ผู้ป่วยมะเร็งควรปรึกษาแพทย์ก่อนฉีดวัคซีนโควิด-19

“แพทย์อายุรกรรม” ยันวัคซีนปลอดภัยกับทุกกลุ่มโรค ด้าน “แพทย์มะเร็ง” ชี้ผู้ที่อยู่ระหว่างปลูกถ่ายไขกระดูกสันหลังให้เคมีบำบัด ภูมิจะขึ้นช้ากว่าคนทั่วไป 

ท่ามกลางข้อสงสัยเรื่องวัคซีน(15 พ.ค.2564) ThaiPBS, The Active, Hfocus และ PostToday ร่วมกันจัดเสวนา “รู้ชัดก่อนฉีด เคลียร์ปมคาใจวัคซีนโควิด-19 มีโรคประจำตัวควรฉีดหรือไม่” 

พล.อ.ท.นพ.อนุตตร​ จิตตินันทน์​ ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย และที่ปรึกษาศูนย์โรคไตโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช ตอบคำถามเรื่องประสิทธิภาพของวัคซีน ว่า การศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีนเมื่อมีการทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 ในคนจำนวนมาก พบว่า วัคซีนบางชนิดเช่นไฟเซอร์ และโมเดอร์นา มีประสิทธิภาพถึง 99% แอสตราเซเนกา 74% และ ซิโนแวค 50% ข้อมูลเหล่านี้มักสร้างความสับสน ซึ่งความจริงการระบุถึงประสิทธิภาพทำได้ยาก เนื่องจากขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยแวดล้อมในแต่ละประเทศ และขึ้นอยู่กับช่วงเวลาว่ามีการระบาดหนักหรือมีการกลายพันธุ์หรือไม่ โดยหากต้องการความชัดเจนจะต้องศึกษาแบบ Head tp Head จึงจะระบุประสิทธิภาพได้ 100% อย่างไรก็ตามการเก็บข้อมูลการฉีดวัคซีนในประเทศอังกฤษ ซึ่งฉีดไฟเซอร์ และแอสตราเซเนกาเป็นหลัก พบว่าแอสตราเซเนกา 1 เข็มมีผลข้างเคียงน้อยกว่าการฉีดไฟเซอร์ 2 เข็มอยู่เพียงนิดเดียว แต่ยืนยันว่าวัคซีนทุกตัวมีประสิทธิภาพในการป้องกันอาการหนักและลดการเสียชีวิตได้ 100%

“ผู้ที่มีโรคประจำตัวเมื่อติดเชื้อแล้วจะมีอาการรุนแรงและมีโอกาสเสียชีวิต การฉีดวัคซีนจะทำให้ไม่ป่วยมากและเห็นผลดีมากกว่าผลเสีย ในต่างประเทศยังไม่มีรายงานว่าการฉีดวัคซีนมีผลเสียต่อผู้มีโรคประจำตัว แม้ยังไม่ได้ศึกษาเฉพาะไปในแต่ละกลุ่มโรค”

ผู้ป่วยมะเร็งควรปรึกษาแพทย์ก่อนฉีดวัคซีนโควิด-19 

รศ.นพ.วิโรจน์​ ศรีอุฬารพงศ์​ อดีตนายกสมาคมมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย และหัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศ ทางการแพทย์โรคมะเร็งครบวงจรโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า หากพิจารณาเทคโนโลยีในการผลิตวัคซีน ซิโนแวคใช้เทคโนโลยีดั้งเดิม เอาไวรัสทั้งตัวมาทำให้ตายเพื่อฉีดเข้าไปในร่างกายมนุษย์เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน ขณะที่แอสตราเซเนกา ใช้บรรจุสารพันธุกรรมของโควิด-19 หรือ Android No virus ทำให้แอสตราเซเนกามีผลข้างเคียงระยะสั้นมากกว่าซิโนแวค แต่ซิโนแวคจะปลอดภัยกว่าในระยะสั้น แต่ยังไม่มีผลการศึกษาผลข้างเคียงในระยะยาว

สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง สามารถฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้ แต่ต้องให้แพทย์ ผู้รักษาร่วมพิจารณาว่าอยู่ในช่วงของการปลูกถ่ายกระดูกไขสันหลัง หรืออยู่ระหว่างการให้เคมีบำบัดที่ไปกวาดภูมิคุ้มกันหรือไม่ ซึ่งอาจส่งผลให้การสร้างภูมิคุ้มกันหลังฉีดวัคซีนได้น้อยกว่าคนปกติทั่วไป แต่ยืนยันว่าวัคซีนจะไม่ไปทำปฏิกิริยาใดๆต่อเซลล์มะเร็งให้โรคกำเริบหนักขึ้น

ผลข้างเคียงต่อระบบประสาทหลังฉีดเกิดขึ้นชั่วคราวและหายได้เอง 

ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ผลข้างเคียงที่เกิดจากการผิดปกติทางระบบประสาทพบได้จริง หลังฉีดวัคซีนแต่เป็นแบบชั่วคราวและจะเกิดขึ้นใน 15-30 นาทีหลังฉีด โดยจะมีอาการรู้สึกชา คันยุบยิบบริเวณที่ฉีด ชาตามนิ้วมือ แขน ส่วนปลายเท้า และขา โดยส่วนใหญ่จะไม่มีอาการปากเบี้ยว หรืออาการอ่อนแรง ขณะที่สมาคมประสาทวิทยา มีการเก็บข้อมูล โดยตรวจสอบสมองผู้มีอาการหลังฉีด ผ่านแสกนผ่านเครื่อง MRI พบว่าหลอดเลือดสมองปกติและสามารถหายได้เองภายในเวลา 72 ชั่วโมง 

“ยืนยันว่าไม่ใช่อาการของโรคอัมพาต แล้วมีโอกาสเกิดได้ 5 คนต่อ 1 หมื่นคนส่วนใหญ่หายได้เอง แน่นอนว่าวัคซีนไม่ได้เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการข้างเคียง แต่มีส่วนไปกระตุ้นให้เกิดอาการ ประกอบกับความกังวลที่ทำให้ร่างกายหลั่งสารเคมีบางชนิดออกมา มีโอกาสหัวใจเต้นผิดจังหวะ ความดันในเลือดสูง เพราะฉะนั้นคนที่จะไปฉีดต้องเตรียมตัว พักผ่อนให้เพียงพอ และวางความกังวล ใช้ชีวิตตามปกติ”

ศ.นพ.สมศักดิ์ ระบุต่อไปว่า คนที่เป็นที่มีโรคประจำตัว เป็นหลอดเลือดสมองอุดตันก็ยังควรไปฉีดวัคซีน เพราะคนที่มีอาการหลอดเลือดสมองอุดตัน จะมีภูมิคุ้มกันต่ำกว่าคนทั่วไป หากติดเชื้อโควิด-19 ก็จะมีอาการหนักและถึงขั้นเสียชีวิตได้ 

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS