หมอทั่วประเทศ ลุ้นวันส่งมอบแอสตราเซเนกา หวั่นฉีดไม่ทัน 7 มิ.ย.

สธ. ยัน วัคซีนมาทันแน่ แต่ยังไม่ระบุวัน ด้าน “ผอ.รพ.ธรรมศาสตร์ฯ” วอน กระจายถึงพื้นที่ล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วัน “แพทย์ชนบท” จี้ รัฐพูดความจริง ขออย่าสร้างความสับสน จนท.ด่านหน้าทำงานลำบาก 

“โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ยังต้องลุ้นว่าจะได้วัคซีนล่วงหน้า 1 สัปดาห์ ก่อนเริ่มฉีดวันที่ 7 มิถุนายน พร้อมกับโรงพยาบาลทั่วประเทศ หรืออย่างน้อยที่สุดก็ล่วงหน้า 3 วัน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ด่านหน้าได้เตรียมตัว”

“รศ. นพ.พฤหัส ต่ออุดม” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ แสดงความกังวลผ่าน Active Talk เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2564 หลังจากที่มีประชาชนลงทะเบียนจองคิววัคซีนระบบหมอพร้อมล่วงหน้าแล้วกว่า 57,000 คน เมื่อรัฐบาลปรับแผนการลงทะเบียน โรงพยาบาลจึงต้องขอยุติการลงทะเบียนผ่านระบบหมอพร้อมเพื่อไม่ให้เกิดความสับสน ขณะเดียวกัน ก็ต้องเร่งตอบคำถามประชาชน ซึ่งยังไม่ได้ข้อมูลที่ชัดเจนจากรัฐบาลว่าวัคซีนแอสตราเซเนกาล็อตใหญ่จะส่งมอบวันไหน

ผอ. รพ.ธรรมศาสตร์ฯ เข้าใจว่ารัฐต้องการใช้วัคซีนที่มีอยู่อย่างจำกัดไปตัดวงจรระบาดในพื้นที่สีแดงหลายจุด แต่ในเชิงการบริหารจัดการหากทราบจำนวนวัคซีนที่แน่ชัด ก็อาจจะใช้วัคซีนซิโนแวคกับพื้นที่เสี่ยง ขณะเดียวกันก็เดินหน้ากระจายวัคซีนแอสตราเซเนกาตามเดิม อาจจะไม่ต้องเลื่อนออกไป ทั้งนี้ ยอมรับว่าหากได้รับวัคซีนซิโนแวคแทน อาจทำให้คนที่ลงทะเบียนหมอพร้อมซึ่งมีความหวังว่าจะได้ฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาจำนวนครึ่งหนึ่ง ปฏิเสธการฉีดวัคซีน

ด้าน “นพ.สุพัฒน์ ฮาสุวรรณกิจ” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา และประธานชมรมแพทย์ชนบท ระบุว่า เจ้าหน้าที่ตอบคำถามประชาชนในพื้นที่ไม่ได้ และมองว่าแยกปัญหาเป็น 2 ส่วน คือ 1. การลงทะเบียนผ่านระบบหมอพร้อม ในต่างจังหวัดอาจไม่สอดคล้อง เพราะใช้วิธีให้ อสม. เดินลงทะเบียนตามหมู่บ้าน นัดมาฉีดวัคซีนทีละหมู่บ้าน จัดการได้ง่ายกว่า ซึ่งระบบหมอพร้อมดูเหมาะกับเขตเมืองมากกว่า 2. วัคซีนจะมาหรือไม่ เป็นเรื่องใหญ่กว่า สำหรับโรงพยาบาลจะนะ ต้องได้รับวัคซีนจำนวน 1,000 โดสในวันที่ 7 มิถุนายน เช่นเดียวกัน ซึ่งถือว่าน้อยมาก ๆ เพราะว่าตั้งเป้าฉีดวันละ 360 โดสต่อวัน

“รัฐบาลต้องบอกความจริงว่าความผิดพลาดเกิดจากอะไร แต่ที่รัฐบาลไม่ยอมบอกเพราะต้นทุนรัฐบาลตอนนี้ต่ำมาก เลยไม่กล้าพูดความจริง ไม่พร้อมที่จะถูกด่า ขณะเดียวกันความสับสนเหล่านี้ก็ทำให้เจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลด่านหน้าทำงานลำบากมากขึ้น รวมไปถึง ผู้ใหญ่บ้าน อสม. ด้วยซึ่งจะเสียศรัทธาทั้งระบบ”

ขณะที่ รศ. นพ.พฤหัส ระบุว่า การบริหารงานของรัฐบาลต้องยอมรับว่าการจัดสรรวัคซีนมีความล่าช้าจริง และบริหารงานผิดพลาด เป็นการจองม้าตัวเดียว ทั้ง ๆ ที่ทุกคนทราบว่าตามปกติของโรคระบาด เมื่อเกิดรอบหนึ่ง ก็จะเกิดรอบสองรอบสามตามมา ซึ่งเรามีเวลาถึง 1 ปีให้เตรียมตัวหลังการระบาดรอบแรก ถ้าหากเราใช้งบประมาณที่มีแจกกระตุ้นเศรษฐกิจ มาจัดหาวัคซีนให้ทันฉีดตั้งแต่ต้นปี จะไม่เกิดความเสียหาย เช่นนี้ นอกจากที่จะอธิบายถึงความผิดพลาดเกิดจากอะไรแล้วรัฐบาลจำเป็นต้องออกมาขอโทษประชาชนด้วย 

“เชื่อว่าถ้ารัฐบาลออกมาขอโทษประชาชน ประชาชนก็จะพอเข้าใจได้ แต่ถามว่าคาดหวังได้รับคำขอโทษหรือไม่ ต้องบอกเลยว่าไม่คาดหวัง เพราะที่ผ่านมาการระบาดทั้งคลัสเตอร์ทองหล่อ หรือ คลัสเตอร์งานเลี้ยงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ยังไม่เคยได้รับคำขอโทษจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ปล่อยให้เรื่องเงียบไปเอง” 


สธ. ยัน วัคซีนมาทัน ได้ฉีดแน่พร้อมกันทั่วประเทศ 7 มิ.ย. นี้

แม้จะยังไม่มีวันและเวลาที่ชัดเจนว่าวัคซีนแอสตราเซเนกาจะส่งมอบวันไหน อย่างไรก็ตาม The Active เกาะติดความเคลื่อนไหวล่าสุดจากกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 29 พ.ค. 2564 พบว่า มีการประชุมทางไกลนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลทั่วไป เตรียมความพร้อมการให้บริการวัคซีนโควิด-19 ที่จะกระจายไปยัง 76 จังหวัด ตามแผนการจัดสรรของ ศบค. มีคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด พิจารณาการฉีดในกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ เริ่มพร้อมกันทั่วประเทศ 7 มิถุนายนนี้  

“นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต” ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่าจะกระจายวัคซีนไปยัง 76 จังหวัด ตามแผนการจัดสรรของ ศบค. โดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดจะเป็นผู้พิจารณาการฉีดในกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ และให้ทุกจังหวัดจดบันทึกข้อมูลการให้บริการ และจำนวนคงคลังในระบบ MOPH Immunization Center (MOHP IC) ให้ครบ เตรียมความพร้อมในการออกเอกสารรับรองในผู้ที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม สำหรับผู้เดินทางไปต่างประเทศ โดยจะมอบอำนาจให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และผู้อำนวยการโรงพยาบาลระดับจังหวัด ในการออกเอกสารรับรองตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นไป

“ขอย้ำว่าให้ทุกจังหวัดเน้นการฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มครู บุคลากรทางการศึกษารองรับการเปิดภาคเรียน สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรังที่ลงทะเบียนหมอพร้อมมาแล้ว ไม่ต้องลงทะเบียนใหม่ จะได้รับวัคซีนในวันที่ 7 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไปเหมือนเดิม”

ด้าน “นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์” อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า ศบค. มีเป้าหมายฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มแรก จำนวน 50 ล้านโดสให้เสร็จภายในเดือนกันยายน 2564 กำหนดเริ่มฉีดวัคซีนอย่างเป็นทางการวันที่ 7 มิถุนายน ยืนยันว่าทุกจังหวัดจะมีวัคซีนฉีดแน่นอน วัคซีนที่รัฐบาลจัดหาทั้งวัคซีนของแอสตราเซเนกาและซิโนแวค สามารถฉีดได้ในกลุ่มอายุ 18 ปีขึ้นไปเหมือนกัน โดยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาฉีดให้ โดยยึดหลักวิชาการทางการแพทย์ 

สำหรับการกระจายวัคซีนแอสตราเซเนกา ทาง ศบค. จะเป็นผู้กำหนดการจัดส่งให้แต่ละจังหวัด กระทรวงสาธารณสุขจึงจัดส่งวัคซีนไปตามนั้น คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดจะเป็นผู้พิจารณาการฉีด

ในกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ โดยพิจารณาทั้งจากจำนวนประชากร, สถานการณ์การระบาด, กลุ่มเป้าหมาย, พื้นที่นโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจการท่องเที่ยว เช่น จ.ภูเก็ต ที่จะเปิดเรื่องท่องเที่ยวเดือนกรกฎาคมนี้ จึงต้องฉีดให้เสร็จภายในเดือนมิถุนายน เป็นต้น, กลุ่มผู้สูงอายุและ 7 โรคเรื้อรังที่ลงทะเบียนผ่านหมอพร้อมที่ต้องพิจารณาฉีดให้เป็นกลุ่มแรก ๆ

 “การจัดส่งวัคซีนจากเดิมที่ส่งให้จังหวัดเป็นรายเดือนจะเปลี่ยนเป็นรายสัปดาห์ เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่ปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว และมีการติดตามผลการฉีดว่าเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ โดยขอให้รายงานจำนวนการฉีดและสต็อกวัคซีนที่เหลือ หากฉีดได้ตามเป้าหมายจะจัดส่งวัคซีนไปเพิ่มเติม”

สำหรับการจัดสรรวัคซีนในกลุ่มประชากรของกรุงเทพมหานคร และผู้ประกันตนของสำนักงานประกันสังคม และ กทม. เมื่อรับวัคซีนแล้วจะไปดำเนินการบริหารจัดการการฉีดวัคซีนเอง

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS