“หมอเบิร์ท” ขอโทษ นโยบายวัคซีนไม่ชัดเจน

ยืนยัน ถ้าลงทะเบียนใน หมอพร้อม สำเร็จแล้ว ขอให้ยังอยู่กับ หมอพร้อม และจะได้รับการฉีดวัคซีนตามที่นัดหมายแน่นอน

แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่วันนี้ (28 พ.ค.2564) จำนวน 3,759 คน ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมระลอกใหม่เพิ่มขึ้นเป็น 116,113 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยที่ยังรักษาตัวอยู่ 46,150 คน แยกเป็นผู้ป่วยอาการหนัก 1,226 คน และผู้ป่วยที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ 405 คน

ส่วนผู้เสียชีวิตวันนี้ (28 พ.ค.) จำนวน 34 คน รวมมีผู้เสียชีวิตสะสมระลอกใหม่ 860 คน ในจำนวนนี้เป็นการรายงานผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อในเรือนจำ 2 คน และหญิงตั้งครรภ์ 1 คน นอกจากนี้ยังเป็นผู้เสียชีวิตหลังพบว่าติดเชื้ออีก 8 คน

โดยเมื่อวิเคราะห์เปรียบเทียบสัดส่วนผู้เสียชีวิตพบว่า ในการติดเชื้อระลอกแรกมีอัตราผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 1.42% ระลอกสองลดลงมาอยู่ที่ 0.14% ส่วนระลอกสามหรือปัจจุบันพบว่าอัตราผู้เสียชีวิตเกือบสูงเท่าระลอกแรกโดยอยู่ที่ 1.23% ขณะที่กลุ่มที่มีอัตราเสียชีวิตมากที่สุดยังคงเป็นผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป

นอกจากนี้ ยังพบว่า ในระลอกปัจจุบันยังมีมากถึง 54 รายที่เสียชีวิตในวันเดียวกับที่พบว่าติดเชื้อ โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ป่วยติดเตียงและมีโรคประจำตัว ที่อาจเกิดจากสาเหตุที่ญาติเริ่มสังเกตอาการได้หลังจากผู้ป่วยเริ่มมีอาการหนักแล้ว

ส่วนทิศทางแนวโน้มผู้ติดเชื้อ ก็ยังอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่น่าไว้วางใจ และยังคงต้องทำการตรวจเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง โดย กทม.ยังคงเป็นพื้นที่ๆ พบผู้ติดเชื้อรายวันสูงสุด โดยวันนี้ (28 พ.ค.) พบ 973 คน และมีคลัสเตอร์ใหม่เพิ่มขึ้นอีก 3 แห่ง คือ ตลาดมีน เขตทุ่งครุ พบติดเชื้อ 36 คน, บริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง เขตบางแค พบติดเชื้อมากถึง 89 คน และสถานเอกอัคราชฑูต เขตวัฒนา พบติดเชื้อ 5 คน

แจง ศบค.ปรับแผนวัคซีน ตามข้อเสนอจากพื้นที่

ในส่วนที่ยังมีความสับสนต่อระบบการจองนัดหมายฉีดวัคซีน แพทย์หญิงอภิสมัย ชี้แจงว่า ต้องเน้นก่อนว่า ตอนนี้การใช้วัคซีนโควิด-19 ทั่วโลกยังคงเป็นรูปแบบการอนุมัติฉุกเฉิน โดยการรับรองขององค์การอนามัยโลก (WHO) โดยประสิทธิภาพวัคซีนก็มุ่งเน้นที่ลดความรุนแรงของโรคและลดการเสียชีวิต แต่ยังไม่สามารถสรุปได้ว่า ป้องกันการแพร่เชื้อได้ จากข้อมูลที่มีรายงานทั่วโลก

ในประเทศไทย การฉีดวัคซีนถือเป็นวาระแห่งชาติ โดยนโยบายคือ ประชาชนไทยสามารถเข้าถึงวัคซีนที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคโควิด-19 โดยเป้าหมายแรกของการให้วัคซีนคือ ลดอัตราการป่วยและตาย ทำให้กลุ่มเป้าหมายแรกที่ต้องได้รับวัคซีนคือ กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงและอาจเสียชีวิตหากติดเชื้อ ได้แก่ กลุ่มผู้สูงอายุเกิน 60 ปี และผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง ส่วนเป้าหมายที่สองคือ เพื่อปกป้องระบบสุขภาพของประเทศ โดยกระจายไปบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า

เมื่อทิศทางและหลักการกระจายวัคซีนเป็นแบบนี้ ทำใหการบริหารวัคซีนในระยะแรกที่มีวัคซีนจำกัด จึงเน้นการกระจายไปที่กลุ่มบุคลากร ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว และสำรองวัคซีนไว้สำหรับพื้นที่เสี่ยงที่มีการแพร่ระบาดฉุกเฉิน

ต่อมา มีการเสนอให้กระจายวัคซีนไปตามจังหวัดท่องเที่ยวนำร่องเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หรือจังหวัดที่เสียสละพื้นที่เปิด State Quarantine หรือ Local Quarantine ที่เสนอว่า บุคลากรในพื้นที่เหล่านี้ยังต้องดูแลผู้ป่วย ก็ควรได้ฉีดด้วยเช่นกัน เช่น ในพื้นที่ นครปฐม สมุทรสงคราม ตาก และเพชรบุรี

นอกจากนี้ ที่ผ่านมายังมีการกระจายวัคซีนในจำนวนเล็กน้อยให้แก่ 77 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อทดสอบระบบการบริหารวัคซีนให้ได้มาตรฐานสาธารณสุข และเพื่อเตรียมความพร้อมเมื่อวัคซีนมีจำนวนเพียงพอ

และเข้าสู่ระยะที่มีวัคซีนมากเพียงพอ ก็จะมีการระดมฉีดวัคซีน โดยมีแผนระยะสองว่า ประชากรไทยต้องได้รับการฉีดวัคซีน 70% ของประชากรทั้งประเทศ หรือประมาณ 50 ล้านคนทั้งชาวไทยและต่างชาติ ไม่รวมเด็กและผู้หญิงมีครรภ์ โดยมีการจัดหาวัคซีนเตรียมไว้อย่างน้อย 100 ล้านโดส โดยจะระดมฉีดเข็มที่ 1 ให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน และเข็มที่ 2 ให้ได้ภายในเดือนธันวาคม 2564

ดังนั้น สรุปการจัดสรรวัคซีนตามแผนระยะสอง คือ จัดสรรวัคซีนตามจำนวนประชากรแต่ละจังหวัดภายใต้หลักการจัดสรรอย่างเท่าเทียมกัน แต่ก็มีคำถามและข้อเสนอว่า หลายจังหวัดที่มีการระบาดหนักจึงขอโควต้าไปในพื้นที่ที่มีการระบาดหนักก่อน ขณะที่จังหวัดที่มีรายงานผู้ติดเชื้อน้อยเนื่องจากการทำงานอย่างดี ก็ควรจะได้รับการจัดสรรวัคซีนด้วย ซึ่งยืนยันว่า ศบค.รับฟังทุกข้อเสนอแนะ และนำไปสู่การประชุมปรับเปลี่ยนเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันยิ่งขึ้น

“แผนไม่ได้ปรับโดย ศบค. แต่ปรับโดยกลุ่มผู้ที่เข้าใจพื้นที่ เข้าใจลักษณะงาน เข้าใจว่าบุคลากรมีความเสี่ยง จึงเสนอขึ้นมาที่ ศบค.”

ยืนยัน ถ้าลงทะเบียนในหมอพร้อมสำเร็จแล้ว ขอให้ยังอยู่กับหมอพร้อม และจะได้รับการฉีดวัคซีนตามที่นัดหมายแน่นอน

ในส่วนการลงทะเบียนหมอพร้อม ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวว่า ตอนนี้อาจไม่ตอบโจทย์ในหลายพื้นที่ ทาง  ศบค. จึงเห็นชอบถ้าจังหวัดใดมีความประสงค์ที่จะพัฒนาการลงทะเบียนให้เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ของตน ก็สามารถทำได้ เช่น กรุงเทพฯ ภูเก็ต นนทบุรี และเชียงใหม่

“หมายความว่า หมอพร้อมไม่ได้ยกเลิก เพียงแต่เปิดโอกาสและช่องทางให้ประชาชนเข้าถึงการลงทะเบียนฉีดวัคซีนได้มากขึ้น และให้เหมาะสมกับบริบทแต่ละพื้นที่”

และเน้นย้ำว่า กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และกลุ่มผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรังที่ลงทะเบียนหมอพร้อมสำเร็จมาก่อนหน้านี้ ไม่ต้องกังวล ยืนยันว่าอยู่ในระบบแล้ว และจะได้รับการฉีดวัคซีนตามที่นัดหมายแน่นอน

ส่วนที่มีคำถามว่า ลงทะเบียนหมอพร้อมแล้ว จะไปลงทะเบียนในช่องทางอื่นได้อีกหรือเปล่า แพทย์หญิงอภิสมัย ชี้แจงว่า ถ้าลงทะเบียนในหมอพร้อมสำเร็จแล้ว ก็ขอให้ยังอยู่กับหมอพร้อม ไม่ต้องเปลี่ยน ส่วนที่ยังกังวลว่าจะได้ฉีดหรือไม่ ก็ยืนยันว่า จะได้ฉีดตามที่นัดหมายแน่นอน ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงก็จะไม่ปิดบัง

อย่างไรก็ตาม มีกลุ่มที่ลงทะเบียนหมอพร้อมแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการยืนยันวันฉีดหรือสถานที่ฉีด ซึ่งขอเรียกกลุ่มนี้ว่า ยังลงทะเบียนไม่สำเร็จ กรณีนี้ หากอยู่ในพื้นที่ที่มีการเปิดให้ลงทะเบียนช่องทางอื่น เช่น กทม .ก็สามารถไปลงทะเบียนกับ กทม.ได้

แต่ไม่ว่าจะลงทะเบียนในช่องทางใด รวมถึงการลงทะเบียนในโรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือลงทะเบียนกับ อสม. ยืนยันว่า ช่องทางเหล่านี้ยังมีอยู่ ยังไม่ล่ม โดยทุกช่องทางที่มีการลงทะเบียน ระบบจะรวมข้อมูลทั้งหมดไปที่ระบบหลังบ้านของหมอพร้อม ที่จะเป็นผู้ออกใบรับรองเมื่อสิ้นสุดเข็มที่ 2

“อยากสื่อสารถึงคนกรุงเทพฯที่สับสนนโยบายวัคซีน ถ้าวันนี้ยังไม่ชัดเจน ก็จะนำมาย้ำอีกในวันถัดไป ขอโทษหากทำให้ไม่ชัดเจน ไม่เข้าใจ ก็จะทำให้ชัดเจนมากขึ้น”

ส่วนพื้นที่ฉีดวัคซีนของ กทม. ที่มีการตั้งคำถามว่า มีการปรับแผนไปมา ไม่แน่นอนนั้น ชี้แจงว่า เป็นการปรับเนื่องจากช่วงแรกยึดหลักความปลอดภัยในการฉีดวัคซีน แต่ตอนหลังสามารถควบคุมได้ จึงกระจายพื้นที่ให้บริการฉีดวัคซีนไปหลายแห่ง ทั้งในสถานพยาบาลภาครัฐ 125 แห่ง, ภาคเอกชน 25 แห่ง, สถานที่ฉีดสำหรับผู้ประกันตน ม.33 อีก 45 แห่ง, มหาวิทยาลัย 11 แห่ง และสถานีรถไฟกลางบางซื่อ

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว