ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ ออกประกาศเตือนฉบับที่ 2

หลังเพียง 3 สัปดาห์ ผู้ป่วยอาการหนัก-เสียชีวิตรายวันเพิ่มขึ้น 3 เท่า แนะรัฐ ใช้มาตรการเข้มงวดสูงสุดเน้นพื้นที่ กทม. และปริมณฑล

วันนี้ (19 พ.ค.2564) ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ออกประกาศฉบับที่ 2 ระบุ ผ่านมา 3 สัปดาห์นับจากการออกประกาศฉบับแรกเมื่อวันที่ 25 เม.ย. สถานการณ์การระบาดในประเทศยังคงมีจำนวนผู้ป่วยใหม่ในระบบรักษาพยาบาลไม่ลดลงและมีการระบาดในเรือนจำเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ถึงแม้การจัดตั้ง รพ.สนามจะช่วยลดภาระการดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาล แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ยังคงต้องรับการรักษาในโรงพยาบาล

สิ่งที่น่ากังวลคือ ผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการหนักเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า และผู้ป่วยที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจเพิ่มขึ้น 4 เท่า ทำให้มีผู้เสียชีวิตรายวันเพิ่มขึ้น 3 เท่า ในเวลา 3 สัปดาห์ และยังมีผลกระทบต่อการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคอื่นๆ เช่นกัน โดยบุคลากรทางการแพทย์ต้องทำงานกันอย่างหนักและต่อเนื่อง

ความรุนแรงของการระบาด การนอนโรงพยาบาล รวมทั้งผู้ป่วยหนักและเสียชีวิต ยังกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นส่วนใหญ่ ทำให้สถานการณ์ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลย่ำแย่กว่าภาพรวมของประเทศมาก  ตามที่รัฐบาลประกาศผ่อนคลายมาตรการป้องกัน ขณะที่สถานการณ์ปัจจุบันการระบาดของโรคยังมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย จึงขอวิงวอนให้ทุกภาคส่วนร่วมมือร่วมใจกันดำเนินการ ดังนี้

รัฐบาล ควรมีมาตรการที่เข้มงวดสูงสุดโดยเฉพาะในกรุงเทพฯและปริมณฑล โดยคำนึงถึงความเจ็บป่วยของประชาชนมากกว่ากระแสสังคมด้านอื่นๆ เพราะหากการระบาดยังคงเป็นเช่นนี้ จะมีผู้ป่วยอาการหนัก เสียชีวิตเพิ่มขี้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และยังอาจทำให้เกิดการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จากการที่มีการระบาดจำนวนมากเป็นเวลานานอีกด้วย

สำหรับมาตรการที่กำหนดขึ้นจะต้องควบคู่กับการกำกับดูแลให้มีการปฏิบัติตามมาตรการอย่างเข้มงวดร่วมด้วย  เพื่อเร่งให้มีการลดลงของอัตราการติดเชื้อรายวัน ซึ่งจะนำมาสู่การล่มสลายของระบบการรักษาพยาบาล รวมทั้งเร่งการกระจายวัคซีนโควิด-19 อย่างเป็นระบบ มีความชัดเจน และสื่อสารสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ

ประชาชน ควรตระหนักถึงการป้องกันตนเองอย่างเข้มงวดสูงสุด ด้วยการอยู่บ้าน งดการเข้าที่ชุมชน เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ สวมหน้ากากอนามัยอย่างถูกต้อง และเมื่อมีโอกาสได้รับวัคซีนขอให้ทุกท่านเข้ารับการฉีดวัคซีนโดยพร้อมเพรียงกัน เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ที่จะช่วยยับยั้งความรุนแรงและลดการระบาด

ทั้งนี้ ตัวเลขผู้ป่วยอาการหนักในการระบาดระลอกใหม่ เริ่มมีจำนวนเกิน 1,000 คนต่อวัน ตั้งแต่วันที่ 4 พ.ค. ที่ผ่านมา โดยแตะระดับอยู่ที่ช่วง 1,100-1,200 คนต่อวัน โดยมีหนึ่งวันที่ยอดผู้ป่วยอาการหนักพุ่งสูงถึง 1,442 คน คือวันที่ 9 พ.ค. ขณะที่วันนี้ (19 พ.ค.) อยู่ที่ 1,210 คน และมีผู้เสียชีวิต 29 คน

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว