สภาพัฒน์ฯ ชี้ พัฒนาวัคซีนโควิด-19 ในไทย นโยบายต้องชัดเจน และบริหารจัดการดี

ระบุ ไทยยังมีหลายช่องโหว่ ขาดองค์ความรู้ ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ รวมทั้งขาดความต่อเนื่องในการวิจัยและพัฒนาเนื่องจากข้อจำกัดในเรื่องงบประมาณ

วันนี้ (24 พ.ค.2564) สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) แถลงข่าว ภาวะสังคมไทยในไตรมาสที่ 1 ของปี 2564 โดยหนึ่งในนั้นมีการนำเสนอเรื่อง “การพัฒนาวัคซีน COVID-19 ของประเทศไทย”

จินางค์กูร โรจนนันต์ รองเลขาธิการ สศช. กล่าวว่า การพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ของประเทศไทย ขณะนี้ทุกคนทราบดีว่าวัคซีนเป็นเครื่องมือสำคัญในการควบคุมโรค โดยวัคซีนที่ใช้ในประเทศไทยขณะนี้ส่วนใหญ่นำเข้าจากต่างประเทศ คิดเป็นมูลค่ากว่าร้อยละ 80 ซึ่งจากสถานการณ์ปัจจุบันที่ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การเกิดขึ้นของโรคส่งผลต่อการขาดแคลนในการจัดหาวัคซีนให้ได้อย่างเพียงพอและทันท่วงที

จึงเป็นความจำเป็นที่ประเทศไทยต้องพัฒนาและผลิตวัคซีนภายในประเทศ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านวัคซีนของประเทศ รวมถึงลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ และในระยะยาวก็สามารถจะทำให้ประเทศไทยสามารถพึ่งพาตนเองได้หากเกิดโรคติดต่อร้ายแรงในอนาคต

ส่วนสถานการณ์การพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ของโลก พบว่า ข้อมูล ณ เดือน ม.ค. 2564 มีการพัฒนาและผลิตวัคซีนโควิด-19 จากผู้พัฒนากว่า 80 รายทั่วโลก และมีวัคซีนจำนวน 237 ชนิดที่ถูกผลิตขึ้น โดยเป็นการทดลองกับสัตว์ 173 ชนิด และอยู่ในช่วงการศึกษาในมนุษย์ 64 ชนิด

ส่วนชนิดของวัคซีนที่มีความก้าวหน้าโดยแบ่งตามกระบวนการผลิต สามารถแบ่งได้เป็น 4 ประเภทคือ ชนิดสารพันธุกรรม (วัคซีน mRNA), วัคซีนที่ใช้ไวรัสเป็นพาหะ, วัคซีนที่ผลิตจากเชื้อตาย และวัคซีนที่ทำจากโปรตีนส่วนหนึ่งของเชื้อ  

ในส่วนของประเทศไทย เมื่อมองห่วงโซ่อุปทานของการผลิตวัคซีน โดยทั่วไปจะต้องเริ่มจากการพัฒนาวัคซีนจากห้องปฏิบัติการ จากนั้นนำไปทดสอบในสัตว์ทดลอง และนำไปทดสอบในมนุษย์ด้วยจำนวนคนที่เพิ่มขึ้นใน 3 ระยะ จากนั้นเป็นการขึ้นทะเบียน การอนุมัติใช้งาน การตลาดด้านวัคซีน และสุดท้ายคือห้องปฏิบัติการที่ใช้อ้างอิง

โดยประเทศไทยมีสถาบันวัคซีนแห่งชาติที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านวัคซีน พ.ศ.2563 – 2565 ซึ่งการดำเนินการในขณะนี้ แบ่งได้เป็น 2 เรื่อง คือ การวิจัยและพัฒนาผลิตวัคซีนในประเทศโดยได้รับความร่วมมือถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ส่วนอีกเรื่องคือ รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตจากต่างประเทศทั้งหมด อย่างกรณีของ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ที่รับการถ่ายทอดการผลิตจาก AstraZeneca ที่ร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาวัคซีนของไทยมีช่องว่างที่ไทยยังขาดองค์ความรู้ในการวิจัย ยังคงต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ยังขาดศูนย์ทดสอบวัคซีนในสัตว์ทดลองที่ได้มาตรฐาน ขาดวัสดุอุปกรณ์ผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดที่ทุกคนพยายามสต็อกวัสดุพวกนี้เอาไว้ ขาดความต่อเนื่องในการวิจัยและพัฒนาเนื่องจากข้อจำกัดในเรื่องงบประมาณ และขาดการพัฒนาให้เกิดห้องปฏิบัติการอ้างอิง

แม้จะมีช่องว่าง แต่ก็ยังสามารถพลิกวิกฤตเป็นโอกาสเพื่อเร่งพัฒนาวัคซีนภายในประเทศเองได้ หากระดับนโยบายให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ โดยในขณะที่เรายังต้องพึ่งพิงเทคโนโลยีจากต่างประเทศอยู่นั้น ก็ปิดจุดอ่อนด้วยการส่งเสริมให้มีการศึกษาขั้นตอนการถ่ายทอดเทคโนโลยีทุกประเด็น และส่งเสริมการต่อยอดวิจัยและพัฒนาในระดับอุตสาหกรรม ผ่านการมีส่วนร่วมทั้งภาครัฐและเอกชน

ส่วนต้นทุนการผลิตที่อาจจะสูงและมีความเสี่ยง ก็อาจจะสร้างความร่วมมือหน่วยงานรัฐและเอกชน เพื่อแลกเปลี่ยนทางวิชาการ ลดความซ้ำซ้อนของการวิจัยและพัฒนา และสนับสนุนให้ภาครัฐลงทุนวิจัยและพัฒนาร่วมกับภาคเอกชนเพื่อลดต้นทุน รวมทั้งสร้างตลาดวัคซีนในภูมิภาคอาเซียนเพื่อให้ประชาคมอาเซียนได้เข้าถึงวัคซีนที่ราคาถูกและมีประสิทธิภาพ

“ถ้าจะมองเรื่องการเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส การสร้างความมั่นคงในเรื่องวัคซีนก็เป็นเรื่องจำเป็น แต่ก็ต้องพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ และต้องมีความชัดเจนทางนโยบาย การบริหารจัดการที่ดี และการสร้างเครือข่ายระหว่างประเทศ เพื่อให้ประเทศเราสามารถพัฒนาและพึ่งตนเองได้”

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว