“วราวุธ” ชู “บางกลอย” ตัวอย่างการใช้งบประมาณกระทรวงทรัพย์ฯ

รมว.ทส. เร่งแก้ปัญหาคนกับป่า ชี้พัฒนาชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย จนมีคุณภาพชีวิตดีกว่าหลายหมู่บ้านในไทย ด้าน “ส.ส.ก้าวไกล” ติงกระทรวงทรัพย์ฯ ยิ่งใช้งบประมาณ ยิ่งสร้างความขัดแย้ง 

แม้การอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ในวาระรับหลักการของสภาผู้แทนราษฎรจะสิ้นสุดลงไปแล้วเมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2564 แต่เนื้อหาการอภิปรายการใช้งบประมาณแผ่นดินบางส่วนยังเป็นประเด็นให้สังคมถกเถียง โดยเฉพาะกรณีกะเหรี่ยงบางกลอย สะท้อนปัญหาที่ดินทำกินของชาวบ้านที่ทับซ้อนเขตอุทยานเป็นข้อพิพาทมาอย่างยาวนานและยังหาข้อสรุปไม่ได้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยังคงต้องได้รับการจัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาดังกล่าว 

“เรื่องที่ดินต่างๆ ของรัฐ และที่อยู่ในความดูแลของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงพี่น้องประชาชนที่บางกลอย ต้องขออนุญาตเรียนท่านประธานผ่านไปยังสมาชิกว่า พี่น้องประชาชนที่อยู่ในป่าเขาหรือแม้แต่ในเขตอุทยานฯ นั้น ทางกระทรวงทรัพย์ฯ ขอยืนยันว่าเรามีแนวทางที่จะต้องให้พี่น้องประชาชนสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้” 

รมว.ทส.

“วราวุธ ศิลปอาชา” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พรรคชาติไทยพัฒนา อภิปรายในสภาฯ ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นและแนวทางการใช้งบประมาณที่กระทรวงได้รับจัดสรร โดยยกตัวอย่างพื้นที่ “บางกลอย” เพราะมีเรื่องราวเสนอผ่านสื่อมวลชนมากมาย สวนทางกับสิ่งที่ได้ทำไปในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาสาธารณูปโภคต่างๆ แหล่งน้ำ ส่งเสริมการเกษตร แม้แต่โรงเรียน นี่เป็นส่วนหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า ประชาชนในทุกพื้นที่ที่กระทรวงทรัพย์ฯ ดูแลอยู่ยังมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าอีกในหลายๆ พื้นที่ของประเทศไทย 

“ที่ดินประเภทต่างๆ ของรัฐ ไม่ว่าจะอยู่ภายใต้ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมธนารักษ์ ที่ดิน การนิคม ที่ดิน ส.ป.ก. ที่ดินสาธารณะ หรือที่อื่นๆ หากไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ก็จะไปต่อเรื่องอื่นๆ ไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเกษตร เศรษฐกิจ การค้าขายนี่เป็นเรื่องใหญ่มากของประเทศนี้” 

ส.ส.พรรคก้าวไกล

“มานพ คีรีภูวดล” ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สัดส่วนชาติพันธุ์อภิปรายโต้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพร้อมระบุว่า การแก้ไขปัญหาของกระทรวงทรัพยฯ ในงบประมาณของกรมอุทยานฯ ก็ดี ของกรมป่าไม้ก็ดี สิ่งที่เห็น คือความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่ กับประชาชน เช่น การถูกจับกุม โดยประชาชนอาจได้รับความรุนแรงที่มากขึ้น เช่นกรณีที่บางกลอย ชาวบ้านถูกกระทำไม่น้อยกว่า 25 ปี การสูญหายและการถูกฆาตกรรมกับ “บิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ” และชาวบ้านกว่า 30 ครอบครัวที่ถูกจับทั้งๆ ที่พวกเขาพยายามจะส่งเสียงไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกฎหมาย ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ 

“ผมเชื่อว่าถ้าหากว่ามีการทำงบประมาณ มีวิธีคิด วิธีมองแบบนี้ ความขัดแย้งและความรุนแรงนี้จะเกิดขึ้นทั่วประเทศ” 

ส.ส.พรรคก้าวไกล

ประชาชนคนไทยไม่น้อยกว่า 10 ล้านคน ที่อยู่อาศัยในที่ดินของรัฐ คนเหล่านีไม่ได้อยู่เฉพาะจุดใดจุดหนึ่ง เจอชะตากรรมแบบเดียวกัน ซึ่งถูกละเลยที่จะเข้าถึงงบประมาณประจำปีของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน ไฟฟ้าประปา ทั้งๆที่เสียภาษีเหมือนกับทุกคน แต่รัฐไม่ได้ดูแล 

ส.ส.พรรคก้าวไกล สัดส่วนชาติพันธุ์ ระบุ งบประมาณที่ตั้งมาของกรมป่าไม้ 270 กว่าล้าน ทำงานแก้ไขปัญหา 1.8 ล้าน ที่เหลือเป็นงบประมาณในการก่อสร้างอาคาร ขณะที่กรมอุทยานฯ แบ่งงบฯ ค่าอาหาร ค่าต่างๆ มากมาย งบฯ ก่อสร้างการแก้ปัญหาที่แท้จริงต้องมีกระบวนการมีส่วนร่วม งบประมาณจะต้องทุ่มลงไปในพื้นที่อย่างจริงจัง สงสารเจ้าหน้าที่ของรัฐในพื้นที่ที่ต้องดำเนินการต้องขัดแย้งกับพี่น้องของประชาชน

“การแก้ไขปัญหาที่ดินในเขตป่า จำเป็นต้องแก้ปัญหาโดยเอาเป้าหมายเป็นตัวตั้ง หาเจ้าภาพร่วม หางบประมาณจากท้องที่ ท้องถิ่น แม้กระทั่งชาวบ้าน มาทำงานด้วยกัน”

ส.ส.พรรคก้าวไกล

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS