กระทรวงดีอี เปิดผลสำรวจ คนพอใจ “เราชนะ” มากที่สุด

81.2% พึงพอใจมาก-มากที่สุดต่อภาพรวมมาตรการเยียวยาภาครัฐ ไม่พึงพอใจแค่ 0.6% เกินครึ่งอยากให้เดินหน้าโครงการเราชนะต่อ

คณะรัฐมนตรี มีมติ 18 พ.ค.2564 รับทราบตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เสนอ ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือเยียวยาของภาครัฐจากสถานการณ์โรคโควิด-19 พ.ศ. 2564 ที่จัดเก็บโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) ได้แก่ โครงการเราเที่ยวด้วยกัน โครงการคนละครึ่ง โครงการเราชนะ และโครงการ ม. 33 เรารักกัน รวมถึงการดำเนินการเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของภาครัฐ โดยสอบถามประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ จำนวน 9,000 คน ระหว่างวันที่ 8-15 มี.ค. 2564

ผลสำรวจพบว่า ในด้านการรับรู้/รับทราบมาตรการช่วยเหลือเยียวยาของภาครัฐ ประชาชนส่วนใหญ่ (ร้อยละ 99.7) ระบุว่า รับรู้ /รับทราบ และมีเพียงร้อยละ 0.3 ที่ไม่รับรู้/ไม่รับทราบ โดยให้เหตุผล เช่น ไม่สนใจ และไม่มีเวลา/ไม่ว่าง

ด้านการเข้าร่วมโครงการตามมาตรการช่วยเหลือเยียวยาของภาครัฐ ในส่วนของโครงการเราเที่ยวด้วยกัน พบว่า มีผู้เข้าร่วมเพียง 10.6% ขณะที่ผู้ไม่เข้าร่วมโครงการมีมากถึง 89.4%, โครงการคนละครึ่งมีผู้เข้าร่วม 36.6% น้อยกว่าไม่เข้าร่วมที่มีจำนวน 63.4%, โครงการเราชนะ มีผู้เข้าร่วม 62.1% มากกว่าผู้ไม่เข้าร่วมที่มีจำนวน 37.9% และโครงการ ม.33 เรารักกัน มีผู้เข้าร่วม 20.0% น้อยกว่าผู้ไม่เข้าร่วมที่มีจำนวนมากถึง 80.0%

โดยเหตุผลที่ไม่เข้าร่วม มีทั้ง ไม่สนใจ การใช้งานยุ่งยาก ไม่เข้าใจเงื่อนไขโครงการ ลงทะเบียนไม่ทัน/สิทธิเต็ม  ไม่อยู่ในเงื่อนไขโครงการ ไม่เดือดร้อนเรื่องค่าใช้จ่าย รวมทั้งได้รับสิทธิอื่นแล้ว

ส่วนผลสำรวจด้านความพึงพอใจโดยรวมต่อมาตรการช่วยเหลือเยียวยาของภาครัฐ พบว่า ประชาชนร้อยละ 81.2 มีความพึงพอใจในระดับมาก-มากที่สุด, ร้อยละ 15.9 พึงพอใจปานกลาง, ร้อยละ 2.3 พึงพอใจน้อย-น้อยที่สุด และร้อยละ 0.6 ไม่พึงพอใจ

เมื่อแยกเป็นรายโครงการ พบว่า ประชาชนพอใจโครงการเราชนะมากที่สุด (86.7%) รองลงมาคือ คนละครึ่ง (82.7%), มาตรา 33 เรารักกัน (67.8%) และโครงการที่คนพึงพอใจน้อยที่สุดคือ เราเที่ยวด้วยกัน (59.9%)

ส่วนความเห็นต่อมาตรการช่วยเหลือเยียวยาของภาครัฐที่ต้องการให้ดำเนินการต่อไปมากที่สุด ได้แก่ โครงการเราชนะ (ร้อยละ 62.9), โครงการคนละครึ่ง (ร้อยละ 26.3), โครงการ ม. 33 เรารักกัน (ร้อยละ 6.1), โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (ร้อยละ 1.7) และโครงการเราเที่ยวด้วยกัน (ร้อยละ 0.6)

ผลสำรวจต่อการดำเนินการเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของภาครัฐ พบว่าประชาชนร้อยละ 60.7 มีความพร้อม และร้อยละ 39.3 ไม่พร้อม โดยให้เหตุผล เช่น ไม่มั่นใจในความปลอดภัย กลัวฉีดแล้วมีอาการแพ้ และต้องการดูผลที่เกิดขึ้นจากการฉีดของคนอื่นก่อน ทั้งนี้ ประชาชนส่วนใหญ่มีความพึงพอใจต่อการดำเนินการจัดหาวัคชีนโควิด-19 ของภาครัฐในระดับมาก-มากที่สุด (ร้อยละ 66.3)

ผลสำรวจยังพบว่า ประชาชนมีความเห็นและข้อเสนอว่า ควรเพิ่มมาตรการให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างทั่วถึงและรวดเร็ว โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบาง เช่น ควรเพิ่มวงเงินมากกว่าประชาชนกลุ่มอื่น

ควรให้ทุกคนได้รับสิทธิในการเยียวยา เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบกับประชาชนทุกคนและทุกระดับ โดยขั้นตอนการให้ความช่วยเหลือไม่ควรยุ่งยากและซับซ้อน เช่น การให้เป็นเงินสดโดยไม่ต้องลงทะเบียน

และควรส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างทั่วถึงและครอบคลุมทุกพื้นที่ในราคาย่อมเยา  รวมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เช่น ลดราคาสินค้าสำหรับผู้ที่ซื้อสินค้าและบริการออนไลน์

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว