เปิดเบื้องหลัง​ ปมจัดหาวัคซีน​ช้า​ จาก พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง ฉบับปราบโกง​ ปี ’60​

“นพ.สุรเชษฐ์” ชี้ ​ฉีดวัคซีนต้องใช้ยุทธศาสตร์​การแพทย์​นำ ห่วงวิกฤตห้องไอซียู​ ทำยอดผู้เสียชีวิตพุ่ง “นพ.วิชัย” มองวัคซีนโควิด-19​ เป็นเรื่องมหัศจรรย์ทางวิทยาศาสตร์ที่ใช้เวลาไม่ถึง 1 ปี

ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลถึงความสับสนของแผนการกระจายวัคซีนโควิด-19​ และช่องทางการลงทะเบียน​ฉีดวัคซีน รวมถึงความไม่ชัดเจนของวันและเวลาส่งมอบวัคซีนแอสตราเซเนกาล็อตใหญ่ “นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย” อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข​ เปิดเผยผ่านรายการ​ Active​ ​Talk​ เมื่อวันที่​ 28​ พ.ค.​ 2564​ ชื่นชม​ “หมอเบิร์ท” พญ.อภิสมัย​ ศรีรังสรรค์ ทีมโฆษก ศบค. ที่ออกมาขอโทษประชาชนหลังสับสนนโยบาย​ ถือว่าเป็นจิตแพทย์ที่มีความเข้าใจต่ออารมณ์ของสังคม​

ขณะที่ความจริงต้องยอมรับว่า องค์การอนามัยโลก วิงวอนให้ประเทศร่ำรวยกระจายวัคซีนให้ประเทศอื่น ๆ​ เนื่องจากพบความต้องการวัคซีนสูงและยังขาดแคลนอยู่​ ทั้งนี้ ก็เพราะหลักการควบคุมโรคที่สำคัญ​ คือ​ จะไม่มีใครปลอดภัยจนกว่าเราทุกคนจะปลอดภัย

ขณะเดียวกัน​ หากมองดูประเทศที่มีต้นทุนสูงและไม่ได้พึ่งพาการท่องเที่ยว​อย่างนิวซีแลนด์และออสเตรเลีย​ ยังคงปิดประเทศต่อไป ในขณะที่ประเทศญี่ปุ่นแม้มีความเจริญมากกว่าประเทศไทย แต่ในปัจจุบันบุคลากรทางการแพทย์ยังได้ฉีดวัคซีนเพียง 50% ส่วนประเทศไทยที่มีวัคซีนเพียงน้อยนิด​ ก็คิดจะเอามาเพื่อแก้ปัญหาทุกอย่าง​ ทั้งลดการตาย ควบคุมการระบาด ฟื้นเศรษฐกิจ ทั้งมีระบบอุปถัมภ์ลัดคิววัคซีน​อีกด้วย

พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง​ ปี’60​ ปมเบื้องหลัง​จัดหาวัคซีน​ช้า

ด้าน​ “นพ.วิชัย โชควิวัฒน” กรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข สปสช.​ และอดีตเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มองว่าปัญหาการบริหารวัคซีนมีทั่วทั้งโลก​ แต่ปัญหาการตัดสินใจเรื่องแผนจัดหาวัคซีนของประเทศไทย​ มี​ 2​ ประการ​คือ 1.​ ประเทศไทยไม่คิดว่าทั่วโลกจะสามารถผลิตวัคซีนได้รวดเร็วขนาดนี้ เพราะหากเปรียบเทียบวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ใช้เวลาถึง 20 ปีกว่าจะคิดค้นวัคซีนได้​ ส่วนวัคซีนที่ผลิตได้เร็วที่สุดที่ผ่านมา คือ วัคซีนคางทูม​ ใช้เวลาถึง 4 ปี​ ขณะที่การผลิตวัคซีนโควิด-19​ เป็นเรื่องมหัศจรรย์และเป็นความเจริญทางวิทยาศาสตร์ที่ใช้เวลาไม่ถึง 1 ปี ก็สามารถคิดค้นวัคซีนได้ ซึ่งนับตั้งแต่วันแรกที่ยืนยันเชื้อใหม่ 11​ ม.ค.​ 2563 ธุรกิจยาหลายแห่งก็เริ่มนับหนึ่งในการวิจัยวัคซีน ประเทศไทยก็ติดตามการคิดค้นวัคซีนมาตลอด ปรากฏว่าวัคซีนตัวแรกที่สามารถที่คิดค้นสำเร็จ​ คือ​ ไฟเซอร์ มีประสิทธิภาพป้องกันโรคได้ถึง 94% เมื่อวันที่ 8 พ.ย.​ 2563​​ ซึ่งประเทศอังกฤษก็เตรียมจัดหาวัคซีนไฟเซอร์เพื่อมาใช้กับประชาชน โดยการทำงานของ อย. ประเทศอังกฤษ​ ไม่ได้นั่งรอให้บริษัทยามาขอขึ้นทะเบียน​ แต่ติดต่อไปเลย แม้ผลการทดสอบจะอยู่ระหว่างทาง

2. ประเทศไทยระบบกฎหมายไม่เอื้อต่อการจัดหาวัคซีนฉุกเฉิน จาก พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นฉบับปราบโกง ระบุชัดเจนว่าการจัดซื้อภาครัฐจะต้องซื้อสินค้าที่ปลอดภัย​ คุณภาพ​ดี​ และ​ราคาย่อมเยา ซึ่งสินค้าเหล่านี้ไม่มีอยู่จริง​ ซึ่งคนในสถาบันวัคซีนแห่งชาติ หากจัดหาวัคซีนไม่รอบคอบก็อาจจะติดคุก จึงมีการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กรมบัญชีกลาง​ อัยการสูงสุด​ รวมถึง วิษณุ​ เครืองาม​ รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย ทุกคนบอกว่าไม่ได้ทั้งนั้น

แต่ก็ไปเจอช่องทางที่สามารถทำได้ คือ​ พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2561 ซึ่งเปิดช่องทางให้ได้เซ็นสัญญาโดยมี 3 ทางเลือก 1.​ ดีลโดยตรง 2. ร่วมโครงการ​ COVAX​ และ 3. อื่น ๆ เช่น การวิจัยและพัฒนาเอง

“ทีนี้ทางเลือกแรก การดีลตรง เลือกแอสตราเซเนกา เพราะได้วัคซีน​จำนวนมาก และไทยได้เป็นแหล่งผลิต​ ทั้งยังราคาถูก”

ขณะที่​ “นพ.สุรเชษฐ์” กล่าวถึงการสะดุด ของการส่งมอบวัคซีนแอสตราเซเนกา อาจมีปัญหาเรื่องเอกสาร แล้วก็ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าจะทยอยส่งมอบวันไหน จำนวนเท่าไร ซึ่งจากการวางแผนกระจายวัคซีนเดิม คนกลุ่มแรกที่จะได้รับวัคซีนก็ คือ ผู้สูงอายุและกลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง ซึ่งสอดคล้องกับจำนวนของวัคซีน ที่จะทยอยส่งมอบในเดือนมิถุนายน 6 ล้านโดส และในเดือนกรกฎาคมอีก 10 ล้านโดส รวมเป็น 16 ล้านโดส​ ใกล้เคียงกับสัดส่วนกลุ่มผู้สูงอายุ​ และกลุ่มเสี่ยง​ 7​ โรค​ เกือบทั้งประเทศ​ 16​ ล้านคน

ขณะที่คนกลุ่มนี้ลงทะเบียนผ่านหมอพร้อม 7-8 ล้านคน​ ประกอบกับวัคซีนเสริม​ซิโนแวค พื้นที่กรุงเทพมหานคร​ มีคนลงทะเบียนผ่านระบบที่จัดไว้ 1.5 ล้านคน ส่วนนี้ก็อาจจะเอาไปใช้กับพื้นที่ระบาดหนักได้ เพราะฉะนั้น ปัญหาน่าจะอยู่ที่แอสตราเซเนกาว่าจะทยอยส่งมอบเมื่อไร จะครบถ้วนหรือไม่​

ชี้ ​ฉีดวัคซีนต้องใช้ยุทธศาสตร์​การแพทย์​นำ​

“นพ.สุรเชษฐ์”​ ระบุถึงเป้าหมายของแผนกระจายวัคซีนว่า​ คงจะต้องทำความเข้าใจให้ชัดว่าจะมีเป้าหมายเพื่ออะไร​ การใช้วัคซีนตามยุทธศาสตร์การแพทย์ ​คือ ใช้เพื่อลดการเสียชีวิต​ ซึ่งกลุ่มที่เสียชีวิตส่วนใหญ่ก็คือผู้สูงอายุ ขณะที่การปูพรมฉีดวัคซีนจำนวนมาก ก็ยังไม่ได้การันตีว่าจะหยุดการระบาดได้จริงหรือไม่​ เพราะมีตัวอย่างจากหมู่เกาะเซเชลส์ (สาธารณรัฐเซเชลส์) ที่ฉีดวัคซีนไปเกิน 70% แต่ก็เกิดการระบาดซ้ำ​ ขณะที่การฉีดวัคซีนทั้งเกาะภูเก็ตจะเป็นบทพิสูจน์สำคัญว่าวัคซีนช่วยหยุดการระบาดได้จริงหรือไม่

“ถ้าถามว่าฉีดใครก่อน​ ก็ควรต้องฉีดตามยุทธศาสตร์ทางการแพทย์นำ ถ้าจะลดการเสียชีวิตต้องฉีดผู้สูงอายุ​ และกลุ่มเสี่ยง แต่ถ้าจะลดการระบาดต้องลดการติดต่อของผู้คน ซึ่งการฉีดวัคซีนในระยะสั้นไม่ลดการระบาด เพราะต้องฉีดให้ได้มากถึง 70-80% ซึ่งต้องใช้เวลา”

ห่วงวิกฤตห้องไอซียู​ ทำยอดผู้เสียชีวิตพุ่ง

อย่างไรก็ตาม​ “นพ.สุรเชษฐ์” ระบุว่า เป็นห่วงสถานการณ์การครองเตียงของผู้ป่วยโควิด-19​ ตอนนี้มาก ​โดยเฉพาะ ห้องไอซียูที่อาจทำให้คนไข้โรคอื่น ๆ​ เสียโอกาส ยกตัวอย่างประเทศอังกฤษ​ ที่มีอัตราการตายสูง เพราะ​ 1. จำนวนผู้สูงอายุ​ 2. ผู้ป่วยล้นระบบสาธารณสุข ไม่สามารถดูแลได้ ส่วนสถานการณ์ในประเทศไทย​ เช่น​ ที่โรงพยาบาลบางบัวทอง​ มีคนไข้สีเหลืองครองเตียงอยู่ทั้งหมด 120 เตียง ต้องใส่สายออกซิเจนถึง 20 คน หากเป็นผู้ป่วยสีแดงแทบจะหาที่ส่งต่อไม่ได้ เรื่องนี้ นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ก็แสดงความเป็นห่วงมาโดยตลอด ยืนยันว่า​ จำนวนแพทย์ไม่ได้ขาดแคลน​ แต่ตอนนี้ขาดแคลนพยาบาลอย่างรุนแรง และขาดแคลนเตียงคนไข้หนัก

“ย้อนกลับไปสถานการณ์อาจมาไม่ถึงจุดนี้ เพราะประเทศไทยมีนักระบาดวิทยาเก่ง ๆ​ หลายคน​ วันที่ 1 เมษายน ที่ผ่านมา​ นักระบาดวิทยาเริ่มเสนอให้มีการล็อกดาวน์​ เทศกาลสงกรานต์เนื่องจากเห็นการระบาดหลายคลัสเตอร์​ แต่รัฐบาลก็ยังคงปล่อยให้เกิดการเดินทาง”

ต่อเรื่องความสำคัญของนักระบาดวิทยา​ “นพ.​สุรเชษฐ์” กล่าวอีกว่าหากเปรียบเทียบกันแล้ว ประเทศไทยอบรมนักระบาดวิทยาเข้าสู่รุ่นที่ 40 กว่า ในขณะที่เกาหลีใต้พึ่งมีนักระบาดวิทยารุ่นที่ 5-6 เท่านั้น

เห็นใจนายกรัฐมนตรี​ 7​ ปีมีปัญหาต้องแก้หลายเรื่อง​

“นพ.​วิชัย”​ มองว่าการระบาดของโควิด-19 เป็นปัญหาใหญ่เกินกว่าที่กระทรวงใดกระทรวงหนึ่งจะรับมือได้ จึงจำเป็นต้องมี​ ศบค.​ อย่างไรก็ตาม​ พ.ร.บ.ควบคุม​โรคติดต่อ​ พ.ศ. 2558 ที่มีการกระจายอำนาจตั้งคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อทุกจังหวัดนั้น ถ้าไม่มีอำนาจส่วนนี้การบริหารจัดการจะเละเทะกว่านี้ หากย้อนกลับไปโรคระบาดอื่น ๆ ไม่เคยร้ายแรงเท่า โควิด-19​ ตั้งแต่โรคเอดส์ ที่หลายคนเชื่อว่าจะเป็นโรคระบาดทำลายล้างโลก ก็กลายเป็นโรคเรื้อรัง​ โรคซาร์สระบาดอยู่ประมาณ 8 เดือน ก็สงบลง เนื่องจากประเทศไทยมีนักระบาดวิทยา​ และสร้างระบบเฝ้าระวังที่เข้มแข็งก่อนประเทศเกาหลีใต้

“ส่วนตัวเห็นใจนายกรัฐมนตรีที่อยู่มาถึง 7 ปี มีปัญหาให้แก้ไขมากมาย ในขณะที่สังคมต้องเปิดโอกาสให้บริหารงานในมิติของความเป็นมนุษ​ย์”

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS