเพราะท่านปิดไม่ได้ ท่านลงโทษบรรณาธิการเหล่านั้นไม่ได้ เพราะพวกเขาเป็นคนในบังคับของต่างชาติ ไม่ใช่คนในบังคับสยาม ท่านจึงไม่มีทางอื่น คนจำนวนน้อยเหล่านี้แหละ ที่มีผลมหาศาลด้วย คือ ปากมาก ปากเสีย เพราะรู้ว่าต่างชาติคุ้มครอง”

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active